xs
xsm
sm
md
lg

แฉ! มีล็อบบี้จ่าย “ทามิฟลู” ให้คลินิก นักวิชาการหวั่นเชื้อดื้อยาพาตายเกลื่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยาโอเซลทามิเวียร์
ทีมที่ปรึกษาวิชาการสุดอึดอัด ถูกกดดัน ต้องเห็นชอบหลักการให้คลินิกจ่ายยาโอเซลทามิเวียร์ แต่ยังไม่รับรองเป็นมติ ชี้คลินิกต้องผ่านเกณฑ์ 4 ข้อ นักวิชาการเคืองถูกการเมืองล็อบบี้ นำร่องคลินิกจ่ายยาบางพื้นที่แล้ว มาขอความเห็นผู้เชี่ยวชาญเท่ากับกดดันให้เห็นชอบ ยัน ส่วนใหญ่ค้าน หวั่นเชื้อดื้อยาระบาดใหญ่ครั้งหน้าตายกันเกลื่อนเมือง

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาวิชาการและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข โรคไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ เอช1เอ็น1 กล่าวภายหลังการประชุมนักวิชาการว่า คณะอนุกรรมการเห็นด้วยที่จะให้คลินิกเอกชนมีการสำรองยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ เพื่อจ่ายยาให้กับผู้ป่วยที่เข้ารับการตรวจรักษาและสงสัยว่าจะติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เพียงแต่การดำเนินการของคลินิกต่างจะต้องกระทำภายใต้หลักเกณฑ์ที่คณะอนุกรรมการกำหนดไว้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมของคณะอนุกรรมการในครั้งนี้ ไม่มีการแถลงข่าวภายหลังการประชุมโดยให้เหตุผลว่าประธานคณะอนุกรรมการป่วย มีอาการไอ ขณะที่นักวิชาการท่านอื่นที่เข้าร่วมประชุม ไม่มีใครยอมให้ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์แต่อย่างใด

รายงานข่าวแจ้งว่า การประชุมในครั้งนี้มีนักวิชาการบางท่านไม่พอใจที่ฝ่ายบริหาร มีการให้ข่าวก่อน ว่าได้มีการนำร่องให้คลินิกจ่ายยาโอเซลทามิเวียร์กับผู้ป่วยแล้วในบางพื้นที่ เนื่องจากเห็นว่าเมื่อมีแนวทางเช่นนั้นแล้วจะขอความเห็นจากนักวิชาการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทำไม เหมือนเป็นการกดดันให้มีมติเป็นไปตามแนวทางที่มีการตั้งธงไว้ล่วงหน้า อย่างไรก็ตาม ความเห็นของคณะอนุกรรมการที่ออกมา ยังไม่ถือเป็นมติที่คณะอนุกรรมการให้การรับรอง แต่เป็นแนวทางเพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขนำไปใช้ก่อน โดยคณะอนุกรรมการจะมีการลงมติเห็นชอบในการประชุมครั้งต่อไป ซึ่งเชื่อว่า จะไม่มีการปรับแก้ในหลักการหลักของแนวทางที่มอบให้ สธ.ไป ทั้งนี้ จะมีการให้รายละเอียดเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ของคลินิกที่จะได้รับอนุญาตให้มีการจ่ายยา ในการแถลงข่าวประจำสัปดาห์วันพุธที่ 29 ก.ค.นี้

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือ องค์การอนามัยโลกไวรัสสัตว์สู่คน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้มีการเชิญนักวิชาการเข้าหารือเกี่ยวกับการให้คลินิกเอกชนจ่ายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ให้กับผู้ป่วย เพื่อแก้ปัญหาผู้ป่วยได้รับยาช้าทำให้เสียชีวิต ซึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า การกระจายยาลักษณะนี้ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ การจะกระจายยาในลักษณะเช่นนี้ได้คลินิกจะต้องผ่านเกณฑ์หลักๆ 4 ข้อ คือ 1.มีความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับโรคนี้ 2.แพทย์ในคลินิกจะต้องสามารถให้คำแนะนำกับผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ทำงานเป็นกะทำให้ไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้ตลอดเวลาเช่นในโรงพยาบาล เนื่องจากการรักษาโรคนี้จำเป็นต้องติดตามผู้ป่วยสม่ำเสมอ และให้คำแนะนำหากมีอาการรุนแรงขึ้นให้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล 3.คลินิกต้องมีความสามารถในการแยกผู้ป่วยไข้หวัดและผู้ป่วยที่ไม่ใช่ผู้ป่วยไข้หวัด และ 4.ต้องมีระบบการรายงานข้อมูลผู้ป่วยให้กับกระทรวงสาธารณสุขอย่างชัดเจน ซึ่งคลินิกในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามเกณฑ์ดังกล่าว

