xs
xsm
sm
md
lg

“ปฏิบัติการรุกฆาตเลิก MOU 2544” ทักษิณมาเขมรก็เจ๊ง ไม่มาก็หมา !

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

37 ปีก่อน กัมพูชาได้ประกาศขอบเขตไหล่ทวีปเมื่อปี พ.ศ. 2515 ซึ่งเป็นการขีดเส้นพื้นที่ทางทะเลตามอำเภอใจ เพราะมีการลากเส้นจากหลักเขตทางบกที่ 73 ของไทยและกัมพูชา ออกมาเป็นเส้นขอบเขตไหล่ทวีปผ่านเกาะกูดของไทยโดยไม่สนใจพื้นที่ทั้งตัวเกาะกูดและอาณาเขตรอบเกาะกูดอย่างน้อย 3 ไมล์ทะเล (ปัจจุบันอย่างน้อย 12 ไมล์ทะเล) นอกจากนี้ยังมีการกำหนดเส้นฐานในการลากขอบเขตไหล่ทวีปไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากลอีกด้วย

การลากเส้นไหล่ทวีป ในปี พ.ศ. 2515 ของกัมพูชาครั้งนั้น ไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติสากล เป็นการลากเส้นตามใจชอบและเอาแต่ได้เพื่อให้พื้นที่ทางทะเลมากที่สุดอย่างไม่มีเหตุผล

ต่อมาหลังจากนั้น 1 ปี พ.ศ. 2516 ประเทศไทยแสดงการไม่ยอมรับการลากเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชา โดยการประกาศเส้นไหล่ทวีปด้วยตัวเองเสียใหม่ โดยเส้นช่วงแรกลากออกมาจากหลักเขตทางบกที่ 73 ออกมาใช้แนว “แบ่งครึ่งมุม” ระหว่าง “เกาะกูดของไทย” กับ “เกาะกงของกัมพูชา” ส่วนที่เหลือเป็นเส้นแบ่งครึ่งทะเลระหว่างแนวเกาะของไทยกับ กัมพูชาโดยใช้หลักการของ “เส้นมัธยะ” (Equidistance line) ตามหลักสากล ซึ่งหมายความว่าเป็นเส้นที่ลากขึ้นซึ่งอยู่ตรงกลางจากการ “วัดระยะทางที่เท่ากัน” ระหว่างดินแดนไทยและดินแดนกัมพูชา

สรุปได้ว่าเขตไหล่ทวีปที่ประเทศไทยได้ประกาศในปี พ.ศ. 2516 นั้น มีหลักวิชาการรองรับและเป็นการปฏิบัติตามหลักสากล ฝ่ายไทยจึงได้ยึดถือเส้นขอบเขตของไหล่ทวีปนี้และมีกองทัพเรือคอยลาดตระเวนโดยตลอด โดยในทางปฏิบัติฝ่ายกัมพูชาไม่สามารถเข้ามารุกล้ำหาผลประโยชน์ในอธิปไตยของไทยได้

เขตไหล่ทวีปตามที่ประเทศไทยได้ประกาศในปี พ.ศ. 2516 นั้น ฝ่ายไทยก็ได้ยึดถือและให้สัมปทานขุดเจาะสำรวจพลังงานมาอย่างต่อเนื่องโดยที่ฝ่ายกัมพูชาก็ไม่เคยทักท้วงเป็นเวลา 36 ปี

18 มิถุนายน 2544 สมัยรัฐบาลทักษิณ ประเทศไทยได้ไปลงนามบันทึกความเข้าใจ 2544 หรือที่เรียกว่า “MOU 2544” ด้วยการยอมรับเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ลากขึ้นในปี 2515 และเรียกพื้นที่ที่เกิดขึ้นจากการประกาศเส้นขอบเขตไหล่ทวีปของทั้งสองประเทศว่า “พื้นที่ทับซ้อน” ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมถึง 24,600 ตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณ 15 ล้านไร่

