xs
xsm
sm
md
lg

หมอไทยส่งออกไกลทั่วโลก (แต่เมืองไทยไม่มีหมอ?)

เผยแพร่:

ถ้าเทียบกับสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 1: 5,000 คน จะทำให้เกิดความรู้สึกดีว่าประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนแพทย์อย่างที่มีการพูดกัน เพราะจำนวนแพทย์ของเราที่สามารถทำเวชปฏิบัติได้มีถึง 31,939 คน โดยสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรคือ 1 : 1,985 คน ซึ่งเป็นข้อดีของการดูค่าเฉลี่ยแบบรวมๆ

แต่ถ้าแจกแจงออกมา ผลที่ได้อาจไม่งดงามอย่างที่คิด จากสถิติที่มีการศึกษา ปัจจุบันหมอ 1 คนต้องตรวจคนไข้มากกว่า 100 คนในเวลา 3 ชั่วโมง ตกแล้วคนไข้ 1 คน ได้เจอหน้าหมอคนละประมาณ 2-3 นาที

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า ‘Medical Hub’ นโยบายที่เกิดขึ้นในสมัยอดีตนายกฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ตั้งใจจะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพของภูมิภาค กล่าวอย่างเป็นธรรม นี่คือนโยบายที่ดีและวิสัยทัศน์ยาวไกล แต่ปัญหาคือเรามักจะดุ่มเดินไปข้างหน้าโดยไม่เคยมองความพร้อมและหาหนทางป้องกัน เยียวยา ผลกระทบ

นโยบายดังกล่าวก่อให้เกิดการไหลบ่าของคนไข้ชาวต่างประเทศเข้ามารักษาพยาบาลในไทย ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดรายได้ประมาณ 4.6-5.2 หมื่นล้านบาทในปี 2552

สิ่งที่ตามมาคือ หมอไทย 1 คน ใช้เวลาตรวจรักษาคนไทยชาวต่างประเทศ 1 คนเท่ากับที่ใช้กับคนไทย 5 คน และต้องใช้หมอไทย 16 เปอร์เซ็นต์ ดูแลคนไข้ชาวต่างประเทศ 1 ล้านคน อีก 84 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือสำหรับดูแลคนไทย 60 กว่าล้านคนที่เหลือ และมีหมอเพียง 5-8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่คอยดูแลคนชนบทกว่า 41 ล้านคน

ถึงตอนนี้ คงเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่าเมืองไทยไม่ได้ขาดแคลนแพทย์จริงหรือ?

-1-

ระยะหลังนี้ มีความเคลื่อนไหวของสถาบันอุดมศึกษาของไทยบางแห่งที่มีคณะแพทย์เป็นของตัวเอง พยายามผลักดันให้เกิด หลักสูตรแพทย์นานาชาติ ขึ้น จนเกิดเป็นข้อถกเถียงว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะมี

เหตุผลหลักๆ ของผู้ที่สนับสนุนแนวคิดนี้คือ หลักสูตรแพทย์นานาชาติจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนงบประมาณ และยกระดับโรงเรียนแพทย์ของไทยขึ้นสู่ระดับสากล

ศ.นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า

“ในมุมมองของผม เพื่อจะให้วงการแพทย์ไทยสู่ระดับนานาชาติ แน่นอน มันมีตัวชี้วัดอยู่หลายตัวที่จะทำให้อันดับของคณะแพทย์ต่างๆ ในโลกมีอันดับที่สูงขึ้น อย่างมีคนต่างชาติรู้จักมั้ย โรงเรียนแพทย์นั้นๆ มีอาจารย์ต่างชาติ มีนักเรียนต่างชาติไหม มีสัดส่วนเท่าไหร่ต่อนักเรียนที่เป็นคนไทย พวกนี้คือตัวชี้วัด การเปิดหลักสูตรนานาชาติก็ทำให้มีโอกาสได้อันดับโลกที่สูงขึ้น ถึงแม้เราจะเก่งยังไงก็ตาม ถ้าเรายังใช้ภาษาไทยอยู่ ชาวต่างชาติมาเรียนไม่ได้