“สาเหตุที่จะต้องกระจายยาให้กับคลินิก เป็นเพราะนักการเมืองอยากได้คะแนนเสียง เพราะคิดว่าการให้ยากับผู้ป่วยเร็วที่สุด จะลดอัตราการเสียชีวิตได้ ทั้งที่ผู้ป่วยไข้หวัดที่มาพบแพทย์ไม่ได้ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทุกราย อาจเกิดการให้ยาเกินความจำเป็น”ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า ข้อมูลที่มีอยู่ในขณะนี้ ยังไม่สามารถระบุได้ว่า ผู้ป่วยเสียชีวิต เนื่องจากการรับยาช้า การออกมาให้ข้อมูลว่า ผู้ป่วยเสียชีวิต เนื่องจากการได้รับยาช้า อาจไม่ใช่ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยเสียชีวิตในวันที่ 8 แต่ให้ยาเมื่อวันที่ 6 ไม่ได้หมายความว่า ให้ยาช้า เนื่องจากผู้ป่วยบางรายในวันที่ 1-5 อาการยังไม่ปรากฏเข้าเกณฑ์ที่จะต้องให้ยา เมื่อผู้ป่วยเสียชีวิตก็มีการเหมารวม ว่า ป่วยมานานถึง 6 วันแล้ว พึ่งจะได้รับยา เหมือนกับว่าได้รับยาช้า ทั้งที่ความจริงแล้วกรณีเช่นนี้เป็นคนละเรื่องกับการได้รับยาช้า

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวด้วยว่า นักวิชาการส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการกระจายให้กับคลินิก แต่ถูกล็อบบี้จากฝ่ายการเมือง คิดว่า หากดำเนินการเช่นนี้แล้วจะดี สร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน เมื่อจำเป็นต้องเห็นด้วย คณะอนุกรรมการจึงได้กำหนดเงื่อนไขคลินิกที่จะสามารถจ่ายยาโอเซลทามิเวียร์ให้กับผู้ป่วยไว้อย่างชัดเจน คือ ต้องมีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์ข้างต้นทั้ง 4 ข้อ

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ผู้ป่วยเสียชีวิตอาจไม่ใช่ เนื่องจากการได้รับยาช้า ต้องพิจารณาถึงเรื่องวิธีการให้ยาด้วย โดยเฉพาะในกรณีผู้ป่วยที่ไม่สามารถกินยาเม็ดได้ ต้องนำผงยามาผสมกับน้ำแล้วให้ทางท่อสายยาง อาจทำให้การดูดซึมเข้าร่างกายได้ไม่ดี บวกกับที่ผ่านมา ประเทศไทยยังไม่สามารถตรวจชันสูตรศพผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ได้แม้แต่รายเดียว จึงไม่ทราบว่าผู้เสียชีวิตมีเชื้อที่ดื้อยาด้วยหรือไม่ ซึ่งจำเป็นต้องมีการตรวจสอบอย่างรอบคอบก่อนให้ข้อมูลว่าผู้ป่วยเสียชีวิต เพราะได้รับยาช้า

“การเสียชีวิตของผู้ป่วยอาจมาจากสาเหตุอื่น เพราะถ้ารู้ว่าปัญหาอยู่ที่การให้ยาช้า การแก้ปัญหาต้องให้ความรู้บุคลากรทางการแพทย์ ไม่ใช่ปล่อยให้กระจายยากระจัดกระจาย เพราะปัจจุบันไม่ใช่ระยะรุนแรงของโรค ถ้ามีการให้และเกิดการดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ ก็ไม่มีมาตรการรองรับ ก็จะตายกันทั้งประเทศ หมดทางรักษา เนื่องจากเมื่อเชื้อดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ ต้องให้ยาซานามิเวียร์ ซึ่งไทยยังผลิตเองไม่ได้ และยามีราคาแพงมาก ไม่สามารถซื้อมาให้กับผู้ป่วยได้ครอบคลุมทั้งหมด หากเกิดการระบาดใหญ่ในอนาคต”ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น