xs
xsm
sm
md
lg

ชี้หวัดตามฤดูกาลดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ 60-70 เปอร์เซ็นต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หมอศิริราช เผย ใช้ยา “ซานามิเวียร์” ร่วม “โอเซลทามิเวียร์” รักษาผู้ป่วยอาการหนัก ปอดบวม-ระบบหายใจล้มเหลวก่อนรอผลแล็บ หวั่นผู้ป่วยติดเชื้อสายพันธุ์เก่าที่ดื้อยากว่า 90% ระบุ จ่ายยามากอาจไม่ใช่ปัจจัยหลักเชื้อหวัด 2009 ดื้อยา

ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และประธานคณะอนุกรรมการสาขาโรคติดเชื้อ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่พบรายงานไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ดื้อยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ การที่โรงพยาบาลศิริราช ขอสนับสนุนยาซานามิเวียร์จากกรมควบคุมโรค เนื่องจากแนวทางการรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการรุนแรง ปอดบวม ระบบหายใจล้มเหลว มีออกซิเจนในเลือดต่ำของโรงพยาบาลศิริราช แพทย์จะพิจารณาให้โอเซลทามิเวียร์ควบคู่กับซานามิเวียร์ทันที ซึ่งทั่วประเทศคาดว่ามีผู้ป่วยอาการรุนแรงไม่เกิน 100 ราย คุ้มที่จะลงทุนช่วยชีวิตผู้ป่วย จึงอยากแนะนำให้แพทย์ใช้แนวทางการักษาเช่นนี้กับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงด้วย

“การที่ต้องให้โอเซลทามิเวียร์ควบคู่กับซานามิเวียร์ทันทีในผู้ป่วยเป็นไข้ และมีอาการรุนแรงเพราะแพทย์ที่ทำการรักษาไม่มีทางรู้ว่าผู้ป่วยติดเชื้อสายพันธุ์เก่าที่ดื้อยาหรือสายพันธุ์ใหม่ หากรอผลตรวจจากห้องแล็บอาจช้าเกินไป แต่ถ้าผลแล็บออกมาภายหลังว่าเป็นเชื้อสายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่ยังไม่มีรายงานการดื้อยา จึงจะให้เพียงยาโอเซลทามิเวียร์ และยังไม่มีรายงานว่า การให้ยาควบคู่เช่นนี้ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย แพทย์จำเป็นต้องคำนึงถึงแนวทางการรักษาที่ดีที่สุดที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วยให้รอดหากรู้ว่าการรักษาวิธีนี้แล้วใน 1-2 วันข้างหน้าผู้ป่วยจะอาการดีขึ้น ก็ต้องเลือกที่จะทำ”ศ.นพ.อมร กล่าว

ศ.นพ.อมร กล่าวต่อว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ตามฤดูกาลของปี 2008 เป็นเชื้อไวรัสเอช1เอ็น1 เช่นเดียวกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 แต่เป็นคนละสายพันธุ์ มีรายงานเชื้อดื้อยาโอเซลทามิเวียร์จำนวนมาก อาทิ ในประเทศเดนมาร์ก ดื้อยาถึง 67% ทั้งที่ไม่มีการให้ยาโอเซลทามิเวียร์ ประเทศแอฟริกา ดื้อยา 50-60% ประเทศไทยการรายงานในช่วง ม.ค.-มี.ค.2552 พบดื้อยากว่า 90% ซึ่งการดื้อยาของไวรัสสายพันธุ์เก่าในทั่วโลกเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากเพียง 1 ปี จากที่ปี 2007 ยังไม่มีรายงานการดื้อยา แต่ปีต่อมากลับพบการดื้อยาในอัตราที่ค่อนข้างสูงและเชื้อที่ดื้อยานี้สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ขณะที่เชื้อดื้อยาจากการกินยาพบเพียง 0.4-4% ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในเด็กและเชื้อไวรัสที่ดื้อยาจะหายไปเอง

แพทย์ระบุจ่ายยามากอาจไม่ใช่ปัจจัยหลักเชื้อหวัด 2009ดื้อยา
ศ.นพ.อมร กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ดื้อยา น่าจะเกิดเพราะ 2 ประเด็น ได้แก่ 1.เชื้อไวรัสมีการพัฒนาตนเองจนเชื้อดื้อยา อาจใช้เวลา 6 เดือน หรือ 1-2 ปี และ2.เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ 2009 ผสมกับเชื้อไวรัส เอช1เอ็น1 2008 ที่ดื้อยาในอัตราสูงแล้วเกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ แต่การผสมระหว่าง 2 สายพันธุ์นี้ ความดุร้ายของเชื้อไม่น่าจะเพิ่มขึ้นเพราะเชื้อไวรัส 2009 มีความรุนแรงน้อย เว้นแต่จะมีการกลายพันธุ์อีกครั้งโดยการผสมกับเชื้อไวรัสไข้หวัดนก เอช5เอ็น1 ที่มีความรุนแรงของโรคค่อนข้างสูงซึ่งน่าห่วงมาก

“การที่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จะดื้อยาน่าจะเกิดขึ้นเพราะตัวของมันเอง ไม่เกี่ยวกับการให้ยา การกระจายกินยาโอเซลทามิเวียร์จำนวนมากๆ ให้กับผู้ป่วย อาจไม่ใช่ปัจจัยเสริมหลักที่ทำให้เชื้อไวรัสดื้อยา เพราะเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เดิมที่มีการดื้อยา ก็ปรากฏชัดว่า ในกรณีที่ไม่มีการใช้ยาโอเซลทามิเวียร์ เชื้อไวรัสก็ดื้อยา ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะต้องเฝ้าระวังเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด หากพบเชื้อดื้อยาเพียง 2-3 ราย แต่ไม่ได้เกิดขึ้นในพื้นที่เดียวกัน แสดงว่า เชื้อดื้อยาแพร่กระจายไปมากแล้ว”ศ.นพ.อมร กล่าว

ศ.นพ.อมร กล่าวอีกว่า ในฐานะแพทย์อยากขอร้องญาติผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ให้อนุญาตให้คณะแพทย์ทำการผ่าพิสูจน์ศพศึกษาข้อมูล จะทำให้วงการแพทย์ไทยได้รับองค์ความรู้เพิ่มขึ้น อาทิ ผู้เสียชีวิตมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำหรือไม่ หรือไวรัสชนิดนี้ทำลายปอดรุนแรงขนาดไหน ซึ่งหากได้ผ่าพิสูจน์ศพผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ 4-5 ราย จะทำให้ได้ข้อมูลหนักแน่นขึ้น แพทย์ไทยเก่งขึ้น และนำมาใช้ในการช่วยเหลือคนไทยทั้งประเทศต่อไป

ชี้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลในไทยดื้อยาโอเซลทามิเวียร์แล้ว 60-70%
ดร.วัฒนา อู่วาณิชย์
เจ้าหน้าที่สำนักวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า อัตราการดื้อยาของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เดิมของปี 2008 ที่มีการเฝ้าติดตามอยู่นั้น ขณะนี้พบว่ามีอัตราการดื้อยาโอเซลทามิเวียร์สูง ในไทยพบแล้วประมาณ 60-70% ของผู้ป่วยทั้งหมด ซึ่งประเทศอื่นๆ ก็แนวโน้มเช่นเดียวกันกับประเทศไทยเหมือนกัน โดยในสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นมีอัตราการดื้อยาสูงมากถึง 90% ของผู้ป่วยทั้งหมด

“ทั่วโลกได้ใช้ยาโอเซลทามิเวียร์มาตั้งแต่ 7-8 ปีก่อน ซึ่งอัตราการดื้อยาจะเกิดขึ้นเมื่อมีการใช้ยาประมาณ 5-6 ปี ซึ่งยาดังกล่าวก็ใช้มานานเกินแล้วก็ถือว่าเป็นปกติที่จะเกิดการดื้อยาได้ ซึ่งหากเกิดการดื้อยามากๆ ก็ทำให้ต้องเปลี่ยนยารักษาโรคไข้หวัดใหญ่ไปเรื่อยๆ ซึ่งขณะนี้ใช้ยาซานามิเวียร์ ซึ่งเป็นยาที่นิยมใช้หากเกิดการดื้อยาซานามิเวียร์”ดร.วัฒนา กล่าว

ดร.วัฒนา กล่าวอีกว่า ในส่วนของไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เอช1เอ็น1 ขณะนี้ที่มีการเฝ้าระวังไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จากผู้ป่วยที่มีอาการหนักและในรายที่เสียชีวิตในไทยกว่า 30 ราย นำตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการพบว่า ยังไม่มีการดื้อยาโอเซลทามิเวียร์แต่อย่างใด ขณะเดียวกัน ก็ยังพบว่า เชื้อในผู้ป่วยที่นำมาตรวจวิเคราะห์นั้น ยังเป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 อย่างเดียว ยังไม่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเป็นสายพันธุ์ 2008 ที่มีการดื้อยาแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น