นอกจากนั้น ในวันเดียวกัน 18 มิถุนายน 2544 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา กับนายฮุน เซน
เพื่อแสดงให้เห็นว่านายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศ ได้อนุมัติการลงนามใน MOU 2544 ฉบับดังกล่าวซ้ำไปอีกครั้งหนึ่งด้วย

การเริ่มต้นยอมรับเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ลากขึ้นในปี 2515 ซึ่งลากมาแบบเถื่อนๆว่าเป็นเส้นที่ถูกต้องและกลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนนั้น ย่อมหมายถึง “การกลัดกระดุมเม็ดแรกผิด” ที่จะทำให้เม็ดอื่นๆทั้งหมดผิดไปด้วย ทั้งในเรื่องอธิปไตยและเขตประมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลประโยชน์ทางพลังงานในอ่าวไทย

MOU 2544 ได้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือตั้งแต่ละติจูด 11 องศาเหนือขึ้นไปเป็นพื้นที่ที่กำหนดให้มีการแบ่งเขตทางทะเล และส่วนที่สองคือตั้งแต่ละติจูด 11 องศาเหนือลงมาคือพื้นที่ที่จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพัฒนาสรรผลประโยชน์ร่วมกันทั้งสองประเทศ ตามปรากฏในภาพที่ 1

พื้นที่ที่ละติจูดที่ 11 องศาเหนือลงมานั้นมีพื้นที่ประมาณ 16,000 ตารางกิโลเมตร มีแหล่งพลังงานมหาศาลรวมประมาณไม่ต่ำกว่า 5 ล้านล้านบาท ที่ไทยกับกัมพูชายินยอมที่จะมาแบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน
ภาพที่ 1 แสดงการแบ่งประโยชน์ทางเศรษฐกิจในพื้นที่ทางทะเลต่ำกว่าละติจูด 11 องศาเหนืองลงมา ตาม MOU 2544
“เส้นเขตไหล่ทวีป” จะวัดออกมาจากเส้นฐานของแต่ละประเทศไปจนถึงระดับน้ำทะเลลึก 200 เมตร แต่ในอ่าวไทยทั้งหมดมีระดับน้ำลึกเพียงแค่ 80 เมตร การเกิดพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชาจึงต้องเกิดขึ้น แต่ก็ไม่มีทางที่จะเหมือนกับพื้นที่ทับซ้อนซึ่งไปลงนามกันใน MOU 2544 และแถลงการณ์ร่วมฯ 2544 ซึ่งแท้ที่จริงแล้วหากปฏิบัติตามมาตรฐานสากลพื้นที่ทับซ้อนน้อยกว่านั้นมาก ดังปรากฏตามภาพที่ 2
ภาพที่ 2  ภาพพื้นที่ทับซ้อนไหล่ทวีปที่ควรจะเป็นระหว่างไทย-กัมพูชา
MOU 2544 และแถลงการณ์ร่วมฯ 2544 จึงถือเป็นผลประโยชน์อันมหาศาลที่รัฐบาลทักษิณได้มอบให้กับกัมพูชาอย่างที่ไม่เคยได้มาก่อน!

หลังจากการลงนามใน MOU 2544 และแถลงการณ์ร่วมฯ 2544 ไม่นาน ปตท.ก็แปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปลายปีเดียวกัน หลังจากนั้น ปตท.สผ.ก็ตามเข้าตลาดหลักทรัพย์เข้ามาอีก และปตท.สผ. ก็กลายเป็นตัวละครสำคัญในการขุดเจาะสำรวจแหล่งพลังงานในอ่าวไทยทั้งในฝั่งไทยและกัมพูชา

