ย้ำ! ฮูหยุดรายงานตัวเลขป่วย-ตายจากโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 แล้ว เหตุไม่ก่อประโยชน์ ไม่สะท้อนตัวเลขผู้ติดเชื้อที่แท้จริง แพทย์แนะเฝ้าระวังเด็กเล็ก 2 ขวบ เสี่ยงติดเชื้อหวัดใหญ่ 2009 หลังพบติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ
วันที่ 18 กรกฎาคม รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิระดับ 11 กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ทั่วโลกขณะนี้ ว่า องค์การอนามัยโลก หรือ ฮู (WHO) ได้ประกาศยกเลิกการรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตและผู้ป่วยทั่วโลก ตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เนื่องจากไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง ไม่เกิดประโยชน์ทางวิชาการ นอกจากการติดตามสถานการณ์รายวัน แต่กลับทำให้เกิดความตื่นตระหนกให้กับประชาชนทั่วโลก ส่วนการตรวจเชื้อในห้องปฏิบัติการเพื่อพิสูจน์ยืนยันว่าติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 หรือไม่นั้น ขณะนี้บางประเทศไม่จำเป็นต้องตรวจในทุกราย เพราะจะสิ้นเปลืองงบประมาณโดยไม่จำเป็น เพราะหากมีงบประมาณ จำกัดทำให้ไม่สามารถนำงบของรัฐไปใช้ในการรักษาดูแลผู้ป่วยอย่างเพียงพอ และร้อยละ 90 ของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 พบว่า ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ มีอาการของไข้หวัดเล็กน้อย อีกประมาณร้อยละ 5-10 คือ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เมื่อติดเชื้อแล้วจะมีอาการหนัก
“โชคดีที่ประเทศไทยเคยมีการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกมาก่อน จึงสามารถนำแผนมาปรับใช้ใหม่ได้ แต่สิ่งสำคัญ คือ การดูแลรักษาผู้ป่วยให้มีการสูญเสียชีวิตน้อยที่สุด จากนั้นค่อยคิดถึงเรื่องเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะคนที่รู้ตัวว่าป่วยต้องแยกตัวออกจากสังคมในขณะนั้น เช่น งดการเข้าไปในสถานที่ชุมชนแออัด งานแสดงคอนเสิร์ต ห้างสรรพสินค้า พักผ่อนให้เพียงพอให้ร่างกายแข็งแรงและเมื่อหายดี จึงกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่ระบาด” รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว
รศ.นพ.ทวี กล่าวอีกว่า จากข้อมูลพบว่า ขณะนี้การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 มักไม่ค่อยพบในเด็ก 5 ขวบ แต่จะมีในเด็กเล็กประมาณ 2 ขวบ ซึ่งเด็กบางรายพบว่ามีอาการเหมือนปกติ ด้านการรักษา หลังจากจัดทำคู่มือการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ให้กับแพทย์ จะให้ใช้ดุลพินิจของแพทย์เป็นหลักเพื่อความเหมาะสมในการจ่ายยา เช่น กรณีผู้ป่วยมีไข้สูง 39 องศาเซลเซียส ควรให้ยาต้านไว้รัสโอเซลทามิเวียร์ทันที หรือคนที่มีประวัติมีโรคประจำตัว เช่น ปอด ตับ หัวใจ ก็ให้ยาต้านไวรัสทันที เพื่อมุ่งรักษาชีวิตให้มากที่สุด สำหรับคู่มือแพทย์ฉบับนี้ จะออกในวันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคมนี้ ซึ่งจะทำให้แพทย์ดูแลรักษาคนไข้ได้ง่ายขึ้น เพราะมีหลักเกณฑ์ปฏิบัติแบ่งแยกเป็นขั้นตอน เนื่องจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เป็นโรคอุบัติใหม่ ที่บางคนอาจยังไม่เคยพบ