xs
xsm
sm
md
lg

ยอดตายหวัดใหญ่ 2009 ลดลง-ห่วงเหนือ/อีสานระบาดหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หวัดใหญ่ 2009 ยอดตายลดลง เหลือแค่ 5 ราย ยอดสะสมรวม 165 ราย ส่วนใหญ่ตายเพราะมีโรคประจำตัว แถมได้ยาต้านไวรัสช้า ห่วง 38 จังหวัดในอีสาน เหนือ ยังระบาดหนัก เทศกาล เด็กปิดเทอม

วันที่ 30 กันยายน ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่ 20-26 กันยายน 2552 มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 5 ราย เป็นชาย 2 ราย และหญิง 3 ราย อยู่ในจังหวัด สกลนคร 2 ราย มหาสารคาม อุดรธานี และสุรินทร์ จังหวัดละ 1 ราย ถือว่าลดลงจากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา วันที่ 13-19 กันยายน 2552 ที่มีผู้เสียชีวิต 7 ราย ทำให้ขณะนี้ประเทศไทยมียอดผู้เสียชีวิตสะสมทั้งสิ้น จำนวน 165 ราย

“ผู้เสียชีวิตทั้ง 5 ราย เป็นผู้มีโรคประจำตัว ทั้งโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็งเม็ดเลือด และสตรีตั้งครรภ์ นอกจากนี้ปัจจัยหนึ่งที่เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตคือผู้ป่วยยังได้รับยาต้านไวรัสช้า ขณะที่ภาพรวมของการให้ยาต้านไวรัสกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ของทั้งประเทศเริ่มดีขึ้น คือได้ยาภายใน 2 วันหลังมีอาการป่วย” นพ.ไพจิตร์ กล่าว

นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้แนวโน้มการระบาดในประเทศไทยเริ่มชะลอตัวลงแล้ว แต่ยังมีบางพื้นที่ระบาดหนักอยู่โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ส่วนจำนวนผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่เริ่มป่วยในรอบ 14 วันที่ผ่านมา พบจำนวน 297 ราย ใน 38 จังหวัด โดย จ.พะเยา มีผู้ป่วยยืนยันมากที่สุด ซึ่งผู้ป่วยที่พบส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอเมืองของจังหวัดต่างๆ มากที่สุด อาทิ อ.เมืองขอนแก่น อุดรธานี ลำปางและพะเยา ดังนั้น ขอให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจะเกิดอาการรุนแรงในจังหวัดภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือระมัดระวังตัวเป็นพิเศษ หากป่วยเป็นไข้หวัดขอให้รีบพบแพทย์รักษาทันที

“ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้ มีความน่าเป็นห่วง เพราะเป็นช่วยที่มีเทศกาลหลายอย่างทั้ง งานทอดกระถิน งานออกพรรษา และช่วยปิดเทอมของนักเรียนต่างๆ ที่มีโอกาสเดินทางไปต่างจังหวัด หรือเข้ากรุงเทพฯ ไปร่วมกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น ซึ่งอาจมีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 รวมอยู่ด้วย และทำให้แพร่เชื้อสู่คนอื่นได้ง่าย ดังนั้น หากใครมีอาการป่วย มีไข้ให้พักอยู่กับบ้านและงดเดินทางด้วย” นพ.ไพจิตร์ กล่าว

นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า นอกจากโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 แล้ว ในบางพื้นที่ที่มีปัญหาน้ำท่วมขัง ต้องระมัดระวังโรคติดต่อที่พบได้บ่อย ได้แก่ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลและโรคตาแดง โดยสำนักระบาดวิทยา รายงานผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม-29 กันยายน 2552 พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ 60,469 ราย และตาแดง 77,973 ราย ซึ่งการแพร่กระจายของเชื้อโรคดังกล่าว มี 2 ทาง คือจากการสัมผัสโดยตรง เช่น การคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือไอ จามรดกัน ส่วนการติดเชื้ออีกทางคือ การติดเชื้อมากับมือที่ไปสัมผัสสิ่งของเครื่องใช้ที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน แล้วมาสัมผัสกับจมูก ตา หรือนำเข้าปาก ซึ่งการล้างมือบ่อยๆ และสวมหน้ากากอนามัย จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้
กำลังโหลดความคิดเห็น