16 กุมภาพันธ์ 2547 มหาเศรษฐีห้างสรรพสินค้าแฮร์รอดส์ (Harrods) โมฮัมหมัด อัล ฟาเยด เพื่อนสนิทพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ขาย บริษัท แฮร์รอดส์ เอ็นเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) ให้กับบริษัท Pearl Energy Pte. Ltd. ที่มีฐานอยู่ในสิงคโปร์ และเปลี่ยนชื่อเป็น เพิร์ล ออย และเมื่อสืบสาวต้นทางจะพบกลุ่มทุนเทมาเส็กแห่งสิงคโปร์ถือหุ้นบริษัทดังกล่าวผ่านทาง Mubadala Development หลังจากที่ได้รับสิทธิสำรวจน้ำมันใน 4 แปลงขุดเจาะในอ่าวไทย คือ B2/38, B11/32, B11/38 และ B12/32. ห่างจากชายฝั่งระยอง 150 กิโลเมตร โดยมีศักยภาพในการขุดเจาะน้ำมันวันละ 8,000 บาร์เรล ซึ่งในการสำรวจขุดเจาะครั้งนั้น แฮรอดส์ เอ็นเนอร์ยี่ ถือหุ้น 50% ในการลงทุนสำรวจขณะที่ ปตท.สผ. ถือหุ้น 50%ที่เหลือ

ทุกวันนี้ เพิร์ล ออย ยังคงได้สัมปทานขุดเจาะน้ำมันอย่างต่อเนื่อง เช่น แปลง B 5/27 ที่แหล่งจัสมิน และ B12/32 ณ แหล่งบุษบงในอ่าวไทย เป็นต้น ส่งต่อน้ำมันดิบให้กับ ปตท.สผ. ภายใต้สัญญาซื้อ-ขาย 20 ปี เช่นเดียวกับเมื่อ 8 ธันวาคม 2549 เพิร์ล ออย ก็ได้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพิ่มในแปลง G10/48 บริเวณตอนใต้ของอ่าวไทย

2548บริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (PTTEPI) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ปตท. ได้ร่วมทุน 30% กับอีก 2 บริษัท คือ บริษัท Resourceful Petroleum Ltd. และ SPC Cambodia Ltd. อีก 10% เป็นของ CE Cambodia B Ltd. ได้รับสัมปทานขุดเจาะแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในกัมพูชา แต่ยังมีพื้นที่แหล่งนี้ที่กัมพูชาเรียกว่า “บล็อก B” และ ปตท.สผ. ตั้งรหัสว่าโครงการจี 9/43 มีการพบเบื้องต้นว่ามีน้ำมันและก๊าซจำนวนมาก ซึ่งน่าจะเป็นพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างไทย-กัมพูชา

ไม่มีใครสามารถตอบได้ว่าบริษัทเหล่านี้แท้ที่จริงแล้วทำงานหรือถือหุ้นแทนนักการเมืองไทยคนใดหรือไม่? แต่ต้องไม่ลืมว่า นักโทษชายทักษิณ คือเพื่อนสนิทของ โมฮัมหมัด อัล ฟาเยด ที่เคยชวนกันไปเตรียมลงทุน เอ็นเตอร์เทนเมนท์ คอมเพล็กซ์ และพลังงาน ด้วยการสัมปทาน “เกาะกง” ด้วยความฝันในอนาคตที่วาดกันไว้บนพื้นฐานของแหล่งพลังงานในอ่าวไทยที่จะเอื้อประโยชน์ให้กัมพูชา

การที่รัฐบาลประกาศยกเลิก MOU 2544 ครั้งนี้ จึงถือเป็นการสั่งสอน นายฮุน เซน และ นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร เหมือนกับปฏิบัติการยิงธนูทะลุกลางใจจนต้องแทบกระอักเลือด

ฝ่ายกัมพูชา โดยนายฮุน เซน เท่ากับถูกฝ่ายไทยยกเลิกข้อตกลงที่ทำให้ฝ่ายกัมพูชาได้เปรียบมาตั้งแต่ปี 2544 เพราะ MOU 2544 ซึ่งจะนำไปสู่การเจรจาแบ่งผลประโยชน์ในอนาคตทางพลังงานอย่างมหาศาล

ฝ่ายนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งได้เคยประกาศเตรียมตัวไปลงทุนเกาะกง เพื่อสร้างเอ็นเตอร์เทนเมนท์ คอมเพล็กซ์ และลงทุนทางด้านพลังงานในฝั่งกัมพูชา แต่ถ้าฝ่ายไทยตกลงกันไม่ได้เรื่องผลประโยชน์ทางพลังงานที่จะเอื้อให้กับกัมพูชา การลงทุนสัมปทานในเกาะกงก็คงเป็นเรื่องที่ไม่คุ้มค่าในการลงทุน อย่างที่เคยตั้งใจเอาไว้

