xs
xsm
sm
md
lg

พรรคพันธมิตรฯ !? ความจำเป็นทางประวัติศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

ดูการอภิปรายในญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีปลายสัปดาห์ก่อนแล้วอาจจะมีหลายความรู้สึกคละเคล้าระคนกันไป โดยเฉพาะเมื่อนำมาคิดวิเคราะห์ประกอบกับสถานการณ์การเมืองโดยรวมในปัจจุบัน

ผมมีความรู้สึกในประการสำคัญว่า แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจำเป็นต้องจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาต่อสู้ในระบบรัฐสภาที่เป็นอยู่ควบคู่กันไปกับการขับเคลื่อนทางการเมืองทั้งหมดในภาพรวมขอวงตนด้วย

หนึ่ง – เพื่อไม่ให้ต้องตกเป็น “จำเลยทางสังคม” แต่ฝ่ายเดียวโดยไม่มีโอกาสตอบโต้

สอง – เพื่อใช้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และ/หรือที่ประชุมรัฐสภา เป็น “กระบอกเสียง” ในการประกาศการเมืองใหม่ให้กว้างขวางไปกว่าที่ ASTV และสื่ออื่น ๆ ในเครือข่ายทำอยู่ หรือพูดง่าย ๆ ว่าเป็น “การปฏิรูปสื่ออิเลคโทรนิคส์ภาครัฐในทางปฏิบัติ” ก็ไม่เกินเลยความจริงนัก


ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจฯที่ผ่านมา คนที่ถูกเอ่ยชื่อบ่อยโดยไม่ได้อยู่ในที่ประชุม และไม่ได้เป็นสมาชิกส.ส. น่ะมีอยู่ 2 คน

คนหนึ่งคือพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

อีกคนหรืออีกกลุ่มคนคือพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ต่างกันแต่ว่าคนแรกนั้นมีคนพูดแทน คือ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นแกนนำคนเสื้อแดงบนเวที บางคนในส่วนนี้มีตำแหน่งเป็นถึงรองประธานสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่ควบคุมการประชุมและตัดสินใจในประเด็นสำคัญเสียด้วย แต่คนหลังหรือกลุ่มคนหลังนั้นแทบไม่มีคนพูดแทนเลย ทั้ง ๆ ที่ประเด็นหลักของการอภิปรายคือการกระทำของพวกเขา มีคนพูดแทนอยู่คนหนึ่งท่านก็ไม่ได้มีฐานภาพทางกฎหมายเป็นผู้แทนของกลุ่ม เพราะเป็นผู้แทนของกลุ่มอื่น จะพูดจาอะไรก็ต้องระวังมารยาททางการเมือง

การอภิปรายไม่ไว้วางใจฯที่ผมเห็นวันสองวันนี้ คือการอภิปรายไม่ไว้วางใจพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยโดยแท้

โดยเฉพาะประเด็นการชุมนุม 193 วันที่ผ่านมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชุมนุมที่สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองที่ถูกตั้งข้อหาฉกาจฉกรรจ์ทั้งเป็นผู้ก่อการร้ายสากลและผู้ทำลายเศรษฐกิจชาติ

ไม่มีคนแก้ต่างให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอย่างเป็นงานเป็นการเลย

ทั้ง ๆ ที่แก้ต่างได้สบายมาก

พรรคประชาธิปัตย์ระวังจนตัวลีบ เพราะขนาดไม่ออกหน้าแก้ต่างให้ก็ยังถูกกล่าวหาผิด ๆ ว่าอยู่ใต้อาณัติของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และพูดกันตามจริง พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่อาจแก้ต่างให้ได้อยู่แล้ว เพราะไม่ใช่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แม้จะมีความเห็นพ้องต้องกันในบางเรื่อง แต่ก็ต่างที่มา ต่างอุดมการณ์ ต่างเป้าหมาย และหลายเรื่องที่คิดเห็นไม่ตรงกันหรือตรงกันข้ามกันเลยด้วยซ้ำ เข้าใจว่าโดยเฉพาะเรื่องการชุมนุมที่สนามบินสุวรรณภูมิ

การกระทำของพันธมิตรฯในทุกเรื่องมีเหตุมีผลมีที่มาที่ไป และสามารถอธิบายได้ภายใต้กรอบการพิทักษ์ปกป้องคุ่มครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

การอธิบายของพันธมิตรฯไม่เพียงแต่จะก่อให้เกิดความเข้าใจในแต่ละปรากฏการณ์เท่านั้น ยังจะทำให้สามารถเข้าใจลงไปถึงระดับปรัชญาของรากฐานรวมของแต่ละปรากฏการณ์ด้วย

เสียแต่ว่าพันธมิตรฯ ไม่มีตัวแทนเป็น ส.ส.อยู่ในสภาผู้แทนราษฎร !

