xs
xsm
sm
md
lg

อาชีวะเตรียมจัดงานใหญ่ 68 ปี “อาชีวะไทย ก้าวไกลสู่อนาคต”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาชีวะเตรียมจัดงานใหญ่ ครบ 68 ปี “อาชีวะไทย ก้าวไกลสู่อนาคต” 21-23 ส.ค.นี้ ชูศักยภาพเด็กช่าง รับคนไทยยังติดค่านิยมใบปริญญา ส่งผลเรียนสายอาชีพน้อย ทั้งที่มีโอกาสได้งานมากกว่า ตั้งเป้า 2 ปี เพิ่มสัดส่วนเด็กเรียนต่อสายอาชีพ สายสามัญ ครึ่งต่อครึ่ง

วันนี้ (14 ส.ค.) นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการการจัดงาน “68 ปี อาชีวะไทย ก้าวไกลสู่อนาคต” ร่วมกับนายประเสริฐ แก้วเพ็ชร รองเลขาธิการ กอศ. และนายมังกร หริรักษ์ ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมแถลงข่าวการจัดงาน “68 ปี อาชีวะไทย ก้าวไกลสู่อนาคต” ว่า สืบเนื่องจากอาชีวศึกษาก่อตั้งในวันที่ 19 สิงหาคม 2484 และจะมีอายุครบรอบ 68 ปีในเดือนสิงหาคมนี้ ตลอดเวลาที่ผ่านมาได้ดำเนินการผลิตกำลังคนระดับอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน ระบบเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนมีโอกาสและทางเลือกในการประกอบอาชีพ และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งนักศึกษาอาชีวศึกษาได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพ และทักษะความสามารถมาอย่างต่อเนื่อง สอศ. จึงกำหนดจัดงาน “68 ปี อาชีวะไทย ก้าวไกลสู่อนาคต” ระหว่างวันที่ 21-23 สิงหาคม 2552 ณ ห้องบางกอกคอนเวนชั่น ฮอลล์ ชั้น 4 และชั้น 5 เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษา เยาวชน ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป ได้รับทราบถึงวิวัฒนาการอาชีวศึกษาจากอดีตสู่ในปัจจุบันและทิศทางการพัฒนาในอนาคต
นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์
ขอชื่นชมบุคลากรชาวอาชีวะ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่ร่วมกันสร้างสรรค์และรักษาความเป็นอาชีวะ จนเข้มแข็งยืนหยัดอยู่บนความสำเร็จของการพัฒนาบุคลากรด้านวิชาชีพ เพื่อสนองตอบความต้องการของผู้เรียน และตลาดแรงงานได้เป็นอย่างดีมาโดยตลอด ทั้งนี้เราได้ผลิตบุคลากรหลายสาขา อาชีพ ทั้งยังฝึกอบรมวิชาชีพระยะสั้นมากกว่า 108 อาชีพ ให้แก่ผู้สนใจมากกว่า 1 ล้านคนต่อปี และเปิดสอนระดับ ปวช. ปวส. และปริญญาตรี ซึ่งมีนักศึกษาในระบบกว่า 8 แสนคน ที่สำคัญบทบาทหนึ่งที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับชาวอาชีวะ คือ การให้บริการสังคมที่แฝงกระบวนการจัดการเรียนการสอน เช่น โครงการ Fix it Center ในปีงบประมาณที่ผ่านมา ได้ตั้งศูนย์เพิ่มขึ้นอีกเป็น 1,200 ศูนย์ทั่วประเทศ” นายเฉลียว กล่าว

นายเฉลียว กล่าวต่อว่า แม้สังคมจะมองว่าอาชีวะมีความสำคัญมากขึ้นโดยเฉพาะบทบาทต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมเกษตร ธุรกิจบริการ แต่ยังคงประสบปัญหาค่านิยม เนื่องจากคนต้องการใบปริญญามากกว่า ส่งผลให้สถิติปี 2550 มีผู้เรียนอาชีวะ 40 : 60 คือ จบ ม.3 เรียนต่ออาชีวะ 40% และเรียนต่อ ม.ปลาย 60% สถิติปี 2551 เพิ่มขึ้นเป็น 43 : 57 และสถิติปี 2552 อยู่ระหว่างรวบรวมสถิติ แต่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 46 : 54 และคาดอีก 2 ปี จะเป็นไปตามนโยบายรัฐบาล คือ 50: 50 ทั้งนี้ประเทศที่เจริญแล้วจะเรียนสายอาชีพมากกว่าสายสามัญ แต่ประเทศไทยคนยังมีความฝันอยากได้รับปริญญาแม้ค่อนข้างจะหางานยาก ขณะที่สายวิชาชีพหางานได้มากกว่า

“เมื่อเร็วๆ นี้ได้หารือร่วมกับนายกสมาคมช่างเชื่อมแห่งประเทศไทย ทราบว่าขณะนี้วิชาชีพช่างเชื่อม ขาดบุคลากรอย่างมากจนถึงขั้นต้องเอาผู้ประกอบการช่างเชื่อมชุมชนไปพัฒนาอัปเกรดเป็นช่างฝีมือ ประกันรายได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 3-8 หมื่นบาท ดังนั้นจึงต้องประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองตลอดจนเด็กรับทราบว่าการเรียนสายอาชีวะ มีโอกาสทำงานมากกว่าสายสามัญ ที่ผ่านมาพยายามทำให้ประชาชนรู้จักอาชีวะโดยการจัดโครงการคนพันธุ์อา เพื่อให้คนได้รู้จัก เข้าถึงอาชีวะ และได้รู้ว่าอาชีวะมีภารกิจอะไร ต้องการสื่อให้เห็นว่าลูกหลานชาวอาชีวะของเราเป็นคนสร้างสรรค์ มีคุณค่า สร้างประโยชน์ให้สังคม ขณะเดียวกันก็ตั้งใจเรียนเพื่อเป็นผู้ใหญ่ที่ดีต่อไป ซึ่งพบว่าได้รับผลตอบรับที่ดีมาก” นายเฉลียว กล่าว

เลขาธิการ กอศ.กล่าวด้วยว่า ขอเชิญชวนเยาวชน สถานศึกษา ประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมชมงานดังกล่าว ซึ่งภายในงานจะมี การแสดงผลงานของชาวอาชีวะ สะท้อนให้เห็นว่าเรียนอาชีวะแล้วจะเห็นช่องทางอนาคตของผู้เรียน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวิชาการซึ่งกันและกันระหว่างนักเรียนนักศึกษา กับประชาชน นอกจากนี้ยังมีการจำหน่ายสินค้าจากฝีมือนักเรียน นักศึกษา พร้อมด้วยการอบรมวิชาชีพระยะสั้น เช่น ทำดอกไม้ประดิษฐ์ การบูร ทำขนม ศิลปะ ร้อยลูกปัด เพนต์เสื้อ ตกแต่งเสื้อผ้า ทำกระเป๋า เป็นต้น โดยคิดค่าอบรมชั่วโมงละ 1 บาท ที่เก็บค่าใช้จ่ายก็เพื่อให้เห็นคุณค่าและตั้งใจอบรม โดยจะได้รับวุฒิบัตรหลังอบรม ที่สำคัญยังเปิดให้นักเรียน นักศึกษาได้มาจัดรายการวิทยุสด ฝึกเป็นดีเจ ผ่าน R-Radio ซึ่งเผยแพร่ 143 สถานีทั่วประเทศ และผ่านทางอินเตอร์เน็ตทั่วโลกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น