xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ดึงงบไทยเข้มแข็ง 6 หมื่นล้าน ยกระดับอนามัย ขณะที่ จนท.โวยถูกบีบให้ซื้อครุภัณฑ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สธ.ใช้งบไทยเข้มแข็ง ยกระดับ สนอ.เป็น รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล ทุ่มงานก่อสร้างกว่า 6 หมื่นล้าน มากกว่างบปกติถึง 50 เท่า “วิทยา” โยนให้ สสจ.-ผู้ตรวจฯ จัดการประมูล ปี๊ดผู้ว่าฯ 3 จังหวัด ไม่เซ็นอนุมัติปรับปรุงสถานีอนามัย ขู่ขอเคลียร์ตัวต่อตัว ขณะที่เจ้าหน้าที่อนามัยโวย สธ.เร่งรัดทำโครงการใช้เงิน 1.35 ล้านบาท ให้เสร็จใน 2 วัน แถมให้จัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์เฉพาะที่กำหนด หวั่นใช้เงินผิดวัตถุประสงค์

นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในการประชุมชี้แจงการดำเนินการตามโครงการไทยเข้มแข็งในส่วนสธ.ให้กับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และผู้อำนวยการโรงพยาบาล ว่า งบประมาณที่ สธ.ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลเพื่อดำเนินโครงการไทยเข้มแข็งตั้งแต่ปี 2553-2555 จำนวนทั้งสิ้น 86,684 ล้านบาท แบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1.งบประมาณการก่อสร้างยกระดับสถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) การปรับปรุงโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป 66% 2.งบประมาณการจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ 27% 3.งบประมาณการสร้างบุคลากรด้วยการผลิตแพทย์และพยาบาลเพิ่ม 5% และงบประมาณการบริหารจัดการ 2%

นายวิทยา กล่าวต่อว่า เฉพาะงบประมาณในการก่อสร้างคิดเป็นเงินประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งการดำเนินการประมูลโครงการที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ งบประมาณโครงการละ 400 -700 ล้านบาท จะกระจายไปให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการ เนื่องจาก สธ.ไม่มีวัตถุประสงค์ในการรวบอำนาจมาไว้ที่ส่วนกลางแต่จะกระจายลงระดับภูมิภาค ซึ่งหากดำเนินการครั้งนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สะท้อนว่า สธ.มีความพร้อมที่จะกระจายอำนาจไปสู่ สสจ.และผู้ตรวจราชการ สธ.

“จังหวัดไหนที่มีความพร้อมสามารถเริ่มกระบวนการในการจัดซื้อจัดจ้างและทำสัญญาในโครงการที่จะใช้งบประมาณจากโครงการไทยเข้มแข็งได้เลย ไม่ต้องห่วงเรื่องเม็ดเงิน โดย รมว.คลัง ยืนยันว่า มีเงินเพียงพอที่จะจัดสรรให้กับกระทรวงต่างๆ ตามที่มีการอนุมัติไว้ ในส่วนของ สธ.ปี 2553 จะมีการก่อสร้างโรงพยาบาลครั้งใหญ่นับ 100 โครงการ ใช้งบประมาณมากกว่างบก่อสร้างปกติถึง 50 เท่า เมื่อแล้วเสร็จคาดว่าจะช่วยให้โรงพยาบาลระดับต่างๆ ไม่ต้องปรับปรุงอาคารสถานที่ไปอีกถึง 10 ปี ที่สำคัญ หากเริ่มก่อสร้างได้เร็ว จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เร็วและแรง เพราะในการก่อสร้างจะเกิดการเคลื่อนไหวทุกภาคส่วนตั้งแต่ผู้ประกอบการและผู้ใช้แรงงาน”นายวิทยา กล่าว

นายวิทยา กล่าวอีกว่า ในส่วนของงบประมาณกลางปี 2552 ที่ได้จัดสรรให้สำหรับการปรับปรุงสถานีอนามัยใหม่แห่งละประมาณ 4.2 แสนบาท จำนวน 2,069 แห่ง เป็นเงิน 1,095 ล้านบาท และจะต้องเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ ปรากฏว่าจนถึงเดือนสิงหาคมยังมีบางจังหวัดที่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ลงนามในการต่อเติมสถานีอนามัย

“ผมได้มอบหมายให้ นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัด สธ.เร่งหารือกับผู้ว่าราชการ ซึ่งขณะนี้ทราบว่าเหลือเพียงแค่ 3 จังหวัด หากไม่สามารถเจรจาได้ ผมจะลงไปพบผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ เอง เพราะหากไม่ใช้งบส่วนนี้ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2552 กระทรวงการคลังจะเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืน”นายวิทยา กล่าว

