xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟฟ้าอาถรรพณ์ ใช้ผู้ว่าฯ เปลือง 4 คน บีอาร์ที..วันนี้ยังไปไม่ถึงไหน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายงานพิเศษ โดย....สาริน จันทะรัง
 
นับถอยหลังอีกไม่กี่วัน ที่คนไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะคนกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะมีโอกาสได้ขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอสส่วนต่อขยายสายสีลมจากสถานีตากสิน ถึงสถานีวงเวียนใหญ่ ระยะทาง 2.2 กิโลเมตร รถไฟลอยฟ้าสายประวัติศาสตร์สายแรกที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาฝั่งธนฯ ที่ทุกคนต่างรอคอยมานานเกือบ 10 ปี นับแต่จรดปากกาอนุมัติโครงการดังกล่าวช่วงปลายสมัย นายพิจิตต รัตตกุล เป็นผู้ว่าฯ กทม.ก็จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว โดยจะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้ระบบเต็มรูปแบบอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้

แต่รู้หรือไม่ว่า ก่อนที่จะวันที่ทุกคนได้ใช้บริการรถไฟฟ้าสมใจนึกนั้น มันสาหัสสากรรจ์ขนาดไหน !!

เพราะนับแต่มีการอนุมัติโครงการเมื่อเดือนมิถุนายน 2543 กระทั่งผ่านเข้าสู่ยุคของนายสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่าฯ กทม.ที่ได้เห็นทางยกระดับแต่ไร้รางยันรถวิ่ง จนล่วงเข้าสู่สมัยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าฯ กทม.ซึ่งในสมัยนี้ต้องใช้พลังวัตต์อย่างหนัก ในการต่อสู้เพื่อให้ส่วนต่อขยายดังกล่าวขับเคลื่อนต่อไปตามนโยบายที่ นายอภิรักษ์ ประกาศไว้ในขณะที่เป็นผู้ว่าฯ ที่มาจากพรรคตรงข้ามกับรัฐบาล เพราะท้ายที่สุด นายอภิรักษ์ ตัดสินใจประกาศเดินหน้าส่วนต่อขยายดังกล่าวเองโดยไม่ต้องรอให้รัฐบาลของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เปลี่ยนแปลงมติคณะรัฐมนตรี แต่ขอให้สภา กทม.เห็นชอบให้ กทม.สามารถลงทุนเองทั้งหมด 100%

และถึงแม้จะสามารถเดินหน้าโครงการได้เป็นผลสำเร็จ รถไฟลอยฟ้าสายอาถรรพ์ช่วงนี้ ก็ยังประสบกับปัญหาการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณว่าจะใช้ระบบใด เพราะเดิมที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ใช้ระบบฟิกซ์บอกซ์ แต่จะเปลี่ยนมาใช้ระบบมูฟวิ่งบอกซ์ ดังนั้น จึงจำเป็นที่ กทม.จะต้องจัดหาระบบให้ตรงกับที่บีทีเอสซีจะใช้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการเชื่อมต่อสัญญาณเดินรถ ซึ่งท้ายที่สุดก็ได้ใช้บริการจาก บ.บอมบาดิเอร์ ประเทศเยอรมนี เหมือนบีทีเอสซี

จนท้ายที่สุด เมื่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ซึ่งนับเป็นพ่อเมืองคนที่ 4 สำหรับรถไฟฟ้าสายประวัติศาสตร์นี้ ก็เปรียบเสมือนมารับช่วงต่อของงานที่อดีตผู้ว่าฯจากพรรคเดียวกันทำไว้ใกล้เสร็จแล้ว โดยคว้าตัวอดีตรองผู้ว่าฯ กทม.“ธีระชน มโนมัยพิบูลย์” สมัย นายพิจิตต ซึ่งเป็นคนลงนามเดินหน้าโครงการเข้ามาดูแล 2.2 กิโลเมตรนี้ ให้สำเร็จด้วยตนเองอีกครั้ง

และก็ไม่ผิดหวัง เพราะเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมาคนฝั่งธน มีโอกาสเห็นรถไฟฟ้าวิ่งบนราง แม้จะเป็นการทดลองระบบจากสถานีกรุงธนบุรี มายังสถานีวงเวียนใหญ่ จากเดิมที่กำหนดไว้จะทดลองในเดือนเมษายนนี้โดยผลการทดลองไร้ปัญหา ดังนั้น ในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ คนไทยทั้งประเทศจะได้นั่งรถไฟฟ้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นครั้งแรกของแท้และแน่นอน !!

