“มานิต” รับคิดเร็ว ทำเร็ว สั่งนำร่อง จ.ราชบุรี กระจายยาต้านโอเซลทามิเวียร์ให้คลินิก โดยยังไม่ผ่านความเห็นชอบของทีมผู้เชี่ยวชาญ เผยตัดสินใจร่วมปลัด สธ.2 คน เตรียมประเมินผลหลังจ่ายยาครบ 7 วัน หากสถานการณ์โรคไม่ดีขึ้น พร้อมยกเลิก ขณะที่ทารกคลอดก่อนกำหนดที่ จ.ราชบุรี หยุดหายใจ 10 วินาที แต่ยังปลอดภัย ส่วนผลแล็บตรวจหญิงตั้งครรภ์ 7 เดือน ไม่เป็นหวัดใหญ่ 2009
นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาวิชาการและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และสาธารณสุขโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุใหม่ ชนิดเอ เอช1เอ็น1 ที่มี ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ เป็นประธาน ไม่มีมติรับรองให้สั่งจ่ายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ไปยังคลินิกทั่วประเทศ พร้อมมีนักวิชาการระบุว่า มีการเมืองกดดัน ว่า ขณะนี้มี จ.ราชบุรี เพียงจังหวัดเดียวที่มีการนำร่องให้จ่ายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ให้กับคลินิกเอกชนที่มีแพทย์ประจำ ซึ่งมีประมาณ 150 แห่งๆ ละ 50 เม็ด โดยเริ่มจ่ายยาให้ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ซึ่งการตัดสินใจดำเนินการดังกล่าว ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากทีมผู้เชี่ยวชาญของ สธ. แต่อย่างใด แต่เป็นการตัดสินใจร่วมโดยตนเป็นผู้ขอหารือ นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัด สธ.2 คน เท่านั้น
“ผมยอมรับว่าได้คิดเร็ว ตัดสินใจเร็วไปหน่อย ยังไม่ได้หารือกับผู้เชี่ยวชาญก็ตัดสินใจนำร่องจ่ายยาต้านไวรัสทันที ซึ่งสาเหตุที่ต้องเร่งตัดสินใจ เพราะหากไม่นับกรุงเทพฯ จ.ราชบุรี จะเป็นจังหวัดมีจำนวนผู้ป่วยมาก และมีเสียชีวิตมากที่สุด คือ 7 คน จึงต้องการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้ได้ ซึ่งเรื่องนี้หากไม่มีการทดลองก็จะไม่รู้ว่าจะได้ผลดีหรือไม่ ซึ่งในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา คลินิกได้เริ่มจ่ายยาให้ผู้ป่วยบ้างแล้ว และในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จ.ราชบุรี ยังไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มแต่อย่างใด ซึ่งเรื่องนี้ ตนได้รายงานให้ที่ประชุม ครม. รับทราบแล้ว” นายมานิต กล่าว
นายมานิต กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ได้สั่งนำร่องจ่ายยาต้านไวรัสที่ จ.ราชบุรี เป็นเวลา 7 วัน จากนั้นจะประเมินสถานการณ์ ว่า มีจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงหรือไม่ หากไม่ลดลงตนจะสั่งยกเลิกจ่ายยาต้านไวรัสให้กับคลินิกทันที ทั้งนี้ ในการประชุมทีมผู้เชี่ยวชาญในวันที่ 30 กรกฎาคมนี้ ตนจะเข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อทำความเข้าใจกับทีมผู้เชี่ยวชาญถึงปัญหาที่เกิดขึ้น
นายมานิต กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ได้สั่งกำชับให้แพทย์ทุกคนปฏิบัติตามคำแนะนำของ สธ. เกี่ยวกับการจ่ายยาอย่างเคร่งครัด เช่น ลงทะเบียนผู้ป่วย จดเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ติดตามอาการผู้ป่วย และรายงานการจ่ายยาประจำวันให้โรงพยาบาลศูนย์ในพื้นที่รับทราบ เพื่อควบคุมกำกับให้มีการใช้ยาอย่างเหมาะสม และป้องกันปัญหาเชื้อดื้อยาส่วนผู้ป่วยที่มารับยาที่คลินิกใน จ.ราชบุรี ได้ให้แนวทางว่า ให้คิดราคายาในราคาต้นทุนเท่าที่องค์การเภสัชกรรมคิด คือ เม็ดละ 25 บาท โดย 1 ชุดการรักษา ใช้ยา 10 เม็ด รวมราคา 250 บาท แต่หากเป็นผู้ป่วยไม่มีกำลังทรัพย์ก็ให้คลินิกจ่ายยาให้ฟรี โดย สธ.จะเป็นผู้รับผิดชอบค่ายาเอง
“ส่วนอาการผู้ป่วยหญิงตั้งครรภ์ 7 เดือนรายล่าสุด ที่เข้ารับการรักษาที่ โรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี เมื่อเย็นวันที่ 26 กรกฎาคม และสงสัยป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 นั้น ได้รับผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สมุทรสงครามแล้ว ยืนยันไม่ได้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 วันนี้อาการดีขึ้น สามารถหายใจได้เอง อาการเหนื่อยหอบน้อยลง แพทย์ยังคงสังเกตอาการทั้งแม่และลูกในครรภ์อย่างใกล้ชิดต่อไป” นายมานิต กล่าว
นายมานิต กล่าวด้วยว่า ส่วนเด็กทารกที่ติดเชื้อจากแม่ขณะตั้งครรภ์ ซึ่งแพทย์ได้ผ่าตัดคลอดก่อนกำหนดที่ จ.ราชบุรี นั้น ขณะนี้ได้รับยาต้านไวรัสครบชุดแล้ว แต่ยังคงอยู่ในตู้อบเพื่อรักษาอุณหภูมิร่างกาย ล่าสุด อาการดีขึ้น ระดับออกซิเจนในเลือดปกติ เริ่มกินนมได้ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 1,620 กรัม แพทย์ยังคงเฝ้าระวังเรื่องการติดเชื้อ และดูแลการหายใจต่อเนื่อง เนื่องจากเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 28 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เด็กหยุดหายใจประมาณ 10 วินาที แพทย์ได้ช่วยชีวิตเด็กทารกให้กลับมาหายใจได้ตามปกติ พร้อมกายภาพบำบัดให้ผู้ป่วย ซึ่งขณะนี้ถือว่าอาการเด็กปลอดภัยแล้วร้อยละ 80-90 ยังไม่มีโรคแทรกซ้อนอื่น ทั้งนี้ หากเด็กมีน้ำหนักตัวเพิ่มเป็น 1,800-2,000 กรัม จะอนุญาตให้กลับบ้านได้