xs
xsm
sm
md
lg

การแปรรูปรัฐวิสาหกิจไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก่อนที่จะถามว่าเราควรแปรรูปรัฐวิสาหกิจไหม เราต้องถามว่าเราจำเป็นต้องมีรัฐวิสาหกิจหรือไม่...หลักการง่ายๆ คือรัฐควรทำที่สิ่งที่เอกชนไม่ทำเพราะไม่คุ้มทุน เช่น บริการโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รางรถไฟ โครงข่ายพื้นฐานของระบบขนส่งมวลชนทางราง ถนน เป็นต้น แต่ถึงกระนั้น ในหลักการแล้ว เอกชนก็ยังสามารถเข้ามาให้บริการเหล่านี้ได้หากเรามีระบบการให้เงินอุดหนุนสำหรับโครงการบริการสาธารณะ (Public Service Obligation) ซึ่งหมายความว่า ผู้ประกอบทั้งที่เป็นรัฐและเอกชนสามารถเข้ามาประมูลแข่งกันได้ โดยรายใดขอวงเงินอุดหนุนในการดำเนินการต่ำที่สุดก็เป็นผู้ได้โครงการไปทำ ถ้ามีตรงนี้เราก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งพารัฐวิสาหกิจแห่งเดียวที่จะดำเนินการในเรื่องของบริการสาธารณะ

ในปัจจุบัน เรามีระบบ PSO ที่ใช้สำหรับรัฐวิสาหกิจเท่านั้นยังไม่ครอบคลุมเอกชน ทำให้เอกชนไม่สามารถเข้ามาร่วมในการลงทุนในการจัดการบริการสังคมได้เพราะไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินอุดหนุน (ยกเว้นในกรณีของกิจการบางประเภทที่มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อบริการสังคมตามกฎหมายเฉพาะ เช่น โทรคมนาคม เป็นต้น) แต่การให้เงินอุดหนุนเอกชนก็เป็นประเด็นที่มีความเสี่ยงสูงหากไม่มีการดำเนินการอย่างรอบคอบเพราะจะกลายเป็นช่องโหว่ให้มีการเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทเอกชนได้หากการประมูลไม่ดำเนินการไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม

อนึ่ง การมีระบบ PSO สำหรับรัฐวิสาหกิจนับว่าเป็นการก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้อง ในอดีตที่ไม่มีระบบ PSO จะมีข้ออ้างกันอยู่เรื่อยๆว่ายังคงต้องเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่เพราะเป็นการบริการสังคม ซึ่งส่วนหนึ่งจริง แต่เราไม่รู้เลยว่าปีหนึ่งรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งให้บริการทางสังคมแล้วขาดทุนเป็นเงินเท่าใด เพราะไม่มีการแยกบัญชีบริการเชิงสังคมออกจากบริการเชิงพาณิชย์ อย่างน้อยเราจะมีข้อมูลต้นทุนในการให้บริการสังคมของรัฐวิสาหกิจซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางระบบ PSO สำหรับบริษัทเอกชนในอนาคต

กล่าวโดยสรุป เรายังมีความจำเป็นต้องมีรัฐวิสาหกิจในกรณีของการให้บริการเชิงสังคมที่ไม่คุ้มทุนอยู่ ตราบใดที่เรายังไม่มีระบบในการให้เงินอุดหนุนแก่บริษัทเอกชนในการจัดหาบริการสาธารณะที่ไม่คุ้มทุน

การแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์นั้นก็มีข้อควรระมัดระวังบางประการ ประการแรก...รัฐไม่ควรขายรัฐวิสาหกิจที่เห็นว่า “ล้มไม่ได้”** มิเช่นนั้นจะเหมือนมาเลเซียนแอร์ไลน์ที่รัฐบาลมาเลเซียขายไปให้เอกชน แต่บริษัทเอกชนกลับถ่ายเทเงินออกจากสายการบินที่ซื้อส่งผลให้เกิดหนี้มหาศาลจนกระทั่งล้มละลาย สุดท้ายแล้วรัฐต้องมาซื้อคืนพร้อมหนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก บทเรียนก็คือ หากจะขายรัฐวิสาหกิจต้องทำให้ตลาดมีการแข่งขันก่อน มีผู้ประกอบการหลายรายในตลาด และรัฐวิสาหกิจเองก็จะต้องไม่ใหญ่เกินไปที่จะ “ล้มไม่ได้” หากใหญ่เกินไปก็ต้องเลือกที่จะแปรรูปเฉพาะบางส่วน รัฐวิสาหกิจที่ขายไปทุกแห่งจะต้องล้มได้โดยที่ประชาชนไม่เดือดร้อนเพราะมีรายอื่นที่สามารถให้บริการแทนได้ ถ้าคิดว่าขายไปแล้วและธุรกิจดังกล่าวไปไม่รอด ประชาชนจะเดือดร้อนก็อย่าขาย

ประการที่สอง...คือ เรื่องของการกำกับดูแลการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ผ่านมามักถูกวิจารณ์ว่าเป็นการดำเนินการโดยไม่มีการวางระบบการกำกับดูแลมารองรับล่วงหน้าเพื่อให้การคุ้มครองประชาชน การจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลนั้นเป็นเรื่องง่าย แต่การสร้างองค์กรกำกับดูแลที่ปลอดจากผลประโยชน์ของการเมืองและธุรกิจเป็นสิ่งที่ท้าทาย เราควรศึกษาจากประสบการณ์ที่ผ่านมาในการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลในสาขาต่างๆ เช่น โทรคมนาคม พลังงานและการประกันภัย ว่าแต่ละองค์กรมีจุดเด่นจุดด้อยอย่างไร เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างองค์กรกำกับดูแลที่ดีในอนาคตซึ่งประชาชนจะได้ประโยชน์

ประการที่สาม...ในเรื่องของการมีส่วนร่วมของสังคมในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้น เห็นว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจหรือไม่นั้นจะต้องเป็นนโยบายของรัฐบาลซึ่งต้องศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับผลดี ผลเสียของการแปรรูป และดำเนินมาตราการในการป้องกัน แก้ไขหรือทุเลาปัญหาต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องของ อัตราค่าบริการหลังการแปรรูป การปลดพนักงาน ความต่อเนื่องในการให้บริการสังคม การผูกขาด ฯลฯ อย่างไรก็ดี รัฐต้องรับฟังข้อสงสัย หรือ ประเด็นที่ประชาชนเป็นกังวลและตอบข้อสงสัยหรือข้อกังวลเหล่านั้นให้ได้อย่างชัดเจน เช่น หากประชาชนเป็นกังวลเรื่องการประเมินมูลค่าทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจที่ต่ำเกินควร รัฐก็ต้องเอารายละเอียดเกี่ยวกับการประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่บริษัทที่ปรึกษาจัดทำให้มาเปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบเพื่อที่จะสามารถมีการถกเถียงกันในรายละเอียดถึงความถูกต้องหรือเหมาะสมของวิธีการหรือหลักเกณฑ์ที่ที่ปรึกษาใช้ในการประเมินเป็นต้น มิฉะนั้นแล้วการทำประชาพิจารณ์ที่ไร้ข้อมูลก็จะทำให้ผู้เข้าร่วมไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าการแปรรูปที่รัฐบาลเสนอมานั้นเหมาะสมหรือไม่ และก็จะเกิดความระแวงซึ่งจะนำไปสู่การปฏิเสธการแปรรูปทั้งหมดแทนที่จะเป็นการปฏิเสธวิธีการหรือขั้นตอนบางส่วนเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น