กทม.เล็งแก้สัมปทานให้ “บีทีเอสซี” กินรวบส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าทุกสายทางแต่ต้องจ่ายค่าก่อสร้างทั้ง 3 สายทางคืน พร้อมเสนอค่าตอบแทนให้ กทม.อย่างคุ้มค่า คาดใช้เวลาปีครึ่งทันเปิดให้บริการอ่อนนุช-แบริ่ง และวงเวียนใหญ่-บางหว้าปี 2554 ขณะที่บีอาร์ทีไปเมืองทองเสนอให้เช่าที่ราคา 1 บาท แทนการใช้ฟรีเหตุติด พ.ร.บ.ร่วมทุน
นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงแนวทางการบริหารโครงการระบบขนส่งมวลชนของกรุงเทพมหานคร ที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ ส่วนต่อขยายสถานีตากสิน-สถานีวงเวียนใหญ่ ระยะทาง 2.2 กิโลเมตร ส่วนต่อขยายจากวงเวียนใหญ่-บางหว้า ระยะทาง 5.3 กิโลเมตร ส่วนต่อขยายช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง ระยะทาง 5.25 กิโลเมตร โดยที่ปรึกษาโครงการได้เสนอให้พิจารณา 2 แนวทางโดยทำคู่ขนานกันไป ซึ่งแนวทางแรก คือ ให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เข้ามาเป็นผู้บริหารจัดการเดินรถส่วนต่อขยายที่ กทม.รับผิดชอบในฐานะเป็นวิสาหกิจของ กทม.ทั้งหมด ซึ่งขณะนี้รับผิดชอบส่วนต่อขยาย 2.2 กิโลเมตรอยู่แล้ว
ขณะเดียวกัน ก็ให้พิจารณาแก้ไขสัญญาสัมปทานที่ กทม.ทำไว้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี โดยให้บีทีเอสซีเสนอค่าตอบแทนกลับมาให้ กทม.พร้อมทั้งจ่ายค่าก่อสร้าง ระบบอาณัติสัญญาณ ค่าดำเนินการทั้งหมดที่ กทม.ลงทุนไปทั้ง 3 สายทาง ซึ่งหากแก้ไขสัญญาสัมปทานไม่ทันก็ให้ทางกรุงเทพธนาคมบริหารจัดการโครงการต่อไป
นายธีระชน กล่าวอีกว่า เหตุที่มีการเสนอให้แก้ไขสัญญาสัมปทานที่ กทม.ทำไว้กับบีทีเอสซีนั้น เนื่องจากก่อนหน้านี้ทางบีทีเอสซีได้ให้ความสนใจที่จะลงทุนก่อสร้างส่วนต่อขยายจากหมอชิต-สะพานใหม่ และ แบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่งมีมูลค่าถึง 60,000 ล้านบาท แต่ขณะนี้กระทรวงมหาดไทยยังไม่ได้นำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเปลี่ยนแปลงมติ ครม.ให้ 2 สายทางกลับมาอยู่ในความรับผิดชอบของ กทม.แต่อย่างใด ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่จะแก้สัมปทานให้บีทีเอสซีเข้ามารับช่วงบริหารจัดการต่อ โดยที่ กทม.ไม่ต้องเปลืองงบประมาณในการว่าจ้างบริษัทกรุงเทพธนาคม ซึ่งปัจจุบันนี้ว่าจ้างปีละ 200 ล้านบาท ในการบริหารโครงการขณะที่ประมาณการส่วนแบ่งรายได้จะอยู่ที่ 200 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเท่าทุนแต่หากให้บีทีเอสซีเข้ารับสัมปทานก็จะต้องเสนอเงื่อนไขค่าตอบแทนกลับมาให้ กทม.
ทั้งนี้ ในส่วนนี้คณะกรรมการพิจารณา พ.ร.บ.ร่วมทุนไปดูและจัดทำรายละเอียดทั้งหมดเสนอมาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เรื่องการแก้ไขสัมปทานต้องผ่านหลายขั้นตอน ต้องมีการเห็นชอบจาก ครม.คาดว่า จะใช้เวลาประมาณ 1 ปี 6 เดือน จึงจะสิ้นสุดทุกกระบวนการซึ่งจะประจวบเหมาะกับการเปิดให้บริการจริงของส่วนต่อขยายอ่อนนุช-แบริ่ง และ วงเวียนใหญ่-บางหว้า ในต้นปี 2554 พอดี
นายธีระชน กล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้าโครงการรถเมล์ด่วนพิเศษบีอาร์ที สายหมอชิต-ศูนย์ราชการ และขยายเส้นทางไปเมืองทองธานีตามที่บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด ได้เสนอพื้นที่ 2 จุดของโครงการเมืองทองธานีให้กทม.จัดทำเป็นสถานีรถบีอาร์ทีและสร้างอาคารศูนย์ซ่อมบำรุงรถบีอาร์ที (Depot) โดยไม่คิดค่าเช่านั้น จากการหารือกับคณะผู้บริหาร กทม.เห็นว่า หากให้ฟรีจะเข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุน ดังนั้น จึงควรเช่าแต่ขอให้เช่าถูกๆหากแพงก็ให้ล้มเลิก เช่น กทม.เช่าที่ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์สร้างสวนสาธารณะ (สนามหลวง 2) ในราคาปีละ 1,000 บาท ระยะเวลา 30 ปี
อย่างไรก็ตาม กทม.ไม่จำเป็นต้องต่อเส้นทางบีอาร์ทีไปเมืองทอง เพราะ กทม.มีทางเลือกโดยจะขอใช้พื้นที่ของกรมธนารักษ์ที่หมอชิต เป็นศูนย์ซ่อมบำรุงและอู่จอดรถ ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาระบุว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดโดยรถบีอาร์ทีจะวิ่งไปถึงแยกปากเกร็ดแล้วให้เลี้ยวกลับมาตามเส้นทางเดิม ส่วนเมืองทองนั้นให้มีรถรับส่งเข้าระบบบีอาร์ทีแทน
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ในการประชุมคณะผู้บริหารเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่ผ่านมา ประเด็นส่วนต่อขยายรถเมล์ด่วนพิเศษบีอาร์ทีไปเมืองทองธานี ได้มีการถกเถียงกันอย่างหนักในเรื่องหากจะต้องเช่าที่เมืองทองธานีจริงก็ควรที่จะเช่าในราคาถูกที่สุด ซึ่งได้มีการเสนอกลางที่ประชุมว่าหากบางกอกแลนด์ต้องการให้ กทม.ใช้พื้นที่เพื่อสาธารณประโยชน์จริงก็น่าจะคิดอัตราค่าเช่าที่เพียง 1 บาทเท่านั้นซึ่งการเช่าที่ในราคาเหมือนให้เปล่านี้กทม.เองก็เคยทำมาแล้ว