ขณะที่ส่วนต่อขยายจากหมอชิตไปสะพานใหม่ และจากแบริ่งไปสมุทรปราการ ที่ กทม.ทำเรื่องถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณายกเลิกมติที่ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รับผิดชอบทั้ง 2 สาย ให้อนุมัติกลับมาอยู่ในความรับผิดชอบของ กทม.ก็ถูกตีกันจาก มท.1 ที่ชื่อ “ชวรัตน์ ชาญวีรกูล” ที่เห็นว่าควรที่จะให้ รฟม.ทำต่อไป ขณะที่เจ้ากระทรวงคมนาคม เด็กในคาถา “เนวิน ชิดชอบ” ที่ชื่อ “โสภณ ซารัมย์” ก็แสดงท่าทีชัดเจนไม่เห็นด้วยที่จะให้โอนกลับ กทม.คมนาคมดูแลนั้นเหมาะสมแล้ว

ฉะนั้น ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยากที่ กทม.จะได้ 2 สายทางกลับมาอยู่ในความรับผิดชอบ เพราะแม้จะฉวยโอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นรัฐบาลเสนอเรื่องนี้ไป แต่ก็ต้องพบกับอุปสรรค เพราะคนคุมกระทรวงที่เกี่ยวข้องหาใช่คนของ ปชป.ไม่ ดังนั้น จึงเป็นการบ้านที่คุณชายต้องคิดหนักว่าจะทำอย่างไรให้มันกลับมาอยู่ในอุ้งมือ กทม.!?

ตามมาที่โครงการรถเมล์ด่วนพิเศษ (บีอาร์ที) สายแรกช่องนนทรี-ราชพฤกษ์ เพราะนับแต่ “คุณหญิงณัษฐนนท ทวีสิน” อดีตปลัด กทม.ยื่นเรื่องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ขอให้ตรวจสอบการประกวดราคาจัดซื้อรถเมล์ด่วนพิเศษบีอาร์ที จำนวน 45 คัน มูลค่า 387 ล้านบาท ส่อเข้าข่ายกระทำความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) เหตุจัดซื้อแพงเกินจริง ซึ่งปาเข้าไป 1 ปีเต็มๆ ที่ดีเอสไอรับคดีนี้เป็นคดีพิเศษแล้วก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะได้บทสรุปว่าฮั้วกันจริงหรือไม่ แม้จะมีกระแสข่าวในเชิงลึกว่าดีเอสไอเตรียมสรุปสำนวนว่าการจัดซื้อรถบีอาร์ที ที่ บ.เบสท์ริน กรุ๊ป เป็นผู้ชนะการประมูลนั้นเป็นการฮั้วประมูล...

ก่อนหน้านี้ คณะผู้บริหาร กทม.ออกมาระบุว่า จะเดินหน้าโครงการนี้ต่อ และจะเปิดให้บริการในวันที่ 5 ธันวาคม 2552 โดยในส่วนของการตรวจสอบทุจริตก็ให้ดีเอสไอเดินหน้าตรวจสอบจนกว่าจะได้ข้อสรุป ส่วน กทม.จะเร่งประกวดราคาหาบริษัทมาเดินรถแทนจัดซื้อรถที่มีปัญหาอยู่ แม้ก่อนหน้านี้ ทางสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม.จะเคยเสนอให้ยกเลิกสัญญาจัดซื้อรถเพื่อประกวดราคาซื้อรถรายใหม่ แต่อัยการกลับเห็นแย้งเกรงกทม.ถูกฟ้องแพ่งเพราะผลตรวจสอบยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่ง กทม.ก็เห็นด้วยจึงหันมาใช้วิธีการนี้แทน

ทว่า เมื่อดีเอสไอเตรียมฟันธงฮั้วประมูลและพร้อมส่งต่อให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด  กระบวนการจัดหาจ้างผู้เดินรถต้องหยุดชะงักทันที ความฝันที่จะเปิดให้ใช้บริการในวันพ่อแห่งชาติก็มีอันต้องพับใส่กระเป๋ากินแห้วอีกครั้ง หลังต้องชะลอโครงการกันข้ามปี งานนี้คนที่นึกสมน้ำหน้าอยู่ในใจคงไม่ใช่ใครที่ไหน หากแต่เราๆ ท่านๆ คงรู้กันดีเพราะเขาคนนี้คือ....? 
กำลังโหลดความคิดเห็น