xs
xsm
sm
md
lg

“หมอต๊าฟ” เพชรแห่งวงการแพทย์ไทย เจ้าของรางวัล “Amee Awords” แนะแก้ต้นตอปัญหา “หมอสมองไหล”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครศรีธรรมราช – แพทย์หญิงพาฝัน มุสิกวัตร อาจารย์ประจำศูนย์แพทย์ศาสตร์ศึกษา รพ.มหาราช นครศรีธรรมราช เจ้าของรางวัลยอดเยี่ยม “Amee Awords” ในสาขาการประเมินความก้าวหน้า จากผลงานการใช้แฟ้มบันทึกข้อมูลประเมินความก้าวหน้า การเรียนรู้ของนักศึกษาแพทย์ สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย ส่งผลให้การการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ของไทยเป็นที่ยอมรับในระดับโลก แนะแก้ปัญหาต้นตอ “หมอสมองไหล” เป็นคนไทยต้องรับใช้ประเทศไทย

ในวงการประชุมวิชาการด้านแพทย์ศาสตร์ศึกษานานาชาติแห่งยุโรปประจำปี 2552 หรือที่รู้จักกันในวงการการแพทย์โลกว่า เอมี หรือ (Association For Medical Education of Europe Conference : AMEE) อันเป็นวงประชุมสุดยอดการเรียนการสอนแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป้าหมายเพื่อพัฒนากระบวนการสอนนักศึกษาแพทย์ให้มีความกลมกลืนระหว่างภาคทฤษฎีกับภาคปฏิบัติกับผู้ป่วย ครั้งล่าสุดนี้ได้จัดขึ้นที่เมืองมาลากา ประเทศสเปน โดยมีอาจารย์แพทย์และผู้บริหารของสถาบันการผลิตแพทย์จากประเทศต่างๆ ทั่วโลก 81 ประเทศ รวม 2,300 คน

ที่สำคัญในการประชุมครั้งนี้ได้มีการนำเอาผลงานทางวิชาการของแพทย์ ด้านการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ เพื่อเข้ารับรางวัล (Amee Awords) 5 สาขา คือสาขาการวางแผนจัดการหลักสูตร สาขาการประเมินความก้าวหน้า สาขาการจัดระเบียบการเรียนการสอน สาขานักศึกษาแพทย์ และสาขาด้านการวิจัยด้านการศึกษาของแพทย์ มีการส่งผลงานเข้าประกวดทั้งหมดถึง 450 เรื่อง กระทรวงสาธารณะสุขแห่งประเทศไทย ได้ส่งผลงาน 7 เรื่อง

ปรากฏว่าผลงานของแพทย์หญิงพาฝัน มุสิกวัตร อาจารย์ประจำศูนย์แพทย์ศาสตร์ศึกษา รพ.มหาราช นครศรีธรรมราช ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในสาขาการประเมินความก้าวหน้า จากผลงานการใช้แฟ้มบันทึกข้อมูลประเมินความก้าวหน้า การเรียนรู้ของนักศึกษาแพทย์ในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช หรือที่รู้จักกันในผลงานวงการแพทย์โลกในเวลานี้คือ (Implementing portfolios in objective-bases curriculum at the MEC Maharaj Nakhon Si Thammarat Hospital Thailand) ซึ่งเป็นแพทย์ไทยที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย ทำให้วงการการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ของไทยเป็นที่ยอมรับในระดับโลก

แพทย์หญิงพาฝัน มุสิกวัตร หรือที่รู้จักกันวงการแพทย์ในชื่อ “หมอต๊าฟ” เป็นศัลยแพทย์สมองมือวางอันดับต้นๆ ของประเทศไทย อธิบายถึงผลงานทางวิชาการชิ้นนี้ที่สามารถคว้ารางวัลที่บรรดาอาจารย์แพทย์ทั่วโลกคาดหวัง ว่างานชิ้นนี้ได้จัดทำแฟ้มข้อมูลใช้ในการบันทึกโดยให้นักศึกษาแพทย์บันทึกและฝึกหัดการคิดอย่างมีหลักการ มีเหตุผล โดยที่ให้นักศึกษาเขียนถึงประสบการณ์การเรียนรู้ในชั้นคลินิกในปี 4, 5, 6

“งานชิ้นนี้ได้เริ่มใช้ในนักศึกษาแพทย์ปี 6 มีการฝึกหัดการคิดอย่างมีหลักการและเหตุผล จุดนี้เพิ่งเริ่มต้นยังทำแบบง่าย เมื่อเขียนจะมีอาจารย์ผู้ประเมินมาประเมินในระดับความคิด คิดอย่างไร คิดอย่างมีเหตุผลหลักการหรือไม่ หลังจากนั้นอาจารย์แพทย์จะ มีฟีดแบคกลับไป ในช่วงกลางปี และปลายปี โดยที่ไม่ได้นำมาคิดคะแนนว่าจะผ่านหรือตก เพียงแค่นำตรงนี้มาฝึกพัฒนาการคิด ความรู้และความสามารถในด้านแพทย์ศาสตร์ชั้นคลินิก การเรียนการสอนในโรงพยาบาลมหาราช ชั้นคลินิกเป็นหลักสูตร objective-bases ถามว่าจะมาปรับใช้กับสถาบันการศึกษาแพทย์อื่นๆ ได้หรือไม่นั้น ต้องบอกว่าขณะนี้งานชิ้นนี้กำลังเป็นจุดเริ่มต้น ดังนั้นการปรับใช้ต้องใช้เวลาอีกระยะแต่สถาบันใหญ่ๆ เช่น จุฬาฯ มีการใช้หลักสูตรนี้เหมือนกันแต่คนละหลักสูตร ของจุฬาฯ จะเป็น OutCome-bases ประสบความสำเร็จค่อนข้างเยอะ”