“การเปิดหลักสูตรนานาชาติอย่างหนึ่งก็เพื่อให้เราไปสู่ระดับนานาชาติได้อย่างเต็มภาคภูมิ และอันที่ 2 ผมคิดว่าประเทศเพื่อนบ้านเราหลายๆ ประเทศ หลักสูตรแพทย์ของเขายังไม่เจริญนัก บางประเทศยังไม่มีหลักสูตรแพทยศาสตร์เลย ซึ่งถ้าเขามาเรียน เขาต้องใช้ภาษาอังกฤษแน่ การที่เราเปิดหลักสูตรนานาชาติก็ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศเพื่อนบ้านได้เข้ามาเรียน ทำให้เราเป็นศูนย์กลาง มีชื่อเสียงได้”

แต่ข้อโต้แย้งสำคัญอันละเลยไม่ได้ มีอยู่ว่า ขณะที่จำนวนหมอยังขาดแคลน ทำไมเราจึงต้องผลิตหมอเพื่อรองรับผู้ป่วยชาวต่างประเทศ เพราะแน่นอนว่าหากมีการเปิดหลักสูตรนี้ขึ้นจริง ย่อมต้องมีชาวต่างประเทศจำนวนหนึ่งเข้ามาเรียน คำถามที่ตามมาคือคนกลุ่มนี้จะยอมไปใช้ทุน เป็นหมอตามชนบทหรือ? (นี่ยังไม่ต้องพูดว่าจะคุยกับตาสีตาสารู้เรื่องหรือเปล่า?) ยังไงคนกลุ่มนี้ย่อมต้องกลับประเทศของตน

หรือแม้แต่คนไทยเองที่เรียนหลักสูตรนานาชาติก็คงไม่อยากไปอยู่ในดินแดนไกลปืนเที่ยง ซึ่งเป็นเหตุให้หมอในชนบทมีอัตราการย้ายกลับเข้าเมืองมากขึ้นมาโดยตลอด และเมื่อโยงกลับไปสู่นโยบาย Medical Hub และการเปิดเสรีด้านบริการสาธารณสุขของอาเซียนที่จะมีขึ้นในปีหน้า ก็ยิ่งทำให้หลายฝ่ายวิตกว่า นี่คือการผลิตแพทย์เพื่อรองรับชาวต่างประเทศในอนาคตมากกว่าที่จะรองรับคนไทย

ประเด็นนี้ ศ.นพ.อดิศร มองว่าหากมีข้อกังวลเรื่องการใช้ทุนของนักศึกษาแพทย์หลักสูตรนานาชาติ ก็อาจจะต้องมีการกำหนดเป็นหลักเกณฑ์เอาไว้ในเบื้องต้น

“มีคนพูดว่าเมื่อแพทย์ไทยยังไม่พอ แล้วจะผลิตแพทย์หลักสูตรนานาชาติเพื่อคนต่างชาติเหรอ คงไม่ใช่ หลักสูตรนานาชาติคนไทยก็เรียนได้ คนไทยที่จบหลักสูตรนานาชาติก็ไม่จำเป็นต้องไปเมืองนอก แต่คนกลุ่มนี้จึงมีโอกาสไปศึกษาต่อเมืองนอกได้สูงขึ้น การที่กลัวว่าผลิตออกมาแล้ว แพทย์จะไหลออกต่างประเทศ คงไม่เกิดหรอกครับ อัตรากำลังของเราแทนที่จะมุ่งผลิตแพทย์ไทยก็ไปผลิตให้ต่างประเทศ แต่ผมคิดว่าเปอร์เซ็นต์จะไม่สูงนัก และการผลิตแพทย์ไทยก็ไม่ได้ลดลง เราไม่ได้เลิกสอนภาษาไทย คณะแพทย์ไหนมีศักยภาพที่จะเปิดได้ ก็เปิด ที่ไหนไม่พร้อมก็ยังไม่ควรเปิด

