ผู้ปกครองโวยเดือดร้อนหนัก เด็กสมาธิสั้นขาดยารักษาต่อเนื่อง อย.รับยาหมด เร่งสั่งซื้อยาคาดได้ใช้ ธ.ค.นี้ ชี้เหตุขาดแคลนมีการกักตุน ระบุถ้าโรงพยาบาลใดไม่มียาให้แจ้งมายัง อย.ได้
พญ.นงพงา ลิ้มสุวรรณ ประธานราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ยารักษาโรคสมาธิสั้น กลุ่มยาเมทิลเฟนิเดต (Methylphenidate) ทั้งชนิดที่ออกฤทธิ์ยาวที่สามารถทานยาเพียงวันละครั้งแต่ออกฤทธิ์ได้ทั้ง12ชั่วโมง และกลุ่มที่ออกฤทธิ์สั้น 3-5 ชั่วโมง โดยต้องกินวันละ 2 ครั้ง ขาดตลาด ซึ่งมีเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นและออทิสติกเป็นจำนวนมากที่จำเป็นต้องใช้ยาดังกล่าวได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก เพราะไม่มียาใช้ และไม่สามารถซื้อได้เอง โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นผู้จัดจำหน่ายให้กับสถานพยาบาลต่างๆ แต่ไม่ทราบมีการจัดการบริหารยามีปัญหาอย่างไร หรือไม่ จึงทำให้ยากลุ่มนี้ขาดตลาดซึ่งครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่ในรอบปีนี้เกิดปัญหาขาดแคลายา 2 ครั้งแล้ว
“พ่อแม่ผู้ปกครองได้รับความเดือดร้อนมาก ต้องวิ่งหายาเพื่อนำมาให้ลูกกิน บางคนต้องไปซื้อยาที่ตกค้างที่ รพ.ราชบุรี หรือโรงพยาบาลอื่นๆ ที่ยังพอมียาเหลืออยู่ ทั้งๆ ที่ยาดังกล่าวไม่ใช่ยาที่ผลิตได้ยาก และจำเป็นต้องรับประทานต่อเนื่อง หากขาดยาส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการไปโรงเรียนเด็ก อาจจะแกล้งเพื่อน หรือกระทำการรุนแรง ก้าวร้าว หรือได้รับอันตรายการจากพฤติกรรม เช่น ปีนขึ้นในที่สูงได้ ในที่สุดเด็กก็จะถูกไล่ออกจากโรงเรียน” พญ.นงพงา กล่าว
พญ.นงพงา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เห็นว่า การบริหารจัดการของ อย.ไม่มีประสิทธิภาพ จึงอยากเรียกร้องให้ อย.ปฏิบัติหน้าที่ดูแลไม่ให้ยาดังกล่าวขาด เพราะหากเป็นยาที่มีความสำคัญต่อชีวิตอย่างยาโรคหัวใจ ผู้ป่วยก็คงเสียชีวิตไปแล้ว ที่สำคัญทราบว่า นอกจากยากลุ่มดังกล่าวแล้วยากลุ่มระงับปวดและยากลุ่มอื่นๆ ที่ อย.ดูแลก็ขาดแคลนด้วย
นพ.พงศ์พันธ์ วงศ์มณี รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณีมีผู้ปกครองร้องเรียนเนื่องจากยาในกลุ่มรักษาโรคสมาธิสั้นขาดตลาด ว่า อย.ได้สั่งนำเข้ายาเมทิลเฟนิเดต (Methylphenidate) ที่ใช้รักษาโรคสมาธิสั้นเก็บไว้ในคลังยา ทั้งหมด 1.2 หมื่นกล่อง โดยแบ่งเป็นขนาด 36 มิลลิกรัม 6 พันกล่อง และขนาด 18 มิลลิกรัม 6 พันกล่อง ซึ่งจะสามารถใช้ได้นาน 6 เดือน โดยคาดการว่า ยากลุ่มดังกล่าวจะหมดประมาณช่วงเดือนธันวาคม แต่ปรากฏว่า อย.จำหน่ายยาออกไปหมดแล้วตั้งแต่เดือนกันยายน ซึ่งยาถูกกระจายไปยังโรงพยาบาลต่างๆ โดย อย.ได้ตรวจสอบข้อมูลการใช้ยาในโรงพยาบาลแล้ว พบว่า ยังมียาดังกล่าวเหลืออยู่ในโรงพยาบาลหลายแห่ง แห่งละ 300-400 กล่อง อย่างไรก็ตาม อย.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ทำการสั่งซื้อยาดังกล่าวแล้วโดยมีสัญญาส่งมอบในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ซึ่งอย.ได้เร่งรัดให้มีการจัดส่งยาให้เร็วที่สุด โดยทางผู้ผลิตรับปากจะจัดส่งยาในเดือนธันวาคมนี้
“จริงๆ แล้วยังมียาอยู่ในสต๊อกของ อย.แต่ไม่มาก หากโรงพยาบาลใดต้องการสามารถแจ้งมาได้ รวมทั้งยังมียาในสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีเช่นกัน ทั้งนี้ สาเหตุที่ยาขาดตลาดอาจเนื่องมาจากการกักตุน ละเป็นช่วงคาบเกี่ยวในการจัดการสต็อกยา อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบว่า ยาอาจจะหมดในโรงพยาบาลบางแห่ง แต่บางแห่งก็ยังมียาอยู่ ดังนั้น อย.คงจะไม่สั่งยาดังกล่าวเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เนื่องจากปริมาณการใช้ยามีมากจนเกินไป ขณะที่อัตราการเพิ่มของผู้ป่วยโรคนี้ไม่เพิ่มจากเดิมมากนัก รวมทั้งจัดอยู่ในยาที่มีราคาแพงอีกด้วย” นพ.พงศ์พันธ์ กล่าว