หมอต๊าฟยังบอกต่อไปว่า การใช้งานชิ้นนี้กับนักศึกษา ปรากฏว่านักศึกแพทย์ชอบเรื่องของการเขียนแฟ้มบันทึกเพียงแต่บอกว่าต้องใช้เวลาและค่อนข้างยาก แต่เขารู้ว่าถ้าใช้และทำบ่อยจะเพิ่มความรู้ความสามารถในการคิดวิเคราะห์อย่างมีหลักการ จากเดิมเราเริ่มทำในปี 6 ตอนนี้เราขยายลงมาในชั้นปี 5 ปี 4 เราคาดหวังว่าถ้าเราทำตั้งแต่เนิ่นๆ จะสามารถคิดวิเคราะห์ได้เก่งมากขึ้น เมื่อใช้ตรงนี้ได้คล่องผลที่ส่งออกมาคือความสามารถของแพทย์ในอนาคตอันเกิดจากเขาฝึกฝนมานั่นเอง ขณะเดียวศูนย์แพย์ศึกษาในอีกหลายที่กำลังจะนำงานชิ้นนี้ไปใช้ในอนาคตเช่นกัน ที่สำคัญอีกอย่างเรากำลังทำวิจัยงานชิ้นนี้อย่างต่อเนื่อง

สิ่งหนึ่งที่ “หมอต๊าฟ” กำลังถูกจับตามองในความเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในระดับมันสมองชั้นนำของวงการแพทย์ หลังจากนี้จะมีปัญหาของคำว่า “สมองไหล” ออกไปยังต่างประเทศเช่นเดียวกับแพทย์มือชั้นครูหลายคนของประเทศไทยที่ผันตัวเองไปประกอบวิชาชีพยังต่างประเทศตามมาหรือไม่ และวิธีการที่จะแก้ไขปัญหาสมองไหลของแพทย์ไทย “หมอต๊าฟ” ได้ตอบคำถามในเรื่องนี้อย่างมั่นใจว่า

“หมอเป็นคนนครศรีธรรมราช เป็นข้าราชการจะทำงานรับใช้ประเทศชาติด้วยใจจริง เราเป็นคนไทย เราอยากทำอะไรให้กับประเทศไทยของเรา ปัญหาของอาการสมองไหลของแพทย์ถือว่าเป็นปัญหาที่ตอบยาก จะต้องไปดูว่าเราจะต้องเข้าไปให้ถึงจุดเริ่มต้นของปัญหาและจะต้องเริ่มแก้ที่จุดเริ่มต้น ปัญหาสมองไหลก็จะหมดไป จะแก้ปัญหานี้ได้” หมอต๊าฟกล่าว

นพ.จำเริญ วัฒนศรีสิน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรม หัวหน้ากลุ่มงานศัลยกรรม รพ.มหาราช นครศรีธรรมราช บอกถึงเรื่องราวของ หมอพาฝัน ว่าตัวหมอพาฝันนั้นจริงๆ แล้วเธอคือศัลยแพทย์สมอง หรือหมอผ่าตัดสมองเป็นผู้หญิง ในประเทศไทยมีหมอผ่าตัดสมองที่เป็นผู้หญิงราว 2-3 คน และ 1 ในจำนวนนั้นคือหมอพาฝัน เธออยู่ที่โรงพยาบาลมหาราช นครศรีธรรมราช แห่งนี้

“หมอพาฝันเป็นหมอหญิงตัวเล็กๆแต่ว่าทำงานใหญ่และเยอะ งานผ่าตัดอย่างเดียวก็หนักหนาสาหัส แต่ยังมีใจอุตส่าห์ปลีกตัวมาทำ ผลงานที่ออกมานั้นแม้ว่าจะไม่ใช่เป็นเรื่องผ่าตัดแต่เป็นที่ชื่นชมและสามารถคว้ารางวัลมาได้อย่างน่าภาคภูมิใจ”

ส่วนประวัติของ “หมอต๊าฟ” หรือแพทย์หญิงพาฝัน มุสิกวัตร จบการศึกษาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี 2540 แพทย์เฉพาะทาง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และได้ศึกษาต่อจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีด้านแพทยศาสตร์ศึกษา มหาวิทยาลัยดันดี สหราชอาณาจักร และอยู่ในระหว่างศึกษาระดับปริญญาโททางด้านแพทย์ศาสตร์ศึกษา มหาวิทยาลัยดันดี สหราชอาณาจักร


กำลังโหลดความคิดเห็น