xs
xsm
sm
md
lg

BRT สะดุดปัญหาจัดซื้อ ผู้ว่าฯ กทม.เล็งเช่าแทน - คาดเปิดบริการภายในปี 53

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมคณะผู้บริหาร เดินทางตรวจเยี่ยมความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (บีอาร์ที) สายช่องนนทรี-ราชพฤกษ์ ประกอบด้วย 12 สถานี ที่บริเวณสถานีราชพฤกษ์ โดยกล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการ ในส่วนของสถานีว่า คืบหน้าไปมาก สถานีที่ 2-11 ขณะนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนสถานีที่ 1 และ 12 คืบหน้าแล้วกว่าร้อยละ 70 ขณะนี้ได้เร่งให้ก่อสร้างให้เสร็จโดยเร็วที่สุด แต่ในส่วนที่อาจต้องใช้เวลา ก็คือ การติดตั้งระบบ ITS (Intelligent Traffic System) เป็นระบบควบคุมความปลอดภัยของรถ โดยจะส่งสัญญาณเตือนก่อนถึงไฟจราจร 100 เมตร และควบคุมให้รถจอดเทียบห่างจากสถานี 70 เซนติเมตร
ส่วนการจัดซื้อรถที่ขณะนี้มีปัญหา โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้ามาตรวจสอบการทุจริตการจัดซื้อรถนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า ในทางหลักการหาก กทม.จัดซื้อไม่ได้ จะใช้วิธีเช่าแทน แต่หากปล่อยไว้จะเท่ากับว่าลงทุนไปโดยเปล่าประโยชน์ ขณะนี้ได้มอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นวิสาหกิจหน่วยงานหนึ่งของ กทม. จัดหารถเช่า ตั้งงบประมาณสำหรับการบริหารจัดการรถบีอาร์ที ระยะเวลา 7 ปี ปีละ 200 ล้านบาท ขณะที่แนวทางการเช่ารถมาวิ่งนั้น ต้องรอให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จัดทำและเสนอเข้ามา ซึ่งเป็นหน้าที่ของบริษัท ในการไปว่าจ้างและต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงทั้งหมด ส่วนระบบ ITS มูลค่ากว่า 400 ล้านบาท อยู่ในระหว่างการร่างสัญญากับบริษัท ไทยทรานสมิชชั่น อินดัสทรี จำกัด คาดว่าทั้งสองจะลงนามสัญญาได้ในเดือนพฤศจิกายนนี้ เนื่องจากต้องรอให้ผ่านการพิจารณางบประมาณปี 2553 จากรัฐบาล ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวอีกว่า ตั้งใจจะให้โครงการ เริ่มทดลองการเดินรถทั้งระบบได้ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 และเปิดให้บริการแก่ประชาชนอย่างเป็นทางการภายในปี 2553 โดยค่าโดยสารของรถโดยสารด่วนพิเศษบีอาร์ที จะอยู่ที่ 12-18 บาท ตามระยะทาง และจะมีการสร้างทางเดินลอยฟ้าและลานอเนกประสงค์เชื่อมโยงเส้นทางเดินระหว่างรถไฟฟ้าบีทีเอสและบีอาร์ที ในสถานีช่องนนทรี และที่ราชพฤกษ์ แต่ในช่วงที่เปิดให้บริการเดือนพฤษภาคม 2553 ลานอเนกประสงค์อาจจะยังไม่เสร็จ แต่ทางเดินก็จะสามารถเดินเชื่อมโยงได้
นอกจากนี้ กทม.มีแผนจะขยายการก่อสร้างเพิ่มอีกโครงการ คือ สายหมอชิต-ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ ระยะทาง 13.5 กิโลเมตร 7 สถานี และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขยายไปถึง จ.นนทบุรี เพราะจากการสำรวจเพิ่มระยะอีกประมาณ 2 กิโลเมตร จะสามารถเพิ่มผู้โดยสารได้อีกมาก จึงคุ้มที่จะสร้างเพิ่ม และเตรียมก่อสร้างเพิ่มเติมอีก 2-3 เส้นทาง อาทิ ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ และจากในตัวเมืองไปสุวรรณภูมิ ทั้งนี้ ต้องรอให้โครงการที่ 2 ดำเนินการก่อนจึงจะเริ่มได้
กำลังโหลดความคิดเห็น