ยิ่งกระแสข่าวลือหนาหูว่าการหนุนนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร แบบสุดตัวครั้งนี้ของกัมพูชา เพราะฮุน เซน ต้องการเรียกให้มาเริ่มลงทุนในเกาะกงตามสัญญา มิฉะนั้นเกาะแห่งนี้อาจต้องถูกยกเลิกสัมปทานแล้วเอาไปให้คนอื่น ก็พอคาดการณ์ได้ว่าการยกเลิก MOU 2544 ครั้งนี้มันสะเทือนกระเป๋านายฮุน เซน มากขนาดไหน?

ฮุน เซน นั้นเป็นคนที่เก็บอาการไม่อยู่ มองผลประโยชน์ตัวเองเป็นที่ตั้ง กลัวปิดด่านเพราะเสียผลประโยชน์จากบ่อนคาสิโน กลัวยกเลิก MOU 2544 ก็เพราะความโลภห่วงกระเป๋าเงินของตัวเองทั้งสิ้น

ในขณะที่นักโทษชายทักษิณ หากไม่ไปกัมพูชานอกจากจะเสียคนกับเขมรแล้วก็อาจจะสูญเสีย “เกาะกง”ฐานที่มั่นสุดท้ายที่ติดชายแดนไทยอีกด้วย แต่ถ้าจะไปกัมพูชาก็คงจะต้องคิดหนัก เพราะไม่รู้ว่าไปครั้งนี้จะโดนรีดไถจากนายฮุน เซนในภาวะที่หน้ามืดตามัวมากน้อยแค่ไหน? จะออกจากกัมพูชาได้หรือไม่? และจะถูกตามไล่ฆ่าจากอริเดิมที่เคยอยู่เมืองไทยแต่ต้องหนีไปอยู่ที่กัมพูชาหรือไม่? และจะถูกนายฮุน เซนหักหลังส่งตัวกลับไทยหรือไม่?

โดยเฉพาะในยามที่ นายฮุน เซน กำลังต้องการหาอะไรบางอย่าง เพื่อไปแลกอะไรบางอย่างกับประเทศไทย เพื่อให้ได้ผลประโยชน์กลับคืนมาให้ได้ ตามประสาคนโลภ!

และในที่สุดนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ไม่มีทางเลือก จึงได้เดินทางไปที่เกาะกงเพื่อเดินเกมปิดให้เร็วที่สุดในการเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐบาลเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2552

ไหนๆ นักโทษชายทักษิณ ชินวัตรพูดก็ให้สัมภาษณ์นิตยสารไทมส์ออนไลน์ จาบจ้วงพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่ไม่เคยนึกว่าจะมีคนไทยคนไหนบังอาจได้ถึงเพียงนี้

ไหนๆนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งย่ำยีหนีศาลซึ่งกระทำในพระปรมาภิไธยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งราชอาณาจักรไทย มาเป็นที่ปรึกษาของกัมพูชาในพระบรมราชโองการของกษัตริย์ราชอาณาจักรกัมพูชาอยู่แล้ว...


ผู้สนับสนุนนักโทษชายทักษิณ ก็ควรจะเชียร์ให้นักโทษชายทักษิณ อยู่รับใช้เป็นขี้ข้าเขมรนานๆ เพื่อชดใช้กรรมที่ตัวเองได้ก่อขึ้น

เพราะถ้านักโทษชายทักษิณมาเป็นขี้ข้าในดินแดนเขมรเมื่อไร ความสามัคคีของคนไทยจะเกิดขึ้นมาในชาติอีกครั้งหนึ่งอย่างแน่นอน เพราะประชาชนแห่งราชอาณาจักรไทยจะได้รู้ธาตุแท้ว่า ใครเป็นคนทรยศชาติ และใครเป็นคนขายชาติที่แท้จริง !
กำลังโหลดความคิดเห็น