“วิทยา” ท้อคนไทยไม่ชอบอ่านหนังสือ เมินคู่มือป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ขณะที่หมอพอกันมีแค่ 10% อ่านคู่มือแนวทางการรักษาโรค สั่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เน้นบอกการป้องกันโรคที่ถูกต้องแบบต่อปากต่อปาก ช่วยชะลอการระบาด ด้านนักวิชาการด้านยาหวั่นให้คลินิกจ่ายยาหวัด2009 ดื้อยาหนัก เตือน จี้ สธ.ให้ติดตามกลไกการใช้ยาอย่างรัดกุมป้องกันการดื้อยา ขณะที่ “หมอประเสริฐ” เผย คณะอนุกรรมการ มีมติให้ สธ.ตั้งคณะคณะกรรมการวิจัย 4 เรื่อง วิจัยเชื้อไวรัส-ป้องกันโรค-รักษาโรค-การสื่อสาร
นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการเพื่อการพัฒนาเวชกรรมสังคม ซึ่งมี แพทย์ พยาบาล นักวิชาการ ที่ปฏิบัติงานด้านเวชกรรมสังคมในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ร่วมงานกว่า 300 คน โดย นายวิทยา กล่าวว่า สถานการณ์ระบาดโรคไข้หวัดใหญ่ เป็นสิ่งที่ท้าทายงานเวชกรรมสังคม ซึ่งขณะนี้โรคดังกล่าวได้แพร่ระบาดไปทั่วประเทศแล้ว แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังอยู่ในเขตเมือง เทศบาล ซึ่งหากประชาชนมีความรู้เกี่ยวกับการป้องกันตนเองก็จะปลอดภัยไม่ติดเชื้อ
“ที่ผ่านมา สธ.แจกคู่มือป้องกันโรคให้กับประชาชน แต่พบว่า เมื่อได้รับแจกแล้วกลับไม่ยอมอ่าน จึงทำให้ไม่มีความรู้วิธีป้องกันโรคที่ถูกต้อง เช่นเดียวกับแพทย์ที่รับคู่มือแนวทางการรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ไปแล้วก็ไม่ยอมอ่านให้เข้าใจ โดยมีแพทย์อ่านเพียง ร้อยละ 10 ซึ่งตามธรรมชาติของคนไทย ชอบที่จะให้มีการสื่อสารแบบปากต่อปากมากกว่าการอ่านด้วยตนเอง จึงขอฝากให้เจ้าหน้าที่เวชกรรมสังคม ซึ่งต้องลงพื้นที่พบประชาชนเป็นประจำอยู่แล้ว ให้ช่วยบอกต่อเล่าถึงแนวทางป้องกันโรคให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบอย่างทั่วถึง ซึ่งช่วยชะลอการระบาดลงได้มาก” นายวิทยา กล่าว
**อภ.เตรียมประชุมผลิตยาต้านไวรัสขนาดสำหรับเด็ก
นายมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า ได้หารือกับ นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผอ.องค์การเภสัชกรรม เรื่องการผลิตยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์สูตรน้ำสำหรับเด็ก ว่า อภ.จะสามารถผลิตได้หรือไม่ เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการให้ยาต้านไวรัสสำหรับเด็ก เพราะขณะนี้มียาเพียงขนาดเดียวชนิดแคปซูล 75 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นขนาดสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักเกิน 40 กิโลกรัม หากน้ำหนักน้อยกว่านี้ จะต้องแบ่งยาให้ได้ปริมาณที่เหมาะสม ทำให้ยุ่งยากและอาจทำให้เด็กได้รับปริมาณยาที่ไม่แน่นอน ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกันวันที่ 5 ส.ค.เวลา 14.00 น.ที่องค์การเภสัชกรรม ทั้งนี้ การผลิตยาขนาดสำหรับเด็กกลางอาจสามารถทำแบบแคปซูลได้ทันที ซึ่ง อภ.จะรับหน้าที่ดำเนินการผลิทันที คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์
นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า อภ.จะเตรียมผลิตยาโอเซลทามิเวียร์ สำหรับเด็กโดยจะผลิตเป็นชนิดแคปซูลแต่ลดปริมาณยาลง โดยออกเป็นขนาดกลางและขนาดเล็ก เพื่อให้ง่ายสำหรับเด็กรับประทาน สามารถแกะแคปซูลผสมน้ำเชื่อมละลายให้เด็กรัปประทานได้ทันที แต่จะไม่ผลิตชนิดน้ำเพราะยาไม่คงตัวเหมือนแคปซูล
**คลินิกชุมชนอบอุ่น ยันสามารถรักษาได้แม้ยังไม่เข้าร่วมโครงการ
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 13 กล่าวว่า คลินิกชุนอบอุ่น ที่อยู่ในความดูแลของ สปสช.ที่มีจำนวน 150 แห่ง ซึ่งเป็นคลินิกรักษาโรคทั่วไปทั้งหมด มีบางส่วนเข้าโครงการกระจายยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่และรับยาไปแล้ว แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่ามีจำนวนคลินิกที่เข้าร่วมประมาณเท่าไหร่ เพราะมีการจัดอบรมทั้งของ สธ.และ กทม.ซึ่งจะมีการแพทย์ประจำคลินิกอีกครั้ง ทั้งนี้ ยืนยันว่า คลินิกชุมชนอบอุ่นสามารถให้การรักษาผู้ป่วยได้แม้จะไม่ได้เข้าร่วมโครงการกระจายยาฯก็ตามและหากเป็นผู้ป่วยหนักก็สามารถส่งต่อผู้ป่วยได้
**นักวิชาการหวั่นดื้อยาหวัด 2009 จี้ สธ.ติดตามกลไกรัดกุม
วันเดียวกันที่โรงแรมทวินทาวเวอร์ ผศ.ภญ.สำลี ใจดี ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวในการประชุมวิชาการเพื่อพัฒนาระบบยาประจำปี 2552 ว่า 2 สัปดาห์ทีผ่านมา สธ.ให้คลินิก 150 แห่ง ที่ จ.ราชบุรี จ่ายยาโอเซลทามิเวียร์ได้ ซึ่งเป็นการผลักภาระเรื่องยาให้แก่แพทย์ ทั้งๆ ที่แพทย์ต้องใช้เวลามากในการตรวจวินิจฉัยโรคให้รอบคอบ อีกทั้งการปรุงยาชนิดน้ำแบบฉุกเฉินสำหรับเด็กนั้นต้องปรุงยาโดยเภสัชกรในโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น ดังนั้น ในผู้ป่วยเด็กจะต้องรีบส่งต่อไปยังโรงพยาบาลโดยด่วน อย่าสร้างปัญหาเชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้น
“ห่วงว่า ประเทศไทยเป็นประเทศดื้อยาต้นๆของโลกจากการใช้ยาที่ไม่รัดกุม อย่างไรก็ตามการกระจายยาดังกล่าวลงระดับคลินิกให้แพทย์ดูแลและสั่งจ่ายยาให้ผู้ป่วยได้นั้น เป็นความหวังดี แต่ขาดความเท่าทันเรื่องการดื้อยา เหมือนมีดาบสั้นแต่เราก็จะหักมันทิ้ง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มาก จำเป็นต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ หรืออาจเรียกว่าเจตนาดี แต่เมื่อถึงมือผู้ป่วยก็ต้องระมัดระวังและมีมาตรการที่รัดกุมในการใช้ยา เพื่อป้องกันการดื้อยาในอนาคต นอกจากนี้บางครั้งการกระจายยาไปรวดเร็วไป โดยไม่จำเป็น อาจไปไม่ถึงมือผู้ที่จำเป็นกว่า”ผศ.ภญ.สำลี กล่าว
