xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ถูกรังแกซ้ำซากรุนแรงแต่เด็ก แนวโน้มสองเท่าเป็นโรคจิตเภท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เด็กที่เคยถูกรังแกมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นสองเท่าที่จะมีอาการหลอนหรืออาการทางประสาทอื่นๆ ในช่วงก่อนวัยรุ่น ขณะที่งานวิจัยอีกชิ้นระบุการนอนหลับมีผลต่อพฤติกรรมของเด็ก
แอนเดรีย เชรียเออร์ และทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอร์วิก อังกฤษ รายงานในวารสารอาร์ไคฟ์ส์ ออฟ เจเนอรัล ไซเคียทรีว่า การถูกรังแกโดยเฉพาะอย่างรุนแรงหรือเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลร้ายแรงต่อเด็กบางคน และอาจถึงขั้นทำให้เด็กคนนั้นเป็นโรคจิตเภทได้
การศึกษาหลายฉบับแสดงให้เห็นว่าความทุกข์ทรมานวัยเด็ก เช่น การถูกล่วงละเมิดทางร่างกายหรือทางเพศ มีความเกี่ยวพันกับพัฒนาการทางจิตใจในวัยผู้ใหญ่ และคนที่มีอาการทางประสาทตอนเด็กมีแนวโน้มเป็นโรคจิตเภทเมื่อโตขึ้น
นักวิจัยกลุ่มนี้ต้องการรู้ว่าการรังแกเป็นต้นเหตุของอาการเหล่านี้ในวัยผู้ใหญ่หรือไม่ จึงทำการศึกษาเด็กอายุ 12 ปี จำนวน 6,437 คน โดยมีการประเมินสุขภาพร่างกายและจิตใจตั้งแต่อายุ 7 ขวบ และขอให้ผู้ปกครองของเด็กเหล่านี้ตอบแบบสอบถาม
ทุกครั้งที่มายังห้องวิจัย ผู้สัมภาษณ์ซึ่งได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีจะประเมินว่ากลุ่มตัวอย่างเคยมีอาการทางประสาทหรือไม่ เช่น เห็นภาพหลอน หรือมีความผิดปกติทางความคิด ในช่วงหกเดือนก่อนหน้านั้นหรือเปล่า
ทั้งเด็ก ผู้ปกครอง และครูจะรายงานว่าเด็กเคยถูกรังแก ซึ่งหมายถึงการกระทำที่ไม่ดีจากนักเรียนอื่นเพื่อทำให้เหยื่อเจ็บปวดหรือไม่
นักวิจัยสรุปว่า กลุ่มตัวอย่าง 46.2% เคยเป็นเหยื่อการรังแกเมื่ออายุ 8 หรือ 10 ขวบ โดยพบสัญญาณที่บ่งชี้อาการทางประสาทเพิ่มขึ้นสองเท่า โดยที่ไม่ได้พิจารณาว่าเด็กเหล่านั้นป่วยทางจิต มีปัญหาครอบครัว หรือมีระดับสติปัญญาอย่างไร และความเชื่อมโยงนี้ชัดเจนยิ่งขึ้นหากเป็นการรังแกที่รุนแรงหรือซ้ำซากยาวนาน
อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าการรังแกเพิ่มความเสี่ยงของอาการทางประสาทในวัยผู้ใหญ่หรือไม่ แต่เป็นไปได้ว่าการรังแกทำให้พฤติกรรมดังกล่าวเปิดเผยออกมาสำหรับคนที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมที่โน้มเอียงที่จะเป็นโรคจิตเภทอยู่แล้ว
หรืออาจเป็นไปได้ว่าการถูกรังแกซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้ความสามารถในการตอบสนองต่อความเครียดของคนๆ นั้นเปลี่ยนไป
นักวิจัยกล่าวว่าจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม แต่โครงการแทรกแซงเพื่อลดการรังแกอาจช่วยป้องกันปัญหาทางประสาทในภายหลังได้
ขณะเดียวกัน งานวิจัยจากฟินแลนด์แนะนำว่าการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอในตอนกลางคืนช่วยลดปัญหาพฤติกรรมและอาการสมาธิสั้นในเด็กได้
จากการศึกษาที่รายงานในวารสารเพเดียทริกส์ พบว่าเด็กบางคนที่นอนน้อยไม่ได้แสดงอาการอ่อนเพลีย แต่กลับมีปัญหาทางพฤติกรรมมากกว่า และเด็กที่นอนไม่ถึงวันละ 8 ชั่วโมงมักมีพฤติกรรมอยู่ไม่สุขและควบคุมตัวเองไม่ได้ หรือที่เรียกกันว่าโรคสมาธิสั้น
ในการวิจัยนี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ และสถาบันสุขภาพและสวัสดิการแห่งชาติของฟินแลนด์ ได้ทำการศึกษาเด็กสุขภาพดี 280 คน อายุระหว่าง 7-8 ขวบ เพื่อดูว่าเด็กที่นอนน้อยที่สุดเป็นกลุ่มที่มีอาการที่เกี่ยวข้องกับโรคสมาธิสั้นมากที่สุดด้วยหรือไม่
ผู้ปกครองจะตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการนอนของเด็ก และระบุว่าในหนึ่งสัปดาห์เด็กนอนนานแค่ไหน ขณะที่เด็กจะต้องสวมอุปกรณ์ที่เรียกว่าแอคติกราฟตรวจวัดการเคลื่อนไหว เพื่อดูว่าเด็กนอนหลับสนิทจริงๆ กี่ชั่วโมง
นักวิจัยพบว่าพ่อแม่ประเมินเวลาการนอนหลับของลูกนานกว่าที่อุปกรณ์ระบุ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าเป็นเพราะพ่อแม่เริ่มต้นนับตั้งแต่ลูกเข้านอน หรือคิดว่าลูกหลับทันทีที่หัวถึงหมอน
นอกจากนี้ พ่อแม่ยังถูกซักถามเกี่ยวกับพฤติกรรมของเด็ก โดยใช้มาตรวัดที่ปกติใช้กับเด็กสมาธิสั้น
สิ่งที่พบคือ เด็กที่แอคติกราฟระบุว่านอนหลับเฉลี่ยคืนละไม่ถึง 7.7 ชั่วโมงมีอาการสมาธิสั้นและหุนหันพลันแล่นมากกว่าเด็กที่นอนนานกว่า
ดร.จูเลีย พาโวเนน ผู้นำการวิจัยเสริมว่า การนอนหลับอย่างเพียงพอมีแนวโน้มช่วยป้องกันอาการผิดปกติทางพฤติกรรมของเด็กได้ อย่างไรก็ดี จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันความเกี่ยวพันนี้
นีล สแตนลีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับจากมหาวิทยาลัยอีสต์ แองเกลีย ขานรับว่าการศึกษานี้บ่งชี้ว่ามีความคล้ายคลึงกันอย่างมากระหว่างเด็กที่มีอาการเพลียกับเด็กที่สมาธิสั้น ด้วยเหตุนี้ เด็กที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้นจึงอาจเปลี่ยนปลงพฤติกรรมหรือรักษาได้ด้วยการปรับรูปแบบการนอนให้เหมาะสมและเพียงพอยิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น