“ข้อดีคือถ้าโครงการ Medical Hub ยังทำต่อเนื่อง ก็จะต้องมีคนต่างชาติไหลเข้ามาต่อเนื่อง ดังนั้น หมอไทยก็ควรจะเก่งภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับคนไข้กลุ่มนี้ หรือจะไปเรียนต่อเพื่อกลับมาเป็นอาจารย์แพทย์ต่อก็จะทำได้ง่ายขึ้น และศักดิ์ศรีก็น่าจะดีกว่าหลักสูตรภาษาไทย”

-2-

ปัญหาการไหลออกของแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐหรือโรงเรียนแพทย์ไปสู่โรงพยาบาลเอกชน คงจะหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไม่มีวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากระตุกไว้ ก่อนหน้านั้น หมอในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศลาออกไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนถึงปีละกว่า 700 คน ยังไม่นับบรรดาอาจารย์แพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ถูกดูดออกไปอีกปีละ 40-50 คน

เรื่องค่าตอบแทนถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการสมองไหล

“หมอในโรงพยาบาลรัฐค่าตอบแทนจะต่ำกว่าภาคเอกชน 3-5 เท่า แม้ตอนหลังจะมีการปรับขึ้น แต่ว่าภาคเอกชนก็มีการขยับเหมือนกัน จนล่าสุดที่เราออกระเบียบเรื่องเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายได้ อัตราค่าตอบแทนก็ดูจะมากขึ้น ทำให้แพทย์มีกำลังใจขึ้นมาระดับหนึ่ง อย่างหมอจบใหม่เขาจะได้เงินเดือนประมาณหมื่นเดียว แล้วก็มีค่าชดเชยในรูปแบบอื่น เช่น ไม่เปิดคลินิกได้อีกหมื่นหนึ่ง ได้เงินเพิ่มเติมพิเศษอีก 5 พัน ก็ได้ประมาณ 25,000 บาท ขณะที่เป็นภาคเอกชนจะได้ไม่ต่ำกว่า 5-7 หมื่นบาท” นายแพทย์เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท อธิบาย

ดังนี้ จึงเดาได้ไม่ยากว่าถึงที่สุดแล้ว หมอคนไทยที่จบจากหลักสูตรนานาชาติซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า จะไหลกลับเข้าระบบราชการหรือโรงพยาบาลเอกชน

“ยกตัวอย่าง กรณี Medical Hub เรามีรายได้เพิ่มขึ้นจริง แต่มันจะไปดูดทรัพยากรจากชนบทเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเรามองว่าสิ่งที่ได้ไม่คุ้มเสีย เพราะประมาณเป็นตัวเงินไม่ได้กับการขาดแพทย์ในชนบท แล้วมันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ มันจะไหลเป็นโดมิโน โรงพยาบาลเอกชนใหญ่ๆ ที่รับดูแลคนต่างชาติ เขาจะรับหมอเฉพาะด้าน เขาจะไปดึงมาจากโรงเรียนแพทย์ โรงเรียนแพทย์ก็จะไปดึงต่อมาจากโรงพยาบาลใหญ่ๆ ในกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลใหญ่ๆ ก็จะไปดึงหมอจากในชนบท เพราะฉะนั้นปลายทางที่ขาดหมอคือชาวบ้าน