เมื่อเวลา 17.00 น.ที่กรมควบคุมโรค ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาวิชาการและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมมีมติให้ สธ. ตั้งคณะกรรมการวิจัยในด้านต่างๆ 4 เรื่อง ได้แก่ 1.วิทยาศาสตร์พื้นฐาน เพื่อศึกษาเกี่ยวกับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เฝ้าระวังเชื้อกลายพันธุ์ และศึกษากลไกสร้างภูมิคุ้มกัน กลไกตอบสนองต่อเชื้อ รวมถึงศึกษาพยาธิสภาพของเชื้อในผู้ป่วย เพื่อนำมาพัฒนาในการวางแผน รับมือภาวะระบาดในรูปแบบต่างๆ 2.วิจัยด้านการป้องกันโรค เช่น ศึกษาแนวทางใช้ยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันโรค เป็นต้น 3.วิจัยด้านการรักษาโรค พัฒนาชุดทดสอบ ศึกษาปัจจัยเสี่ยง การพัฒนายาต้านไวรัส เป็นต้น และ 4.การวิจัยด้านการสื่อสารความเสี่ยง ให้ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมมีส่วนรวมในการให้ข้อมูล ผลกระทบการให้ข่าวที่คลาดเคลื่อน ทั้งจากนักการเมือง ผู้บริหาร และนักวิชาการ เป็นต้น
**เตือนให้คำแนะนำการใช้ยาสำหรับผู้ป่วย
ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้จัดการ กพย.กล่าวว่า มีความเป็นห่วงเรื่องระบบติดตามการจ่ายยายาโอเซลทามิเวียร์ที่รักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่มีการกระจายยาในระดับคลินิกว่า จะมีประสิทธิภาพเพียงใด ประชาชนไม่แห่ไปขอรับยาต้านไวรัสดังกล่าวจนทำให้เกิดการดื้อยาหรือไม่ ทั้งนี้ สธ.ควรมีการส่งข้อมูลในการเรื่องการเก็บรักษาและรับประทานยาให้ประชาชนทราบ เพราะยาดังกล่าวเป็นยาควบคุมพิเศษต้องจ่ายในสถานพยาบาลเท่านั้น ซึ่งขณะนี้สธ.ได้จัดทำคำแนะนำสำหรับแพทย์ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยในโรคดังกล่าว แต่กลับไม่มีคำแนะนำสำหรับผู้ป่วยในการใช้ยาดังกล่าว
“ขอส่งสัญญาณให้ประชาชนทราบว่า ยาโอเซลทามิเวียร์ชนิดน้ำ สำหรับเด็กจะต้องบรรจุในขวดแก้วสีชา และที่สำคัญยานี้ผสมอยู่ในน้ำเชื่อมอาจตกตะกอนได้ จึงจำเป็นต้องเขย่าขวดก่อนรินยาทุกครั้ง และผู้ปกครองไม่ควรนำยาดังกล่าวผสมกับนมให้เด็กดื่ม เพราะยานี้จับกับแคลเซียมจะทำให้ตกตะกอนอยู่ก้นขวดนมยิ่งขึ้น เด็กจะได้ยาไม่ครบตามปริมาณที่ใช้ในการรักษา ทำให้ไม่หายได้”ผศ.ภญ.ดร.นิยดา กล่าว
**แนะรับประทานยาเคร่งครัด 5 วันติดต่อกัน
ผศ.ภญ.ดร.นิยดา กล่าวอีกว่า ในการรับประทานยานั้นต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด คือ วันละ 2 ครั้งเช้าเย็น เป็นเวลา 5 วันติดต่อกัน ต้องรับประทานจนยาหมด หากไม่ทานตามนี้โอกาสในการดื้อยาสูงมาก เปรียบเทียบคล้ายกับการทานยาต้านไวรัสเอดส์เพราะเป็นยาต้านไวรัสเช่นกันที่ต้องเข้มงวดมาก ซึ่งยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่2009 โอเซลทามิเวียร์ หากกินไม่ครบหรือไม่ตรงเวลาตามข้อปฏิบัติก็ทำให้ดื้อยาและต้องเปลี่ยนสูตรยาใหม่ที่มีราคาแพงมากมาใช้ นอกจากนี้ ชนิดแคปซูลสำหรับผู้ใหญ่ก็ต้องเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 15-25 องศาเซลเซียส หรือก็บในตู้เย็นเหมือนยาน้ำ อย่าเผลอเรอทิ้งไว้จะทำให้ยาเสื่อมประสิทธิภาพ