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ สธ 0205.01.2/1327 เรื่อง สำรวจความต้องการทรัพยากรสถานีอนามัยเป้าหมาย รพสต.ลงวันที่ 21 ส.ค.2552 ลงนามโดย พญ.ศิริพร กัญชนะ รองปลัด สธ.ปฏิบัติหน้าที่แทนปลัด สธ.ส่งถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เนื้อหาระบุว่า ขอให้รวบรวมความต้องการทรัพยากรทั้งด้านสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์ของสถานีอนามัยเป้าหมายที่จะยกระดับเป็น รพสต.และให้ดำเนินการแล้วเสร็จและนำส่งสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สธ.ภายในวันที่ 24 ส.ค.2552

แหล่งข่าวจากสถานีอนามัยแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า หนังสือฉบับนี้ส่งถึง สสจ.วันที่ 21 ส.ค.2552 ซึ่ง สสจ.ได้สั่งต่อไปยังสถานีอนามัยตามเป้าหมายให้ดำเนินการทันที แต่ปรากฏว่าวันที่ 22-23 ส.ค.ตรงกับวันเสาร์-อาทิตย์ และจะต้องส่งแผนการใช้งบประมาณในวันที่ 24 ส.ค.ทันที โดยงบประมาณตามโครงการนี้ที่จะได้รับจากโครงการไทยเข้มแข็ง สถานีอนามัยแต่ละแห่งจะได้รับและจัดทำแผนการใช้งบประมาณจำนวน 1.35 ล้านบาท แบ่งเป็นงบก่อสร้าง 5 แสนบาท โดยจะต้องมีช่างโยธาลงนามรับรองการประมาณการค่าก่อสร้าง และงบจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ 8.5 แสนบาท จะต้องดำเนินการจัดซื้อเฉพาะจำนวนในรายการที่กำหนดเท่านั้น ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรายการครุภัณฑ์อื่นที่นอกเหนือจากนี้ได้

แหล่งข่าวรายเดิม กล่าวต่อว่า หัวใจหลักของการยกระดับสถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจะต้องให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ โดยจะมีคณะกรรมการโรงพยาบาลที่ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย ผู้นำชุมชน อาสาสมัคร และประชาชน ทำหน้าที่ในการพิจารณาโครงการต่างๆที่โรงพยาบาลจะดำเนินการ เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของชุมชน รวมถึง การก่อสร้างและขัดซื้อครุภัณฑ์ด้วย เมื่อ สธ.เร่งรัดให้จัดทำแผนการใช้งบประมาณให้เสร็จภายใน 2 วัน จึงไม่สามารถนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการในการสอบถามความต้องการที่แท้จริงของชาวบ้าน

“โครงการก่อสร้างจะต้องมีช่างโยธารับรอง แต่ช่วงเวลาที่ให้จัดทำแผนงานตรงกับวันเสาร์-อาทิตย์ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะพิจารณาโครงการใหม่ตามความจำเป็นของพื้นที่แล้วให้ช่างโยธาเซ็นรับรอง สถานีอนามัยส่วนใหญ่จึงต้องเอาโครงการก่อสร้างเดิมที่เคยใช้ในการปรับปรุงสถานีอนามัยครั้งก่อนๆ และมีช่างโยธารับรองแล้วมาปัดฝุ่นส่งให้กับ สธ.เพื่อให้ทันตามเวลาที่กำหนด ส่วนการซื้อครุภัณฑ์ก็ต้องซื้อตามที่มีการล็อกไว้ ทั้งที่แต่ละพื้นที่ต้องการครุภัณฑ์ต่างกัน ทำให้การใช้ประโยชน์จากงบประมาณไม่คุ้มค่า และไม่ตรงกับความต้องการของแต่ละพื้นที่ สุดท้ายก็ออกมารูปแบบเหมือนกันกลายเป็นของโหล”แหล่งข่าวกล่าว

ด้านพญ.ศิริพร กัญชนะ รองปลัด สธ.ชี้แจงว่า หนังสือฉบับดังกล่าวไม่ได้เป็นการกำหนดให้สถานีอนามัยแต่ละแห่งต้องจัดทำแผนงานการใช้งบประมาณตามโครงการยกระดับสถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแต่อย่างใด เป็นเพียงการสำรวจความต้องการเบื้องต้น ว่า สถานีอนามัยแต่ละแห่งต้องการครุภัณฑ์และก่อสร้างเพิ่มเติมในส่วนใดบ้าง เพื่อที่ สธ.จะได้นำไปใช้ประกอบในการของบประมาณรองรับให้ตรงกับความต้องการของแต่ละพื้นที่ และการกำหนดบัญชีครุภัณฑ์ให้สถานีอนามัยเลือกเป็นไปตามข้อเสนอของคณะทำงานที่เป็นตัวแทนจากเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยต่างๆ ซึ่งเห็นว่า การยกระดับสถานีอนามัยเป็น รพสต.ไม่ควรจัดซื้อครุภัณฑ์มากไปกว่าที่คณะทำงานส่วนกลางกำหนด
กำลังโหลดความคิดเห็น