xs
xsm
sm
md
lg

ถ้าพันธมิตรไม่เป็นพรรคการเมือง

เผยแพร่:   โดย: ชัยสิริ สมุทวณิช

คำถามนี้เท่ากับเป็นการ “สมมติ” อย่างหนึ่ง

เป็นข้อสมมติที่หลายคนอาจตั้งข้อสงสัยว่าผู้เขียนคัดค้านการที่เกิดกระแสต้องการแปรรูปการเคลื่อนไหวมวลชนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไปสู่การจัดตั้งโครงสร้างใหม่สู่กระแสหลักโดยการเป็นพรรคการเมืองหรือไม่

คำตอบคือ ผู้เขียนมิได้ค้านการเป็นพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ

แต่คงต้องอธิบายในขั้นพื้นฐานเสียในที่นี้ว่า พรรคการเมืองนั้น ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น เมื่อตั้งแล้วก็ต้องต่อสู้เพื่อให้ได้ “อำนาจรัฐ” เข้ามา “จัดตั้งรัฐบาล” แล้วเข้าสู่การบริหารประเทศ ตามนโยบายที่ทางพรรคการเมืองได้แถลงต่อประชาชน

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้นมีจุดยืนที่ชัดเจนที่สุด คือการที่จะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้แบบถวายชีวิต นี่เป็นหลักการที่พันธมิตรฯ มีมาตั้งแต่เบื้องต้น และเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งว่า พันธมิตรฯ นั้นได้รับการสนับสนุนอย่างล้นหลามก็เพราะความจงรักภักดี และการที่เกิดใส่เสื้อเหลืองก็เนื่องจากเป็นสัญลักษณ์โยงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจน

ปัจจัยต่อมาคือ พันธมิตรฯ เป็นนักต่อสู้ที่กล้าหาญ มีแกนนำที่เป็นผู้มีความรู้สูง มีวุฒิภาวะ และคุณวุฒิพร้อมที่จะนำมวลชนประกอบกับมีความกตัญญูรู้คุณต่อสถาบันเบื้องสูงและต่อแผ่นดินทำให้ความเป็นผู้นำดูจะสูงเด่นยิ่งขึ้น

ลักษณะดังกล่าวหายากในกลุ่มเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้าม

ผู้เขียนอยากสรุปว่า ปัจจัยที่กล่าวมาสั้นๆ นี้ ดูจะไม่ใช่เป็นปัจจัยพอเพียงที่ทำให้พันธมิตรฯ มีเหตุผลที่จะตั้งพรรคการเมือง

แต่ทำไมจึงเกิดกระแสการตั้งพรรคการเมืองขึ้น

ทั้งๆ ที่พันธมิตรฯ พยายามผลักดัน “การเมืองใหม่” อยู่แล้ว

หรือว่าพันธมิตรฯ เห็นว่า “การเมืองใหม่” ไม่ได้รับความสนใจอย่างแท้จริงจากพรรคการเมืองที่มีอยู่

เท่าที่ผ่านมาการเมืองไทยในสายตาของพรรคการเมืองเกือบทุกพรรค เป็นการเมืองที่ “ควรเปลี่ยนแปลง” แบบมีขั้นตอน และควรมีลักษณะ “ค่อยเป็นค่อยไป” มากกว่า

การปรับเปลี่ยนแบบพลิกฝ่ามือ หรือเปลี่ยนใหม่ทั้งหมดหรือที่เรียกว่า “พลิกกระดาน” โดยใช้ “คนเล่นหน้าใหม่”

นี่คือเหตุผลลึกลงไปของความต้องการที่จะตั้งพรรคของพันธมิตรฯ ครับ

พรรคการเมืองของพันธมิตรฯ จะมีภารกิจชัดเจนอยู่ที่จะดำเนินการ “สร้าง” หรือเป็นสถาปนิกในการออกแบบ “การเมืองใหม่”

และจะเป็นวิศวกรที่จะ “สร้างระบบ” การเมืองขึ้นมาใหม่
รวมทั้งจะ “ทำ” การเมืองใหม่ หลังจากนั้นก็จะทำหน้าที่ “บริหาร” ซึ่งจะทำทั้งหมดได้ก็ต้อง “ได้อำนาจรัฐ” แล้ว

ผมรู้จักมักคุ้นและทำงานร่วมกับ “แกนนำ “พันธมิตรฯ มานาน บางคนรู้จักกัน 30-40 ปีก็มี

