กทม.จับมือตำรวจจราจร และ สน.ท้องที่ ทดสอบให้สิทธิสัญญาณไฟจราจร รถบีอาร์ที จากช่องนนทรี ไปราชพฤกษ์ โดยไม่หยุดรถ พบใช้ 16 นาที ถึงปลายทาง “ธีระชน” โวให้บริการจริง 15 พ.ค.ไม่เกิน 30 นาทีแน่นอน เตรียมใช้ผลประโยชน์ผู้ว่าฯ กทม.-รัฐบาลพรรคเดียวกัน สยายแผนการเดินรถระบบขนส่งมวลชนใน กทม.เต็มที่
นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย พ.ต.อ.สมศักดิ์ โอภาสเจริญกิจ รองผู้บังคับการตำรวจจราจรกลาง และผู้บริหารจากสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร สน.ท้องที่ที่รถเมล์ด่วนพิเศษบีอาร์ทีสายช่องนนทรี-ราชพฤกษ์ วิ่งผ่าน ลงพื้นที่ตรวจสอบระบบการตัดสัญญาณไฟจราจร เพื่อให้สอดคล้องกับระบบขนส่งอัจฉริยะและระบบควบคุม (Intelligent Transportation System-ITS) ตามแยกที่รถบีอาร์ทีวิ่งผ่าน
ได้แก่ แยกถนนจันทร์ แยกรัชดาภิเษก แยกพระรามที่ 3 แยกวงแหวนอุตสาหกรรม แยกสาธุประดิษฐ์ แยกด่วนพระรามที่ 3 แยกเจริญราษฎร์ แยกถนนตก แยกบุคคโล แยกมไหศวรรย์ และแยกราชพฤกษ์ ซึ่งแยกที่ได้รับผลกระทบจากการให้สิทธิสัญญาณไฟจราจร จะมีจำนวน 4 แยกด้วยกัน ได้แก่ แยกถนนจันทร์ แยกรัชดาภิเษก แยกพระรามที่ 3 และแยกราชพฤกษ์ เนื่องจากต้องใช้ทางจราจรร่วมเป็นระยะทาง 5.5 กิโลเมตร ที่เหลือจะเป็นทางจราจรเฉพาะของบีอาร์ทีที่กั้นไว้เฉพาะระยะทาง 9.5 กิโลเมตร
โดยนายธีระชน กล่าวว่า จากการทดสอบระบบการให้สิทธิสัญญาณไฟจราจรครั้งนี้ ตั้งแต่สถานีช่องนนทรี ไปจนถึงสถานีราชพฤกษ์ ใช้เวลา 16 นาทีโดยไม่ได้มีการพักแวะตามสถานีอื่นๆ ซึ่งหากเปิดให้บริการน่าจะใช้เวลาไม่ถึง 30 นาที ในการเดินทางทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ทาง กทม.ได้พยายามเร่งรัดระบบขนส่งมวลชนที่เป็นส่วนเสริมโดยเฉพาะรถบีอาร์ที ซึ่งทางผู้บริหารได้มีมติเร่งรัดให้เปิดให้บริการให้ทันในวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 แม้จะมีปัญหาอยู่บ้างในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ในเรื่องของการตรวจสอบทั้งจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และ ป.ป.ช.แต่ กทม.ก็ได้พยายามทำงานอย่างรัดกุม
และล่าสุด ทางดีเอสไอได้แจ้งมาว่า งานต่างๆ สามารถเดินหน้าได้แล้ว ส่วนที่เป็นปัญหา คือ การจัดซื้อรถบีอาร์ที่อยู่ในการตรวจสอบของป.ป.ช.ก็ให้ดำเนินการไป ซึ่ง กทม.ได้มอบหมายให้กรุงเทพธนาคมเป็นผู้จัดหารถมาดำเนินการแทนเพื่อให้ประชาชนชาว กทม.ได้ใช้ประโยชน์
นายธีระชน กล่าวต่อว่า การจัดหาระบบขนส่งอัจฉริยะและระบบควบคุมนั้นในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2552 จะมีการลงนามในสัญญาณว่าจ้างให้บริษัท ไทยทรานส์ มิชชั่น อินดัสทรี ที่ได้รับสิทธิในการติดตั้งระบบ ITS มูลค่า 399,445,000 บาท ซึ่งคาดว่า วันที่ 15 มีนาคม-15 พฤษภาคม 2553 จะเป็นการทดสอบระบบการเดินรถทุกอย่างว่าเป็นไปตามที่วางแผนไว้หรือไม่ จากนั้นระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคม-15 สิงหาคม 2553 จะเป็นการปรับแต่งระบบการเดินรถ ซึ่งคล้ายกับที่ กทม.เปิดให้บริการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอส 2.2 กิโลเมตร ที่ช่วงแรกอาจจะขลุกขลักบ้าง แต่น่าจะง่ายกว่าบีทีเอส เนื่องจากบีทีเอสเป็นการเชื่อม 2 ระบบอาณัติสัญญาณเข้าด้วยกัน ส่วนการจัดเก็บค่าโดยสารนั้น หากระบบยังไม่สมบูรณ์มากนักก็จะยังไม่จัดเก็บแต่หากมีพร้อมเต็มที่แล้วก็จะจัดเก็บตามอัตราค่าโดยสารรถโดยสารปรับอากาศของ ขสมก.
ทั้งนี้ ในโอกาสครบรอบ 10 ปี รถไฟฟ้าบีทีเอสในวันที่ 6-8 ธันวาคมนี้ ผู้ว่าฯ กทม.จะกล่าวถึงภาพรวมระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่ กทมและพื้นที่ต่อเนื่องทั้งส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอส โมโนเรล 2 สายทาง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย-บรรทัดทอง ถนนเพชรบุรีตัดใหม่-ศาลาว่าการ กทม.2 ที่จะขอใช้งบประมาณไทยเข้มแข็งระบบไลท์เรล และรถเมล์ด่วนพิเศษบีอาร์ที ระยะทางรวม 130 กิโลเมตร ซึ่งขณะนี้นับเป็นโอกาสอันดียิ่ง เนื่องจากรัฐบาล และผู้ว่าฯ กทม.มาจากพรรคเดียวกัน จึงต้องรีบดำเนินการเท่าที่จะทำได้เพราะโอกาสแบบนี้ไม่เคยมีใน กทม.
ด้านนายอมร กิจเชวงกุล กรรมการผู้อำนวยการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) กล่าวว่า ขณะนี้มีหลายบริษัทให้ความสนใจเสนอตัวเข้ามาจัดการเดินรถซึ่งเคทีจะได้เตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เมื่อได้ลงนามสัญญาเป็นผู้บริหารจัดการเดินรถจาก กทม.แล้วจะสามารถเดินหน้าด้านต่างๆได้ทันที เพื่อให้ทันกับกำหนดเวลาเดินรถวันที่ 15 พฤษภาคม 2553