xs
xsm
sm
md
lg

“วิทยา” ปัดไม่มีล็อบบี้ให้จ่ายยาผ่านคลินิก “อัมมาร” เสนอรัฐรับภาระจ่ายยาฟรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สธ.
“วิทยา” ปัดไม่ได้ล็อบบี้ผู้เชี่ยวชาญให้เห็นด้วยกับการจ่ายยาโอเซลทามิเวียร์ทางคลินิก ย้ำ คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาวิชาการ ต้องมีอิสระ คลินิกที่จะเข้าร่วมต้องทำตาม 8 เงื่อนไข วันที่ 29 ก.ค.นี้ เรียก สสจ.ทั่วประเทศ ทำความเข้าใจ ด้าน “อัมมาร” เสนอรัฐต้องจัดยาให้คลินิกฟรี แบกภาระค่ายาแทนผู้ป่วย

เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 28 ก.ค. นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ได้รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบเกี่ยวกับผลการประชุมของคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาวิชาการและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1เอ็น1 ที่เห็นด้วยในการให้คลินิกสามารถจ่ายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ให้กับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้ แต่มีเงื่อนไขต้องปฏิบัติตามข้อกำหนด 8 ข้อ ซึ่งคลินิกที่จะเข้าร่วมในการจ่ายยาโอเซลทามิเวียร์ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวอย่างครบถ้วน ซึ่ง สธ.จะต้องกำกับดูแลในเรื่องนี้ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดของเงื่อนไขได้ เพราะอยู่ระหว่างการตรวจทานความถูกต้อง

“แนวทางการแก้ปัญหาในเรื่องนี้จะดำเนินการอย่างไร คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาวิชาการ จะเป็นผู้ชี้และแนะนำให้ สธ.กำหนดแนวทางการดำเนินการทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมา สธ.ได้เดินตามแนวทางที่นักวิชาการในคณะอนุกรรมการกำหนดให้มาโดยตลอด ดังนั้น ข้อเสนอแนะของ สธ.ที่เสนอขึ้นไป ถ้าทางวิชาการเห็นว่าต้องระมัดระวังในการดื้อยา ก็มีเหตุผลและมีมาตรการควบคุมที่กระทรวงสาธารณสุขต้องปฏิบัติตาม” นายวิทยา กล่าว

นายวิทยา กล่าวอีกว่า ในวันที่ 29 ก.ค.นี้ จะเรียกประชุมนายแพทย์สาธารณสุขทุกจังหวัด(สสจ.) ทั่วประเทศ ก็จะชี้แจงเงื่อนไขของคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาวิชาการให้รับทราบ เพื่อให้คลินิกที่จะเข้าร่วมโครงการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากจ่ายยาไม่รัดกุมอาจเกิดปัญหาขึ้น ยาที่เหลืออีประมาณ 40 ล้านเม็ด ก็กลายเป็นแป้ง ส่วนการที่เกรงว่าคลินิกจะจ่ายยาในราคาที่สูงขึ้นนั้น ตนไม่กังวล เพราะประชาชนรู้ดีว่าราคาต้นทุนของยาชนิดนี้ที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) จำหน่ายเม็ดละ 25 บาท ซึ่งประชาชนต้องพิจารณาเองว่าจะเข้ารับการรักษาพยาบาลที่ใด ทั้งนี้ หากไม่เข้าตรวจรักษาที่คลินิก โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่งทั่วประเทศ ก็เปิดช่องทางพิเศษสำหรับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่โดยเฉพาะและมียารักษาเพียงพอ

“ที่ผ่านมา สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นผู้ป่วยจะไปเข้ารับการรักษาที่คลินิกก่อน เมื่อไข้ไม่ลดใน 2 วัน ก็ไปรับการรักษาที่เดิมอีก ทำให้ผู้ป่วยได้รับยาช้า ส่งผลให้เสียชีวิต เมื่อมีบทเรียน ต้องสำนึกหากไม่ปรับปรุงคงลำบาก ซึ่งแพทย์ในคลินิกต่างจังหวัดครึ่งหนึ่งเป็นแพทย์ในโรงพยาบาล คงควบคุมการใช้ยาได้ไม่ยาก แต่อยากเรียกร้องให้ประชาชนหากป่วยไม่สบายให้เข้ารักษาในโรงพยาบาลจะดีกว่าโดยเฉพะผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง” นายวิทยา กล่าว

เมื่อถามว่า มีนักวิชาการคัดค้านการให้คลินิกจ่ายยาโอเซลทามิเวียร์ให้กับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 โดยระบุว่า นักวิชาการส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยแต่ถูกฝ่ายการเมืองล็อบบี้ นายวิทยา กล่าวว่า คงเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ซึ่งนักการเมืองในกระทรวงสาธารณสุขมีเพียง 2 คน คือ ตน และ รมช.สธ.แต่ขอยืนยันว่า ตนไม่เคยเข้าไปล็อบบี้ในเรื่องนี้ เพียงแต่ได้เสนอปัญหาที่ผ่านมาให้คณะอนุกรรมการทราบข้อมูลว่าผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่เสียชีวิต เพราะมีโรคประจำตัว และอีกส่วนหนึ่งไปรักษาและได้รับยาช้า

ส่วนการที่นักวิชาการบางท่านเห็นว่า มีผู้บริหารฝ่ายการเมืองออกมาให้ข่าวก่อนว่ามีการนำร่องให้คลินิกจ่ายยาดังกล่าวไปแล้วในบางพื้นที่ เหมือนมีการกดดันให้ผู้เชี่ยวชาญต้องเห็นด้วยนั้น นายวิทยา กล่าวว่า คิดว่า ทุกอย่างต้องมีอิสระ ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยืนยันตลอดว่าข้อมูลทางวิชาการต้องไม่เบี่ยงเบน และต้องเป็นอิสระ แต่ภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นที่ จ.ราชบุรี เป็นภาวะที่ผู้สั่งการอาจจะวิจัยตามสถานการณ์ หากคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาวิชาการ ชี้แนะมาอย่างไรทุกคนคงปฏิบัติตาม ไม่มีปัญหา

ด้าน ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง ในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่าหากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะดำเนินการตามแนวทางนี้ รัฐจะต้องสนับสนุนยาชนิดนี้ให้กับคลินิกฟรี หรือจะต้องเป็นผู้แบกรับภาระค่ายาที่คลินิกเรียกเก็บจากผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาและได้รับยาจากโรงพยาบาลไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหากจะดำเนินการในคลินิกต้องไม่เสียค่าใช้จ่ายด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น