ผมยืนยันกับท่านผู้อ่านว่า ทุกคนไม่ใช่พวก “อยากมีอำนาจ” ไม่ใช่พวก “อยากเป็นนายกฯ อยากเป็นรัฐมนตรี” หลายคนได้พิสูจน์ตัวเองโดยเลือกข้างแล้ว และไปทำงานกับประชาชน อย่างคุณสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ เป็นเอ็นจีโอมายาวนาน คุณพิภพ ธงไชย ก็ทำงานกับเด็ก มีโรงเรียนที่ให้โอกาสในการศึกษาแบบใหม่กับเด็กที่ด้อยโอกาส คุณสนธิ สนใจเกี่ยวกับสื่อ เคยมี นสพ.ที่สื่อต่างประเทศชื่นชมรวมทั้งอิจฉาและจ้องทำลาย เพราะทำได้ดีกว่าฝรั่ง คนอื่นๆ บางคนเป็นผู้นำสหภาพแรงงาน บ้างก็สมถะอย่างพลตรีจำลอง ศรีเมือง

เห็นได้ว่าคนเหล่านี้อยู่ห่างไกลจากพวกที่อยากได้อำนาจรัฐ ต่อให้พันธมิตรฯ เป็นพรรคการเมืองชนะเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาล คนเหล่านี้ก็ไม่มีวันเป็นนายกฯ เป็นรัฐมนตรี แต่ก็จะเป็นคนเดิมๆ ต่อไป

แต่ผู้อ่านคงอยากถามว่า หัวข้อที่ตั้งไว้ว่าถ้าไม่เป็นพรรคการเมืองแล้ว พันธมิตรฯ จะคงสถานะเดิมหรือ?

ผู้เขียนอยากกล่าวโดยเขียนไว้ในที่นี้ว่า ไม่ใช่แน่ แต่มีทางเลือกอีกมากที่ทำได้

ประการแรก การไม่เป็นพรรคการเมือง มิใช่ “ปิดกั้น” คนของพันธมิตรฯ ไม่ให้เข้าสู่พรรคการเมือง คนไหนที่ต้องการเข้าพรรคการเมืองที่มีอยู่แล้ว (และมีหลายคนอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์แล้ว) เช่น คุณสมเกียรติ หรือคุณสำราญ รอดเพชร เป็นต้น)

ดังนั้นพวกที่ไม่อยู่กับพรรคก็จะเคลื่อนไหวได้เป็นอิสระและสามารถจัดตั้ง “โครงสร้าง” เพื่อทำหน้าที่ “ประสานงานในสภา” ให้กับ ส.ส.ที่เป็นพันธมิตรฯ ทำหน้าที่ประเมิน, ติดตาม, วิจัย, เสนอแนะ ฯลฯ ให้กับ ส.ส.ของพันธมิตรฯ นอกจากนั้นยังสามารถมีโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และรับงบประมาณอุดหนุนจากรัฐได้

ประการที่สอง
พันธมิตรฯ ควรขยายฐานตัวเอง โดยจัดตั้งองค์กรใหม่ ทำหน้าที่แบบที่ทำอยู่แล้ว คือจัดตั้งสาขาให้เป็นรูปเป็นร่างมากกว่านี้ เวลานี้มีพันธมิตรฯ อยู่ทุกจังหวัด ควรสนับสนุนให้เป็นรูปธรรม

การขยายฐานหมายถึง ขยายขอบเขตของงานด้วย

ประการที่สาม ต่อเนื่องจากประการที่สอง คือตั้งองค์กรเพื่อประชาชน เช่น ตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะให้การรับรองคุณภาพ, ความปลอดภัย, ความใหม่สด, การไม่ปนเปื้อนสารพิษของผลิตภัณฑ์เพื่อบริโภคหรือใช้งาน ซึ่งพันธมิตรฯ จะทำได้ดีกว่าหน่วยงานของรัฐในด้านผู้บริโภค การทำหน้าที่นี้คล้ายกับที่นายราฟ เนเดอร์ ทำอยู่ในอเมริกา คือตรวจสอบตั้งแต่รถยนต์ไปจนถึงเครื่องไฟฟ้า บริการโรงแรม, โรงพยาบาล, ของกินของใช้ ฯลฯ รวมทั้งให้เรตติ้งผลิตภัณฑ์ด้วย

การทำเช่นนี้เท่ากับพันธมิตรฯ เข้าถึงผู้บริโภคและไม่ใช่งานการเมือง แต่เป็นงานบริการสังคม

ประการที่สี่ คือให้การศึกษา, ฝึกทักษะทั้งด้านการเมือง, เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งพันธมิตรฯ จะทำได้ดีกว่าองค์กรอีกหลายองค์กร เพราะไม่หวังผลกำไร และไม่หวังผลประโยชน์อื่นใด

ประการที่ห้า ได้แก่การรณรงค์ซึ่งแต่ละปีจะทำการรณรงค์ใหญ่ 2-3 ครั้ง คือทางการเมือง, ทางเศรษฐกิจ, ทางสังคม, ทางวัฒนธรรม, ทางสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต

การปรับปรุงพันธมิตรฯ มาทำงานแบบนี้บ้างจะช่วยตอกย้ำให้ประชาชนเห็นว่า พันธมิตรฯ เป็นทางเลือกใหม่ที่เดินคู่ขนานไปกับ “การเมืองใหม่” อย่างแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น