“วิทยา” ให้กำลังใจเดินหน้าผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แต่ต้องได้มาตรฐาน อย.และมาตรฐานสากล ไม่สำเร็จไม่อาจฝืนได้ เร่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ต่อเนื่องหวั่นประชาชนเฉยๆ ไม่ตื่นตัวดูแลสุขภาพ หวัด 2009 ระบาดสูงอีก เผยเหตุเด้ง “หมอปราชญ์” พ้นเก้าอี้ประธานวอร์รูมหวัด 09 ระบุประธานจะต้องมีความพร้อมในการปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง ในภาวะวิกฤต ตั้ง “หมอไพจิตร์” เสียบแทน
วันนี้ (18 ส.ค.) นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ที่การดำเนินการไม่เป็นไปตามเป้าหมายว่า การผลิตวัคซีนจะต้องได้มาตรฐานสากลและได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หากการทดลองการผลิตวัคซีนไม่เป็นไปตามเป้าหมายก็ไม่อาจฝืนได้ ไม่สำเร็จก็คือไม่สำเร็จ จะให้รับรองว่า สำเร็จคงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นได้จองวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จำนวน 2 ล้านโดส ผ่าน อภ.กับผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ระดับโลก คือ บริษัท ซาโนฟี่ ปาสเตอร์ ประเทศฝรั่งเศส ขณะเดียวกันมีบริษัทวัคซีนที่คาดการณ์ว่าจะสามารถผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ได้ 4 บริษัท ซึ่งคาดว่าผลิตวัคซีนสำเร็จตั้งแต่เดือน ต.ค.-มี.ค.เช่นเดียวกับการคาดการณ์ของอภ.แต่จะสำเร็จหรือไม่ ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนแน่นอน
“เราเสียโอกาสในการพัฒนาวัคซีนมานานกว่า 20 ปี แม้การผลิตจะใช้ระยะเวลานานกว่า 5-10 ปี ทำให้หลายคนเห็นว่าจะไม่ได้อยู่ที่นี่ตอนสำเร็จ จึงไม่คิดลงมือทำอะไร แต่ยุคของผมไม่ได้คิดเช่นนั้น ทิศทางของประเทศควรมีการเตรียมความพร้อมในการผลิตวัคซีนเองได้ ดังนั้น ไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร อยากให้กำลังใจ และทำให้ได้มาตรฐานไม่ใช่การทดลองเล่นๆ” นายวิทยากล่าว
นายวิทยากล่าวด้วยว่า มาตรการในการรับมือโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่ต้องดำเนินการต่อไป คือ ณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง โดยภาคประชาชน หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้องร่วมมือกันรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชน ซึ่งหากประชาชนรู้สึกเฉยๆ กับโรคนี้และไม่ตื่นตัวป้องกันดูแลสุขภาพ ก็อาจทำให้การแพร่ระบาดของโรคเพิ่มมากขึ้นได้
นายวิทยากล่าวอีกว่า ช่วงที่ผ่านมาการที่ผู้เสียชีวิตและการแพร่ระบาดชะลอตัว อาจมาจากการที่ประชาชนดูแลสุขภาพตนเองได้ดี หรือผู้ป่วยได้รับยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์เร็วขึ้น แต่อย่างไรเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 ยังมีอยู่เหมือนเดิมจึงต้องระมัดระวังอย่างเข้มข้นเช่นกัน ส่วนการกระจายยาโอเซลทามิเวียร์สำหรับเด็กจะต้องนำเข้าหารือในคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาวิชาการและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่มี ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ เป็นประธานพิจารณาหลักเกณฑ์ในการกระจายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ เช่น จำนวนเด็กเล็กที่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัสมีสัดส่วนเท่าใด โดยทุกอย่างต้องประเมินตามตัวเลข ซึ่งยามีปริมาณเพียงพออยู่แล้วไม่ต้องกังวล
ต่อข้อถามว่าเหตุใดจึงมีการเปลี่ยนตัวประธานศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข (วอร์รูม) จาก นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัด สธ. เป็น นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัด สธ. นายวิทยากล่าวว่า บทบาทหน้าที่ของประธานศูนย์ฯ จะต้องประสานกับคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและควบคุมแก้ไขสถาน การณ์การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ที่มี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เป็นประธานจะต้องมีความพร้อมในการปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง ในภาวะวิกฤต รวมถึงมีประสบการณ์ในการทำงานด้านไข้หวัดใหญ่ ที่ประชุมจึงเห็นว่า นพ.ไพจิตร์ มีความเหมาะสมมากที่สุด โดยต่อไปนี้ นพ.ไพจิตร์ จะต้องประมวลคำสั่งหรือสัญญาณต่างๆ ที่ส่วนกลางส่งไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ในสังกัดว่ามีการรับรู้ข้อมูลอย่างไร เป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ หากสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องปรับให้เป็นคำสั่งที่ทันสมัยมากที่สุดและไม่ยุ่งยาก