xs
xsm
sm
md
lg

ประชุมผู้เชี่ยวชาญฮูปรับแนวรักษาหวัดใหญ่ 2009 เหมือนกันทั่วโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประชุมผู้เชี่ยวชาญฮูปรับแนวทางรักษาหวัดใหญ่2009ทิศทางเดียวกันทั่วโลก “หมอทวี” ชี้ มาตรการของไทยไม่แตกต่างจากมาตรฐานโลก เผยใช้ยาต้านไวรัสรักษาผู้ป่วยในรายจำเป็นและมีอาการรุนแรง เพียงร้อยละ 1-2 เท่านั้น

วันที่ 25 มิถุนายน รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ระดับ 11 กรมการแพทย์ กล่าวว่า ได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยเดินทางเข้าร่วมประชุมกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ระหว่างวันที่ 17-24 มิถุนายน ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีประเทศพัฒนาแล้ว ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อังกฤษ ออสเตรเลีย และประเทศกำลังพัฒนาอีก 2 ประเทศได้แก่ ไทย และเม็กซิโก เข้าร่วมประชุมเพื่อหารือแนวทางการใช้ยาต้านไวรัสรักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมกับรับมือปัญหาดื้อยาในอนาคต เนื่องจากเดิมเป็นแนวทางการรักษาผู้ป่วยไข้หวัดนก ไม่เหมาะกับการใช้รักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ในปัจจุบัน

“ที่ประชุมมีความเห็นเป็นทิศทางเดียวกันโดยได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า แนวทางการใช้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์รักษาผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางเดียวกันทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย โดยจะใช้ยาต้านไวรัสต่างๆ ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงซึ่งมีร้อยละ 1-2 และใช้ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ป่วยเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้ป่วยสูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันโรคต่ำ ผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอด ฯลฯ หรือผู้ป่วยที่เกิดขึ้นเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ๆ เช่น การประบาดในโรงเรียน ที่เหลือไม่จำเป็นต้องใช้ยา และการใช้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์รักษาต้องใช้อย่างสมเหตุสมผลโดยใช้ยาต้านไวรัสนั้นใช้เฉพาะมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่ชัดเจนเท่านั้น ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับที่ไทยได้ดำเนินการอยู่แล้ว ขณะที่หลายประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วได้เริ่มปรับมาตรการแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนนาดา เป็นต้น”รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว

ยัน มาตรการหวัดใหญ่ 2009 ของไทยถูกทางไม่แตกต่างมาตรฐานโลก

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวต่อว่า องค์การอนามัยโลกได้ให้ความเห็นว่า ไทยวางเกณฑ์การใช้ยาต้านไวรัสใหม่เป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว เพราะจากการศึกษาเป็นเวลา 2 เดือน หลังไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ระบาด พบข้อมูลว่า การใช้ยาต้านไวรัสทั้งการรักษาและป้องกันในกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยแบบหว่านแห คือให้ยากับผู้ป่วยทุกรายนั้นได้ผลน้อยมาก ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ในทางตรงข้ามกลับส่งผลกระทบทำให้เชื้อดื้อยาได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ทั่วโลกยังไม่พบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ดื้อยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ และยาต้านไวรัสซานามิเวียร์แต่อย่างใด แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพราะเชื้อมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

“นอกจากนี้ ชัดเจนแล้วว่า การตรวจยืนยันผลเชื้อทางห้องปฏิบัติการในผู้ป่วยทุกรายเกิดประโยชน์น้อยมาก แม้แต่ประเทศที่มีทรัพยากรมาก ก็มองว่าการตรวจเชื้อถือเป็นการสูญเปล่า ไม่คุ้มค่า” รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว

เผยผู้ป่วยตาย 60-65% เป็นกลุ่มเสี่ยง โรคอ้วน ภูมิต้านทานต่ำ

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวว่า ที่ประชุมยังมีการวิเคราะห์ถึงอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จากทั่วโลก ซึ่งข้อมูลเบื้องต้น พบว่า ผู้เสียชีวิต ร้อยละ 60-65 อยู่ในกลุ่มเสี่ยง คือเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี คนสูงอายุมากกว่า 65 ปี หรือมีโรคประจำตัว ภูมิต้านทานต่ำ แต่มีประเด็นน่าสนใจคือ อาจเกิดจากเชื้อไวรัสทำลายระบบการทำงานร่างกายไปมาก และร่างกายไม่พร้อม เช่น เป็นโรคอ้วน น้ำหนักตัวมากเกินไป ทำให้ยาต้านไวรัสเข้าไม่ถึง

“ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ ได้ศึกษาและวิจัยให้รองรับกับคนน้ำหนักเฉลี่ย 60 กิโลกรัมจะได้ผลดีที่สุด ขณะที่ชาวต่างชาติส่วนใหญ่มีรูปร่างสูง ใหญ่ และน้ำหนักเกิน 60 กิโลกรัมทั้งนั้น ซึ่งขณะนี้ องค์การอนามัยโรคเร่งศึกษาข้อมูลของผู้เสียชีวิตทุกราย เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริง และอาจจำไปสู่การพิจารณาให้ยาต้านไวรัสกับผู้ป่วยให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งในเร็วๆ นี้องค์การอนามัยโลกจะออกคำแนะนำสำหรับการใช้ยาต้านไวรัสอย่างเป็นทางการ เพื่อให้นานาประเทศนำไปปรับใช้” รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว

เสนอตั้ง “หมอประเสริฐ-หมอทวี” คณะผู้เชี่ยวชาติระดับชาติ

นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัด สธ.กล่าวว่า จะนำข้อมูลจากการประชุมร่วมกับองค์การอนามัยโลก เสนอต่อ นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและควบคุมแก้ไขสถานการณ์การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ เพื่อประกอบการพิจารณาความจำเป็นการสั่งซื้อเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ (เทอโมสแกน) ติดตั้งที่สนานบินนานาชาติ รวมทั้งจะเสนอให้มีการตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญระดับชาติขึ้น เพื่อให้ดูแลในเรื่องของการปรับยุทธศาสตร์แนวทางการรักษาพยาบาล ให้มีความเหมาะสมโดย เช่น นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ เป็นธาน พร้อมทั้งพิจารณาประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ของโรคระบาดด้วย ทั้งนี้ ได้กำชับไปยังแพทย์ยังโรงพยาบาลต่างๆ ให้เข้มงวดกับมาตรการการรักษาพยาบาลผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่พันธุ์ใหม่ มากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น