สธ.เผยวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ล็อตแรกมาถึงไทย ธ.ค.นี้ เตรียมฉีดให้หญิงตั้งครรภ์กลุ่มแรก 2.1 แสนโดส วัคซีนสำหรับกลุ่มเสี่ยงอื่น 7.9 แสนโดส ส่วนเกณฑ์ได้รับวัคซีน ให้แพทย์พยาบาล 4 เสนคน หญิงตั้งครรภ์ 8 แสน คนอ้วน-ผู้พิการทางสมอง อีกกลุ่มละกว่า 1 แสนคน ผู้ป่วยเรื้อรัง 6 แสนคน ขณะที่เตรียมพร้อมยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวยร์ 50 ล้านกว่าเม็ด มั่นใจเพียงพอรับมือผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009 ระลอก 2 แน่นอน
วันที่ 5 พฤศจิกายน นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อดูระบบความพร้อมการผลิตยาต้านไวรัสโอเซลทาเวียร์ ชนิดแคปซูล ในการสำรองยาและวัคซีนรับมือกับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ว่า จากการตรวจสอบยาที่รักษาไข้หวัดใหญ่ 2009 ทั้งวัตถุดิบและยาที่บรรจุแคปซูลแล้ว พบว่า มีพอเพียง โดยได้กระจายยาไปทั่วประเทศแล้ว 7 ล้านกว่าเม็ด และพร้อมจะส่งอีก 4 ล้านกว่าเม็ด และยังมีวัตถุดิบพร้อมที่จะผลิตเพิ่มอีก 40 ล้านเม็ด รวมแล้วขณะนี้เรามียาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ ประมาณ 50 ล้านกว่าเม็ด เพียงพอต่อการใช้แน่นอน นอกจากนี้ องค์การเภสัชกรรมมีหน้ากากอนามัยเพื่อใช้ป้องกันการติดเชื้อไว้ 7 ล้านกว่าชิ้น มีทั้งชนิดที่ใช้กับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไป และสำรองเพิ่มอีก 3 ล้านชิ้น
นายมานิต กล่าวต่อว่า สำหรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ล็อตแรกที่สั่งซื้อจากต่างประเทศ จะมาถึงประเทศไทยจำนวน 1 ล้านโดส ในเดือนธันวาคม 2552 จากนั้นอีก1 ล้านโดสจะมาถึงในเดือนมกราคม 2553 ซึ่งจำนวนวัคซีน 1 ล้านโดสแรก จะแบ่งเป็น 1.วัคซีนแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ (Antigen) จำนวน 2 10,000 โดส สำหรับฉีดให้กับหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากในหญิงตั้งครรภ์มีร่างกายอ่อนแอ จึงจำเป็นต้องได้รับวัคซีนแท้ 2.วัคซีนผสม สารกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Adjuvant) เพื่อฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงทั่วไป 790,000 โดส
“ที่เป็นห่วงและกำลังติดตามขณะนี้ ก็คือ เรื่องวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่อภ.เป็นผู้ผลิต โดยเฉพาะไข่ที่นำมาใช้ เนื่องจากหาก อภ.สามารถผลิตวัควีนได้เอง ก็จะสามารถฉีดให้อาสาสมัครได้ประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน 2552 นี้ หากได้ผลการฉีดในอาสาสมัครเรียบร้อยแล้ว และจะผลิตในเชิงอุตสาหกรรมเพื่อใช้ฉีดให้คนไทย เราจะต้องใช้ไข่ถึงวันละ 15,000 ฟอง และเป็นไข่ที่สะอาด ปลอดโรค มีระบบการเลี้ยงได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับขององค์การอนามัยโลก ซึ่งประเทศไทยสามารถนำไข่ที่กรมปศุสัตว์ผลิตนำมาใช้ผลิตวัคซีนสำหรับคนได้ แต่จะมีปัญหาในเรื่องของกำลังการผลิต ซึ่งในขั้นตอนนี้จะต้องดูโรงเลี้ยงไก่ของกรมปศุสัตว์และโรงเลี้ยงของภาคเอกชน หากสามารถดำเนินการได้ตามมาตรฐานคุณภาพเทียบเท่าต่างประเทศ ก็สามารถนำมาดำเนินการ เพื่อให้เป็นคู่ขนานกับวัคซีนที่สั่งนำเข้าจากต่างประเทศ” นายมานิต กล่าว
ภก. สมชาย ศรีชัยนาค รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า ในหญิงตั้งครรภ์โดยปกติมีร่างกายอ่อนแอ การรับวัคซีนจำเป็นต้องเพิ่มความระมัดระวัง ดังนั้นสารที่ใช้ฉีดเข้าไปในร่างกายจะต้องมีความปลอดภัยสูง ส่วนสารกระตุ้นภูมิคุ้มกัน จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของวัคซีน เนื่องจากวัคซีนแท้มีจำนวนจำกัดไม่สามารถ
ผลิตจำนวนมากได้ ทางบริษัทผู้ผลิตจึงต้องมีการเพิ่มสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันลงไปในวัคซีน ใช้สำหรับคนทั่วไป โดยราคาวัคซีนที่สั่งซื้อตกโดสละ 5 ยูโร
นพ.สมชัย นิจพานิช รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 จำนวน 2 ,000,000 คน เบื้องต้นกำหนดให้เป็นบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 400,000 คน หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์มากกว่า 3 เดือนขึ้นไป 800,000 คน ผู้ที่มีน้ำหนักมากอยู่ในภาวะอ้วน 123,000 คน ผู้ที่มีความพิการทางสมอง 103,000 คน ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เบาหวาน หัวใจ ความดันโลหิต จำนวน 600,000 คน