“วิทยา” ฟุ้งประเทศไทยประสบความสำเร็จในการชะลอการแพร่ระบาดของไข้หวัด 09 ระลอกแรก ระบุ อัตราตายคนไทยไม่ได้แตกต่างจากอเมริกา เผย ยังเฝ้าระวังและจับตา “หวัดนก” และมีรายงานสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติใน 5 จังหวัด ด้าน “หมอไพจิตร์” ชี้ ไข้หวัดนกมีสิทธิ์กลายเป็นโรคประจำถิ่น 11 จังหวัดภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน
วานนี้ (28 ต.ค.) เวลา 13.30 น. ที่โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จ.พระนครศรีอยุธยา นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการเป็นประธานเปิดประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกระดับ และผู้รับผิดชอบงานป้องกันควบคุมโรคในจังหวัดพื้นที่เสี่ยงไข้หวัดนก/ไข้หวัดใหญ่ 11 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย ตาก พิษณุโลก นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี และพระนครศรีอยุธยา ประมาณ 240 คน ว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการชะลอการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009ในยกแรก โดยอัตราการเสียชีวิตของคนไทยไม่ได้แตกต่างจากประเทศสหรัฐอเมริกา
“สิ่งที่น่าห่วงคือ การระบาดในรอบ 2 ซึ่งนักระบาดวิทยาคาดการณ์ว่าช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ จะเป็นช่วงวิกฤตของการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ระลอกที่ 2 ดังนั้น ในสัปดาห์นี้ผมจะขอนัดเวลาหารือร่วมกับ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อทำข้อตกลงในการเชิญนักศึกษาแพทย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าอบรมกับสำนักระบาดวิทยา ก่อนที่จะปล่อยขบวนออกรณรงค์ให้ความรู้เรื่องโรคนี้กับประชาชน” นายวิทยา กล่าว
นายวิทยา กล่าวต่อว่า ข้อมูลการเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยาในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบเริ่มมีผู้ป่วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้น และยังมีความจำเป็นต้องเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก แม้จะไม่พบผู้ป่วยมานานกว่า 3 ปีแล้ว แต่จากข้อมูลของกรมปศุสัตว์ ยังมีรายงานสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ 11 จุดใน 5 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง เชียงราย ศรีสะเกษ พิษณุโลก และตาก เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจึงต้องทำงานหนักขึ้นเป็น 3 เท่า ในการเฝ้าระวังโรค และการดูแลผู้ป่วย
นายวิทยา กล่าวอีกว่า ตนมอบนโยบายให้ทุกจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ที่พบการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 และเคยพบสัตว์ปีกป่วยตายจากไข้หวัดนก เข้มข้นการดำเนินงาน ทั้งการดูแลรักษาผู้ป่วยในสถานพยาบาล การเฝ้าระวังและการป้องกันควบคุมโรค ทั้งในโรงเรียน สถานประกอบการ ที่ทำงาน หอพัก สถานที่ดูแลเด็กเล็ก สถานสงเคราะห์คนชรา เรือนจำ หรือสถานที่ที่มีคนมารวมกันจำนวนมาก และชุมชน โดยเน้นการประสานงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยว โรงแรม เกสต์เฮาส์ และสถานบันเทิง จัดการป้องกันโรค และให้คำแนะนำแก่นักท่องเที่ยวและพนักงาน ให้ปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันโรคที่กระทรวงสาธารณสุขได้แนะนำไว้อย่างเคร่งครัดตลอดช่วงฤดูการท่องเที่ยวช่วงปลายปีนี้
ขณะที่ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคไข้หวัดนกมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นในพื้นที่ 11 จังหวัดภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน และโรคไข้หวัดนกมีความเสี่ยงที่จะกลายพันธุ์เป็นไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดใหญ่ได้ในปีนี้ โรงพยาบาลทุกแห่งต้องจัดห้องแยกดูแลผู้ป่วยไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เป็นการเฉพาะ ซึ่งขณะนี้มีกว่า 800 ห้อง เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อในโรงพยาบาล และจัดเตรียมเวชภัณฑ์ ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ ยาปฏิชีวนะในรายที่เกิดโรคแทรกซ้อนจากแบคทีเรีย และยาจำเป็นสำหรับใช้กับผู้ป่วยหนัก และให้ยาโอเซลทามิเวียร์ในผู้ป่วยที่มีไข้ติดต่อกัน 2 วันทุกราย เพื่อลดการเสียชีวิต
“แนะนำให้เกษตรกรที่เป็นไข้หวัด หยุดพักรักษาตัวจนกว่าจะหาย ไม่ควรเข้าไปทำงานใกล้ชิดกับสัตว์ในฟาร์มสุกรและสัตว์ปีก เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสผสมข้ามสายพันธุ์ ซึ่งไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ไข้หวัดใหญ่ 2009 และไข้หวัดนก เกิดจากเชื้อไวรัส ผู้ป่วยจะมีอาการใกล้เคียงกัน คือ ไข้ ไอ มีน้ำมูก และใช้ยารักษาชนิดเดียวกันคือโอเซลทามิเวียร์ เพื่อต้านการแบ่งตัวของไวรัส” นพ.ไพจิตร์ กล่าว
นพ.ไพจิตร์ กล่าวอีกว่า ตนได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด (สสจ.) จัดระบบการเฝ้าระวังและการตรวจคัดกรองผู้ที่มีอาการไข้หวัด เพิ่มการซักประวัติสัมผัสสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ และให้อสม.ทั่วประเทศให้ความรู้ 3 โรคนี้แก่ประชาชน สำรวจผู้ป่วย และรายงานสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติในหมู่บ้านทุกวัน ตลอดฤดูหนาวตั้งแต่พฤศจิกายน 2552 - กุมภาพันธ์ 2553 หากพบผู้ป่วยให้แนะนำไปรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที