“วิทยา” เต้นญาติผู้ป่วยหวัดร้อง “มาร์ค” รพ.เอกชนจ่ายโอเซลทามิเวียร์ช้าทำหลานเสียชีวิต สั่งกองการประกอบโรคศิลปะ ตรวจสอบโรงพยาบาลเอกชน 2 แห่งทันที พร้อมประสานแพทยสภาตรวจสอบด้านมาตรฐานการรักษา คาดอีก 5 วัน ทราบผล
จากกรณีที่นางพวงผกา พิพัฒน์เบญจพล อายุ 42 ปีชาวกทม. ได้ร้องเรียนนายกรัฐมนตรี กรณีนายพีรวีร์ ดวงสินกุลบดี อายุ 28 ปี ซึ่งเป็นหลานชาย ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่และเสียชีวิตแล้ว เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2552 เนื่องจากได้รับยาต้านไวรัสโอเซลมิมเวียร์ช้า โดยผู้เสียชีวิตรายนี้ป่วยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2552 ญาติพาไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เนื่องจากเกรงว่าจะป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เพราะมีบุคคลในบ้านป่วยอยู่ 1 คน แต่กลับได้รับการดูแลรักษาเช่นเดียวกับผู้ป่วยไข้หวัดธรรมดา นอนอยู่ 3 วันไม่ได้รับยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ และแพทย์ให้กลับบ้าน เสียค่ารักษา 3 หมื่นบาท เมื่อไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งที่ 2 ซึ่งเป็นเครือข่ายเดียวกัน นอนอยู่ 9 คืน เสียค่ารักษา 3 แสนบาท โดยได้รับยาต้านไวรัสโอเซลมามิเวียร์ประมาณวันที่ 3-4 โดยทางโรงพยาบาลบอกว่าหาเชื้อยังไม่เจอ และไม่เป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แต่อาการของผู้เสียชีวิตหนักมาก จึงย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ นอนอยู่ในห้องไอซียู 28 วัน ก็เสียชีวิตเมื่อ3 สิงหาคม 2552 เสียค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 3 ล้านบาท โดยไม่ติดใจ รพ.บำรุงราษฎร์ แต่ติดใจโรงพยาบาลเอกชนแห่งที่ 1 และ 2 ที่ให้ยาต้านไวรัสช้านั้น
เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมาตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้มอบหมายให้กองการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงที่โรงพยาบาลเอกชนที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษา โดยจะขอรายละเอียดการดูแลรักษาผู้เสียชีวิต พร้อมทั้งดูมาตรฐานของโรงพยาบาลทั้งผู้ประกอบวิชาชีพ บุคลากร เครื่องมือแพทย์ และสถานที่ด้วยว่าเป็นไปตามข้อกำหนดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 หรือไม่ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และจะส่งข้อมูลให้แพทยสภา เพื่อตรวจสอบมาตรฐานการรักษาว่าเป็นไปตามจริยธรรมหรือไม่ คาดว่าจะทราบผลในอีก 5 วัน
“ผู้เสียหายร้องเรียนการวินิจฉัยโรคที่คลาดเคลื่อนและการให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ช้าเกินไป ส่วนค่ารักษาพยาบาลไม่มีปัญหาอยู่แล้ว ดังนั้น คงต้องพิจารณาว่า โรงพยาบาลเอกชนได้ปฏิบัติตามแนวทางการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 มีอยู่ในคู่มือแพทย์อยู่แล้วหรือไม่ เช่น ลักษณะอาการที่ต้องได้รับยาต้านไวรัส คือ มีไข้ร่วมกับอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นปวดกล้ามเนื้อ อาเจียน หรือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับยาทันท่วงทีหรือไม่” นายวิทยากล่าว
นายวิทยา กล่าวด้วยว่า เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว พบว่าเป็นความบกพร่องของโรงพยาบาลเอกชนจริง อาจจะมีการเรียกประชุมโรงพยาบาลเอกชนเพื่อทำความเข้าใจอีกครั้ง แต่หากไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดของโรงพยาบาลทุกฝ่ายต้องได้รับความเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม ต้องแสดงความเสียใจกับญาติของผู้เสียชีวิตด้วย
เมื่อถามว่า คิดเห็นอย่างไรที่มีผู้ที่ร้องเรียนนายกรัฐมนตรีโดยไม่มาร้องเรียนกับกระทรวงสาธารณสุขก่อน นายวิทยา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเป็นหลักของประเทศ ไปร้องเรียนกับนายกฯ แต่ท่านก็ต้องส่งเรื่องกลับมาที่กระทรวงสาธารณสุขอยู่ดี แต่เรื่องนี้ยังไม่มีโอกาสหารือกับนายกฯ
นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้กระจายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ไปยังโรงพยาบาลต่างๆทั้งรัฐเอกชนและคลินิก เพื่อให้ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ได้รับยาเร็วขึ้น พร้อมทั้งให้ทุกจังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่ป่วยด้วยอาการไข้หวัด ให้ปฎิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ประชาชนที่ไม่มีโรคประจำตัว หากมีไข้ ไอ และอาการไม่ดีขึ้น ไข้ไม่ลดลงภายใน 2 วัน ขอให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล
นพ.สุพรรณ กล่าวต่อว่า ส่วนกลุ่มเสี่ยงที่ต้องรีบพบแพทย์ตรวจรักษาหลังมีอาการป่วยไข้หวัดใหญ่ แม้ว่าอาการจะรุนแรงหรือไม่ก็ตาม ไม่ควรซื้อยากินเอง ได้แก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไต โรคลมชัก โรคเลือด โรคมะเร็ง โรคเอสแอลอี ผู้ติดเชื้อเอชไอวี เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ และผู้ที่มีภาวะอ้วน ขอให้ไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากหากป่วยแล้ว อาจมีโรคแทรกซ้อนรุนแรงสูงกว่าคนทั่วไป และหากประชาชนมีข้อสงสัย ขอให้โทรสอบถามสายด่วนไข้หวัดใหญ่ทางหมายเลข 1422 และ 0-2590-3333 ตลอด 24 ชั่วโมง