การตอบโต้หรือการอธิบายความเรื่องราวต่าง ๆ ที่กระทำอยู่เป็นปกติทาง ASTV นั้น ไม่พอ เพราะคนที่ดูทีวีทางเลือกช่องนี้เป็นแฟนประจำเป็นกลุ่มความคิดเดียวกับพันธมิตรฯอยู่แล้ว อย่างดีก็แค่ผนึกกำลังให้แน่นแฟ้นไว้ ติดอาวุธทางปัญญาให้เข้มข้นขึ้น และอาจจะขยายตัวได้ในระดับหนึ่ง

แต่ยังไม่อาจจะก้าวทางยุทธศาสตร์เข้าไปสู่กลุ่มความคิดตรงกันข้ามหรือกลุ่มที่ยังได้รับข้อมูลข่าวสารไม่ครบถ้วน

พันธมิตรเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสื่ออิเลคโทรนิคส์ภาครัฐมากี่รัฐบาลแล้ว เห็นกันอยู่ว่าไม่สำเร็จ

ทำไมไม่พิจารณาอีกทางหนึ่ง

กิจกรรมทางสภาผู้แทนราษฎร และรัฐสภา หลายต่อหลายกิจกรรมต้องถ่ายทอดสดอยู่แล้ว บางกิจกรรมแม้ไม่ถ่ายทอดสด แต่ก็ตกเป็นข่าวละเอียดพอสมควร

ทำไมพันธมิตรฯจึงจะไม่ส่งคนเข้ามาเป็นส.ส.เพื่อครอบครองเนื้อหาในสื่ออิเลคโทรนิคส์ภาครัฐช่องทางนี้ล่ะ ?

คนของพันธมิตรฯหลายต่อหลายคนมีศักยภาพที่จะเป็นส.ส.คุณภาพได้สบายมาก

แทนที่จะให้พวกเขาพูดผ่านแต่ ASTV ผมว่าถึงเวลาแล้วที่พวกเขาควรจะเป็นนักรบในระบบรัฐสภารุ่นแรกที่จะเข้ามาประกาศการเมืองใหม่จากใจกลางของการเมืองเก่าที่กำลังล้มเหลว

ขอยกตัวอย่างคนอย่างอาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธุ์ !

คน ๆ นี้ไม่เพียงแต่จะอรรถาธิบายเรื่องชุมนุมที่สนามบินสุวรรณภูมิได้ แต่ยังจะสาธยายที่มาที่ไปทั้งหมดของเหตุการณ์ได้ย้อนหลังไปถึงปี 2548 และลักษณะของสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ” ที่เป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอีกต่างหาก งานพูดและงานเขียนของคน ๆ นี้ที่ผ่านมาพิสูจน์ได้ดี ไม่เพียงแต่เนื้อหา คน ๆ นี้ยังมีรูปแบบที่คนทั่วไปจะรู้สึกเชื่อก่อนจะฟังได้อีก

ยังมีอีกหลายคนที่มีลักษณะใกล้เคียงอาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธุ์

คนหนึ่งที่ผมเชียร์มาโดยตลอด แม้เธอจะไม่ค่อยเห็นด้วย ก็คือน้องแอ้ม – สโรชา พรอุดมศักดิ์

ถึงเวลาแล้วครับที่คนเหล่านี้จะต้องเป็นส.ส.ในนามพรรคพันธมิตรฯ เพื่อเป็นก้าวย่างแรกของการเดินทางไปสู่การเมืองใหม่ที่จะไม่ใช่อยู่ในแต่ในฝันหรือพูดเอามันกันอีกต่อไป

ไม่ง่ายหรอกครับ แต่ต้องมี “ก้าวแรก” ให้ได้


ผมไม่เคยคิดว่าถ้าพันธมิตรฯตั้งพรรคการเมือง จะต้องมีส.ส.ในสภาเป็นร้อย หรือเป็นรัฐบาลได้ในวันในพรุ่ง

ขอแค่อยู่ระหว่าง 30 – 50 ในการเลือกตั้งครั้งแรกที่จัดตั้งพรรค

และขอแค่ให้พิจารณาดี ๆ ว่าการจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือพรรคที่ไม่ร่วมทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ขอให้อยู่บนพื้นฐานของภารกิจหลัก...

“ประกาศการเมืองใหม่จากใจกลางของการเมืองเก่า”

งานในสภาผู้แทนราษฎร และรัฐสภา นั้นทำอะไรได้มากกว่าที่คิดครับ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงเป้าหมายพื้นฐาน 2 ประการข้างต้น...

ถ้าทำเป็นและมี “เป้าหมาย” ในการทำ

แล้วก็...เชื่อผมเถอะ...จะทำให้ประชาชนที่เคยเบื่อหน่ายพันธมิตรฯ มีอันต้องตื่นตะลึง เมื่อได้ยินได้ฟังสารัตถะที่ออกมาจากปากของส.ส.พรรคพันธมิตรฯที่ผ่านการคัดสรรให้เหมาะกับภารกิจแล้ว

ไม่ง่ายหรอกครับ แต่ต้องมี “ก้าวแรก” ให้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น