xs
xsm
sm
md
lg

“ดีเอสไอ” โยน ป.ป.ช.ชี้ขาดคดีบีอาร์ที หลังพบเข้าข่ายฮั้ว!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

(แฟ้มภาพ)
ดีเอสไอโยน ป.ป.ช.พิจารณาสำนวนคดีบีอาร์ที เผยผลสอบเบื้องต้นระบุเพียงโครงการที่เข้าข่ายความผิดฐานฮั้วประมูล ไม่เจาะจงตัวบุคคลที่กระทำผิด

วันนี้ (2 ก.ค.) พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข ผบ.สำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนกรณีมีผู้ร้องเรียนให้ตรวจสอบความไม่โปร่งใสในโครงการรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (บีอาร์ที) ว่า ขณะนี้ได้สรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างแก้ไขถ้อยคำบางส่วน คาดว่าเร็วๆ นี้จะเสนอกลับไปให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พิจารณาส่งสำนวนให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการต่อไป

อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นนั้น ดีเอสไอไม่ได้ชี้มูลความผิด หรือระบุเจาะจงไปที่ตัวบุคคล เพียงแต่ระบุว่าโครงการมีงานใดบ้างที่น่าจะเข้าข่ายความผิดฐานฮั้วประมูล เช่น การจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาโครงการ การจัดตั้งให้บริษัท กรุงเทพธนาคม เป็นผู้บริหารโครงการรถบีอาร์ที และการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ สถานีหยุดรถบีอาร์ที รวมถึงการจัดซื้อรถบีอาร์ที

รายงานข่าวเปิดเผยว่า สำหรับคดีนี้ คุณหญิงณฐนนท ทวีสิน อดีตปลัดกรุงเทพมหานคร ได้นำหลักฐานเข้ากล่าวโทษต่อดีเอสไอตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ.2551 โดยขอให้ตรวจสอบความไม่โปร่งใสในการประกวดราคาจัดซื้อรถบีอาร์ที ในราคาคันละ 7 ล้านบาท ซึ่งแพงกว่าราคาในท้องตลาดที่ขายในราคา 4 ล้านบาท อีกทั้งยังมีการกำหนดสเปกที่กำหนดไว้ไม่มีบริษัทรถยนต์ชั้นนำค่ายใดผลิตรถยนต์ตามสเปคดังกล่าว เช่น ทีโออาร์ที่กำหนดเกี่ยวกับระบบเบรก และความสูงของรถยนต์ที่กำหนดให้พอดีกับชานชาลา โดยคุณสมบัติที่กำหนดไว้อาจเป็นการกำหนดคุณลักษณะให้ผิดแผกแตกต่างจากคุณลักษณะทั่วไป ทำให้บริษัททั่วไปไม่สามารถเข้าร่วมประกวดราคาได้ ขั้นตอนการประมูลอาจเป็นการจ้างทำของมากกว่าการจัดซื้อจัดจ้าง

รายงานข่าวเปิดเผยอีกว่า การสืบสวนของดีเอสไอพบว่า แม้ว่าการจัดซื้อรถบีอาร์ทีล็อตแรกจะเป็นการซื้อจำนวน 45 คัน แต่มีการกำหนดข้อผูกพันให้บริษัทผู้ยื่นประกวดราคาเป็นผู้ดูแลรักษาการใช้งานรถบีอาร์ที จึงอาจมีผลให้บริษัทที่ชนะการประกวดราคาครั้งนี้ได้รับเลือกเป็นคู่สัญญาในโครงการต่อไปได้ นอกจากนี้ การจัดจ้างให้บริษัท กรุงเทพธนาคม ขึ้นเป็นผู้บริหารจัดการโครงการบีอาร์ทีอาจไม่ถูกต้องตามระเบียบ เพราะบริษัท กรุงเทพธนาคม ไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องการเดินรถสาธารณะมาก่อน หากบริษัทบริหารงานไม่ดี กทม.จะฟ้องร้องเอาผิดกับใครไม่ได้ เพราะ กทม.เป็นผู้ถือหุ้นทั้ง 100% ในบริษัท กรุงเทพธนาคม
กำลังโหลดความคิดเห็น