จับตา อย.เปลี่ยนระบบบริหารจัดซื้อยาใหม่ไม่กำหนดสเปก หวั่นส่งผลคุณภาพยา ขณะที่เลขาฯ อย.ระบุเริ่มปรับลดสัดส่วนการจัดซื้อยาต้นตำรับ-ยาสามัญ หวังเพิ่มการเข้าถึงยา พร้อมเดินหน้าประกาศขึ้นทะเบียนยาสามัญไม่ต้องศึกษาชีวสมมูลซ้ำให้ทันในสิ้นปี 2552 นี้
ผศ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้ทราบมาว่าอย.มีการเปลี่ยนแปลงระบบในการบริหารสั่งซื้อยาในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทใหม่ ซึ่งอย.เป็นผู้จัดจำหน่ายให้กับสถานพยาบาลต่างๆ ทำให้มีปัญหาจัดซื้อล่าช้า ยาขาดตลาด ที่น่าเป็นห่วงคือ ระบบใหม่ไม่มีการกำหนดสเปกยาที่จัดซื้อ จากเดิมที่ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทก่อน ก็ยกเลิกทั้งหมด ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพของยาได้ และการใช้ยาเพราะไม่มีการกำหนดข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน
“ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ที่ต้องใช้ยาต่อเนื่อง หากขาดยาจะเกิดผลเสียต่อการรักษา โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคมะเร็งอาจทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งการบริหารยาไม่ให้ขาดเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ นอกจากนี้ ทราบมาว่าไม่ได้ขาดแต่ยารักษาโรคสมาธิสั้นเท่านั้น แต่โรงพยาบาลใหญ่ๆ หลายแห่งก็ขาดยาแก้ปวดเฟนตานิล ที่ใช้บรรเทาอาการปวดจากโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นปัญหาหนักมากในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา แม้ว่าขณะนี้สถานการณฺ์จะดีขึ้นแต่โรงพยาบาลในภาคใต้อาจจะยังมีปัญหาขาดแคลนอยู่ก็เป็นได้ และหากไม่มีการแก้ไขปัญหาในลักษณะนี้อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต ”ผศ.ดร.นิยดากล่าว
ด้าน นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย.ปรับเกรฑ์การซื้อยาที่มีคุณภาพ ราคาเหมาะสม โดยพยายามปรับสัดส่วนการการจัดซื้อยาต้นแบบกับยาสามัญ เนื่องจากยาสามัญมีราคาถูกกว่ามากแต่มีคุณภาพไม่แตกต่างกัน ทั้งนี้ สาเหตุที่คนส่วนหนึ่งซื้อยาต้นตำรับมาใช้เพราะติดกับยี่ห้อ ประกอบกับบริษัทยาต้นตำรับมีชั้นเชิงสูงในการจูงใจ ดังนั้นจากเดิมที่อย.ใช้สัดส่วนในการสั่งซื้อยาต้นตำรับต่อยาสามัญอยู่ที่ 80 : 20 จะค่อยๆ ลดลงมาเรื่อยๆ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาสามัญได้มากขึ้น ซึ่งอย.จะต้องเป็นผู้รักษาสมดุลของยาทั้ง 2 ประเภท
“ส่วนการที่ อย.ยกเลิกการระบุสเปกของยาในการจัดซื้อยา เพราะการมีสเปกเท่ากับเป็นการสร้างเงื่อนไขในที่สุดก็เหลือผู้จำหน่ายเพียงรายเดียว ซึ่งจะทำให้ยามีราคาสูง การปลดล็อกจะเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันกันมากขึ้น ไม่เป็นการผูกขาดเพียงรายเดียว ซึ่งหน้าที่ของ อย.คือ การจัดหายาที่มีคุณภาพ ราคาไม่แพง เข้าถึงยามากขึ้นเป็นหลักการของ อย.ที่จะต้องสร้างความเข้าใจกับผู้ใช้ยาและส่งเสริมยาที่มีคุณภาพ ราคาสมเหตุสมผล” นพ.พิพัฒน์กล่าว
นพ.พิพัฒน์ กล่าวต่อว่า จากการดำเนินการที่ผ่านมาพบว่าสามารถลดราคาลงจากราคาเดิมได้ 30-40% เช่น ยาแก้ปวดเฟนตานิล ชนิดแผ่นแปะผิวหนัง ที่ใช้ช่วยบรรเทาอาการปวดในผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือยาเมทิลเฟนิเดต ที่ใช้รักษาโรคสมาธิสั้น ซึ่งเป็นยาสามัญมีประสิทธิภาพทางการรักษาและมีความปลอดภัยเทียบเท่ายาต้นแบบ นอกจากนี้ อย.อยู่ระหว่างพิจารณาร่างประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเรื่อง การขึ้นทะเบียนยาสามัญ การศึกษาชีวสมมูลของยาสามัญ พ.ศ. ... ซึ่งจะช่วยให้การขึ้นทะเบียนยาสะดวกรวดเร็วขึ้น โดยจะนำข้อมูลที่นักวิชาการแสดงความวิตกกังวลมาปรับแก้ให้เกิดความเหมาะสมและเกิดประโยชนืกับประเทสชาติให้มากที่สุด อย่างไรก็ตามยืนยันที่จะเดินหน้าเรื่องนี้อย่างแน่นอนและจะดำเนินการให้เร็วที่สุดสามารถประกาศใช้ได้ภายในปี 2552 นี้