“สิ่งที่ผมเป็นห่วงคือถ้าโรงเรียนแพทย์ของรัฐ ใช้เงินภาษีของชาวบ้าน แต่กลับมาหาเงินสร้างผลประโยชน์เข้ามหาวิทยาลัย โดยหวังเงินจากหลักสูตรนานาชาติ แต่ผลลัพธ์ที่คุณได้กลับคืนมามันไม่คุ้มกับที่รัฐได้ลงทุนไป จะกลายเป็นว่าคุณแสวงหากำไรจากงานนี้ ผมว่ามันไม่ยุติธรรมกับภาคชนบท เพราะว่ากำลังผลิตแพทย์ที่คุณจะผลิตให้กับภาคชนบทก็ยังไม่เพียงพออยู่แล้ว แต่คุณกลับไปผลิตให้กับคนอื่น”

ขณะที่ นายแพทย์สุธีร์ รัตนะมงคลกุล จากภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แสดงทัศนะต่อเรื่องนี้ว่า

“มันจะกระเทือนต่อจำนวนแพทย์ที่จะไปทำงานใช้ทุนในชนบท คือเราบอกว่าแพทย์ไม่เพียงพอ แต่เรากลับเอาศักยภาพที่เหลือไปผลิตแพทย์เพื่อตอบสนองต่อคนไข้ต่างประเทศ หรือบางครั้งอาจมองว่าเพื่อตอบสนองต่อคนที่มีศักยภาพในการเรียนภาษาอังกฤษได้ ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นแค่คนกลุ่มหนึ่งที่มีโอกาส แต่ไม่ได้กระจายไปสู่คนทุกคนที่มีโอกาสเข้าสู่หลักสูตรนี้ได้ ผมคิดว่าการที่มหาวิทยาลัยจะเปิดหลักสูตรอะไรควรเริ่มจากความเป็นเลิศทางวิชาการในด้านนั้นๆ แล้วจึงขยายออกไปสู่การสร้างบัณฑิต แต่หลักสูตรนานาชาติดูเหมือนเราเริ่มด้วยความต้องการรายได้และชื่อเสียง ซึ่งมันไม่น่าจะเป็นจุดตั้งต้นของการศึกษา”

-3-

วิวาทะเรื่องหลักสูตรแพทย์นานาชาติที่ว่าถึงเวลาหรือยังที่โรงเรียนแพทย์ในเมืองไทยควรจะมี คงต้องถกเถียงกันต่อไปถึงผลดี ผลเสียที่จะได้รับ อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงทางเศรษฐศาสตร์ประการหนึ่งมีอยู่ว่า เมื่อใดที่เราทุ่มทรัพยากรไปใช้ในจุดใด อีกจุดหนึ่งก็ย่อมต้องเสียโอกาสจากการใช้ทรัพยากรนั้น

นายแพทย์เกรียงศักดิ์ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ถ้าโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งสามารถผลิตแพทย์ได้ 100 คน และมีศักยภาพที่จะผลิตแพทย์หลักสูตรนานาชาติได้อีก 50 คน หมายความว่าจริงๆ แล้วสามารถผลิตแพทย์ได้ถึง 150 คน ในเมื่อประเทศไทยยังขาดแคลนแพทย์อยู่ สถาบันอุดมศึกษาที่คิดจะเปิดหลักสูตรแพทย์นานาชาติก็จำต้องตอบคำถามจากสังคมให้ได้ว่า เหตุใดจึงไม่ใช้ศักยภาพที่เหลือที่สามารถผลิตแพทย์ได้อีก 50 คนเพื่อรองรับผู้ป่วยชาวไทยในชนบท

กับการเปิดเสรีอาเซียนในปีหน้าที่ภาคบริการสาธารณสุขเป็นภาคหนึ่งที่มีการเปิดเสรี เราอดห่วงไม่ได้ว่าภาครัฐได้คิดหามาตรการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นไว้มากน้อยเพียงใด

ความกังวลเหล่านี้ คงมิใช่อาการชาตินิยมหน้ามืด แต่มันคือสิทธิในการเข้าถึงการรักษาอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมของคนทุกระดับในสังคมไทย

...ไม่ใช่เฉพาะคนมีเงิน

**********

เรื่อง : กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
ภาพ : ทีมภาพ Click

กำลังโหลดความคิดเห็น