xs
xsm
sm
md
lg

รพ.ราชบุรีมีแม่ท้อง 7 เดือนติดหวัดเพิ่ม 1 ราย โชคดีรักษาเร็วลูกในท้องปกติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ผอ.รพ.ราชบุรีเผยรับหญิงท้อง 7 เดือน เข้ารักษาอีก 1 ราย ไข้ขึ้น 2 วัน มาหาหมอจ่ายยาโอเซลทามิเวียร์ทันที ช่วยให้อาการไม่รุนแรง ทารกในครรภ์ปกติ ย้ำกลุ่มเสี่ยงป่วยอย่ารอ ขณะที่ทารกเพศหญิงผ่าคลอดติดหวัด 2009 ที่ราชบุรี หายไข้ ปลอดเชื้อหวัดหลังให้ยาโอเซลทามิเวียร์ครบกำหนด ยันยาไม่ส่งผลกระทบต่อเด็ก

วันที่ 27 กรกฎาคม นพ.ธนินทร์ พันธุเตชะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ค.ได้รับตัวหญิงตั้งครรภ์ 7 เดือน อายุ 30 ปีเข้ารักษาตัวอีก 1 ราย โดยผู้ป่วยมาโรงพยาบาลด้วยอาการไข้สูง หอบ แพทย์ทำการเอกซเรย์ปอด พบว่ามีภาวะปอดบวมแทรก จึงได้แยกผู้ป่วยไว้ในห้องแยกปลอดเชื้อของโรงพยาบาล และให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ทันทีก่อนจะส่งสารคัดหลั่งตรวจในห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อยืนยันว่าผู้ป่วยรายนี้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 หรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากอาการของผู้ป่วยค่อนข้างมั่นใจว่าผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่แน่นอน แต่ยังต้องรอผลตรวจจากห้องปฏิบัติการยืนยันอีกครั้งหนึ่ง คาดว่าจะทราบในเร็วๆนี้

“ผู้ป่วยรายนี้จัดอยู่ในอาการที่มีความรุนแรงของโรคแบบปานกลาง ผู้ป่วยหายใจเองได้ ไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ความดันและระดับออกซิเจนในเลือดปกติดี เช่นเดียวกับทารกในครรภ์มีอาการปกติ เพราะเมื่อแม่ได้รับยาทารกก็จะได้รับด้วย” นพ.ธนินทร์กล่าว

นพ.ธนินทร์ กล่าวต่อว่า จากการซักประวัติผู้ป่วยทราบว่ามีอาการป่วยประมาณ 2 วันจึงจะมาพบแพทย์ นับว่ายังอยู่ในเกณฑ์การให้ยาต้านไวรัสเพื่อรักษาที่ควรให้ภายใน 48 ชั่วโมงจึงจะให้ผลการรักษาที่ดี แต่อยากย้ำว่าหากเป็นหญิงตั้งครรภ์ ผู้มีโรคประจำตัว เด็กต่ำกว่า 2 ปี ผู้สูงอายุเกิน 65 ปี คนอ้วน หากมีอาการป่วยไข้ควรมาพบแพทย์ทันที ไม่ควรรอให้ถึง 2 วัน

นพ.ธนินทร์กล่าวถึงอาการของทารกเพศหญิงที่ผ่าคลอดก่อนกำหนดขณะที่มารดามีอายุครรภ์ 7 เดือนและติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จากมารดาว่า ขณะนี้เด็กอาการปลอดภัยและให้ยาต้านไวรัสครบกำหนด 5 วันแล้ว มีการเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งตรวจในห้องปฏิบัติการซ้ำอีกครั้ง พบว่าไม่มีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 อยู่ในร่างกายเด็กแล้ว ขณะนี้เด็กพักรักษาตัวอยู่ในห้องเด็กคลอดก่อนกำหนดเช่นเด็กคนอื่นๆ แต่ยังต้องให้นมทางสายยาง หากเด็กดื่มนมได้เอง ไม่มีอาการตัวเหลือง และน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น อาจจะอนุญาตให้กลับบ้านได้ ทั้งนี้ การให้ยาโอเซลทามิเวียร์จะไม่ส่งผลกระทบต่อเด็ก เนื่องจากมีการปรับขนาดยาให้มีความเหมาะสมตามน้ำหนักตัวของเด็ก


นพ.ธนินทร์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ จ.ราชบุรี ได้กระจายโอเซลทามิเวียร์ไปยังคลินิกในจังหวัดแล้วกว่า 50 แห่ง โดยจัดสรรให้แห่งละ 50 เม็ด สำหรับรักษาผู้ป่วย 10 คน ในราคาต้นทุน คือ เม็ดละ 25 บาท หากหมดสามารถเบิกเพิ่มเติมให้อยู่ในจำนวนที่กำหนดได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งคลินิกแต่ละแห่งจะต้องทำรายงานแจ้งการสั่งจ่ายยาชนิดนี้ให้แก่ผู้ป่วยแต่ละรายมาให้กับโรงพยาบาลอย่างละเอียด เพื่อแสดงถึงเหตุผลจำเป็นที่จะต้องให้ยาในผู้ป่วยแต่ละราย และหากผู้ป่วยรายใดมีเงินไม่เพียงพอสำหรับจ่ายค่ายาดังกล่าว แต่แพทย์พิจารณาเห็นว่าผู้ป่วยรายนั้นจำเป็นต้องได้รับยาทันที ก็ให้คลินิกสั่งจ่ายยาแล้วมาเบิกเงินที่โรงพยาบาล การที่ต้องดำเนินการเช่นนี้เนื่องจากผู้ป่วยใน จ.ราชบุรี ส่วนใหญ่จะไปพบแพทย์ที่คลินิกก่อนจะมาโรงพยาบาล ทำให้ได้รับยารักษาช้า

กำลังโหลดความคิดเห็น