อย.เต้นเรียกราชวิทยาลัยจิตแพทย์ถก หลังยูเอสเอฟดีเอ พบงานวิจัยยาสมาธิสั้น มีความสัมพันธ์กับการตายอย่างเฉียบพลันในเด็ก สั่งสต๊อกยาถึงแค่ พ.ย.ปีหน้า ก่อนรอสรุปให้มีการยกเลิกทะเบียนยาหรือไม่ “รองเลขาฯ อย.” เผยเด็กไทยจำเป็นใช้ยากว่า 18 ล้านคน หากประกาศห้ามใช้จริงมียาใหม่ทดแทน แต่ราคาแพงกว่า พร้อมขอสถานพยาบาลเบิกใช้ยาเท่าที่จำเป็น รายงานยอดคงเหลือ อัตราการใช้ให้ อย.ทราบด้วย
นพ.พงศ์พันธ์ วงศ์มณี รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ได้เชิญราชวิทยาลัยจิตแพทย์ และ กรมสุขภาพจิต เพื่อปรึกษาหารือถึง “ยาเมทิล เฟนิเดท” หรือยารักษาโรคสมาธิสั้นในเด็ก ภายหลังจากที่สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (ยูเอสเอฟดีเอ) ได้ศึกษากับมหาวิทยาลัยโคลัมเบียพบว่า การใช้ยาสมาธิสั้นมีความสัมพันธ์กับการเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุในเด็ก โดยจะรอผลการสรุปดังกล่าวอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ก็สามารถใช้ยาดังกล่าวได้
แต่ทาง อย.ก็จะสต๊อกยาดังกล่าวให้เพียงพอถึงเดือนพฤศจิกายน 2553 เท่านั้น เพราะเป็นช่วงที่ยูเอสเอฟดีเอสรุปผลการศึกษาและพิจารณาว่าจะประกาศห้ามใช้ยานี้หรือไม่ สำหรับยาเด็กจะสรุปผลในช่วงเดือนสิงหาคม 2553 และผู้ใหญ่ในเดือนตุลาคม 2553 หากมีการยกเลิกตำรับยาดังกล่าวจะได้ไม่กระทบต่อการสต็อกยาที่เหลือไว้
นพ.พงศ์พันธ์ กล่าวต่อว่า ในไทยมียาสมาธิสั้นอยู่ 4 ตัว คือ ยาริทาริน (Ritalin) ขนาด 10 มิลลิกรัมต่อเม็ด, ยารูมิเฟน (Rubifen) ขนาด 10 มิลลิกรัมต่อเม็ด, ยาคอนเซอต้า (Concerta) ขนาด 18 มิลลิกรัมต่อเม็ด และยาคอนเซอต้า (Concerta) ขนาด 36 มิลลิกรัมต่อเม็ด โดยปกติมีเด็กประมาณ 5% ของจำนวนเด็กไทยทั้งประเทศหรือประมาณ 18 ล้านคน ที่จำเป็นต้องใช้ยาดังกล่าว และมีอัตราการสั่งซื้อจาก อย.ประมาณ 6 แสนเม็ดต่อเดือน มูลค่าการนำเข้าปีละ 45 ล้านบาท เบื้องต้นทาง อย.ได้นำเข้ายาดังกล่าวเข้ามาในช่วงนี้ประมาณ 1.64 ล้านเม็ด
“ถ้ามีการประกาศห้ามใช้จริง อย.ยังมีการเตรียมการโดยมียาตัวอื่นที่ได้รับอนุญาตทะเบียนตำรับยาและผ่านการติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาแล้ว ใช้ทดแทนได้ แต่อาจมีราคาแพงขึ้น ในขณะเดียวกันหากไม่มีการห้ามใช้ยาดังกล่าว อย.ได้มีการเตรียมนำเข้ายานี้อีก 5.4 ล้านเม็ดต่อไป” นพ.พงศ์พันธ์ กล่าว
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการ อย.กล่าวว่า อย.อยากขอความร่วมมือจากสถานพยาบาลทุกแห่งในการซื้อหรือเบิกยา ให้เบิกหรือคงสต็อกยานี้ในปริมาณที่พอใช้เพียง 1-2 เดือนเท่านั้น เพราะหากมีการสั่งห้ามใช้ยา จะได้ไม่เกิดความสูญเสียในยาที่ต้องเลิกใช้ และถ้าจะจัดซื้อยาสมาธิสั้นดังกล่าว ขอให้สถานพยาบาลผู้สั่งซื้อรายงานยาคงเหลือและอัตราการใช้ยาให้ อย.ทราบด้วย โดย อย.จะพิจารณาจ่ายยาให้โดยดูจากข้อมูลที่แจ้งให้ทราบดังกล่าว
“อย.ต้องติดตามและควบคุมการใช้ยาสมาธิสั้น โดยเจาะจงให้แพทย์ที่จำเป็นต้องใช้เท่านั้น จะไม่จำหน่ายยาให้อย่างพร่ำเพรื่อ รวมทั้งให้แพทย์เพิ่มความระมัดระวังการใช้ และเฝ้าระวังอาการข้างเคียงของผู้ป่วยที่รับประทานยานี้ แต่ก็ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก เพราะเรื่องดังกล่าวยังอยู่ในการศึกษาเท่านั้น ซึ่งทางยูเอสเอฟดีเอยังไม่ได้สรุปผลก็อย่าเพิ่งเกิดความตื่นตระหนก ทั้งนี้ที่ทาง อย.แถลงเพราะต้องการให้ทราบ โดยอาจทำให้เกิดการสต็อกยาลดลง แต่เพียงพอสำหรับการใช้ ซึ่งอาจเกิดความสับสนว่ายาดังกล่าวขาดตลาด แต่จริงแล้วเป็นเพียงการลดสต๊อกยาให้น้อยลงเท่านั้น” นพ.พิพัฒน์ กล่าว