“วิทยา” เผยรายงานองค์การอนามัยโลก ไทยติดเชื้อจากแม่สู่ลูกรายแรก มอบ “มานิต” ตรวจการกระจายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ พร้อมนัดหารือคลินิก โรงพยาบลเอกชนในเครือข่ายฯ ของ สปสช.ให้การรักษาไปในทิศทางเดียวกัน 30 ก.ค.นี้ จวกผู้หวังดีให้คำแนะนำมาก ทำคนสับสน ชี้ทำตามทุกคำแนะนำโดนคนด่ามากกว่านี้
วันที่ 27 กรกฎาคม ที่โรงแรมรามาการ์เด้น นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีหญิงตั้งครรภ์ วัย 26 ปี จ.ราชบุรี ที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 โดยได้ผ่าตัดคลอดบุตรขณะที่อายุครรภ์ 7 เดือน ซึ่งพบว่าทารกติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 เป็นรายแรกของโลกว่า กรณีนี้ถือเป็นกรณีศึกษาที่คณะแพทย์ให้ความสนใจและขณะนี้
ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และนายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย รวมทั้งคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จากแม่สู่ลูก ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปทั้งหมดว่าเป็นการติดเชื้อจากการกินน้ำคร่ำ หรือผ่านทางรก อย่างไรก็ตาม สธ.ได้รายงานข้อมูลกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ทราบเป็นระยะๆ อยู่แล้ว ทั้งนี้ หญิงตั้งครรภ์เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังอยู่แล้ว จึงยังไม่จำเป็นต้องเพิ่มมาตรการใดๆ
นายวิทยากล่าวต่อว่า ส่วนการกระจายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ที่คลินิกซึ่งเริ่มนำร่องที่ จ.ราชบุรีเป็นแห่งแรก ยังไม่สามารถบอกได้ว่า มีผลเป็นอย่างไรบ้าง เพราะเพิ่งดำเนินการเพียง 2 วันเท่านั้น ซึ่งกรณีที่ จ.ราชบุรี ถือเป็นการตัดสินใจเฉพาะหน้า เนื่องจากมีตัวเลขผู้เสียชีวิตสูง 7 ราย จากผู้เสียชีวิตทั้งหมด 44 ราย อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการตรวจสอบว่าขณะนี้ประเทศไทยมีกากระจายยาไปที่ใดบ้าง จำนวนเท่าไหร่เพื่อให้ทราบว่ามีการกระจายยาอย่างทั่วถึงหรือไม่
“สธ.ไม่ควรกระโดดไปกระโดดมาตามที่มีการเสนอเพราะทำให้ประชาชนสับสนมาก แม้แต่รัฐมนตรีก็ไม่แน่ใจ คนที่เสนอก็ไม่ได้เป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบ แต่เป็นแพทย์ของกระทรวงที่ต้องลงมือทำงาน ดังนั้น ไม่ใช่เสนอความเห็นอย่างเดียว แต่การเสนอความเห็นต้องระมัดระวัง ถ้าทำตามความเห็นที่เสนอมาหมดทุกอย่างผมอาจจะโดนด่ามากกว่านี้อีก” นายวิทยากล่าว
นายวิทยากล่าวต่อว่า ส่วนในจังหวัดอื่นๆ จะมีการกระจายยาต้านไวรัสให้คลินิกเอกชน คลินิกหมอทั่วไป รวมทั้งจะมีมาตรการควบคุมอย่างไร ขอให้ที่ปรึกษาทางวิชาการและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และการสาธารณสุขระดับชาติที่มี นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ เป็นประธาน เป็นผู้สรุปโดยผมจะไม่เข้าไปแทรกแซง นอกจากนี้ ได้หารือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อเรียกประชุมโรงพยาบาลในเครือข่ายฯ ที่เป็นโรงพยาบาลเอกชน รวมทั้งคลินิกในกรุงเทพฯ กว่า 200 แห่ง ในวันที่ 30 กรกฎาคมนี้ เพื่อเข้าระบบการรักษาและการให้ยาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
นายวิทยากล่าวต่อว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยประมาณกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ เสียชีวิตเนื่องจากได้รับยาช้าไป บางคนป่วยอยู่กับบ้านนาน แล้วเพิ่งมาหาหมอ แล้วโรคลงแพร่ถึงปอดทำให้ยุ่งยากในการรักษา โดยพบว่า ผู้เสียชีวิตหลายรายเริ่มต้นจากการรักษาที่คลินิกมาก่อน ส่วนค่าใช้จ่ายในการรับการรักษาที่คลินิกนั้น ราคายาจากองค์การเภสัชกรรม เริ่มขายที่เม็ดละ 25 บาท ฉะนั้นกินจนครบ1ชุด 10 เม็ด ราคา 250 บาท เป็นราคาที่ใช้เป็นมาตรฐานอยู่แล้ว ซึ่งคงต้องติดตามดูว่า คลินิกเอกชนจะคิดค่ารักษาเท่าใด