xs
xsm
sm
md
lg

ถ้าการทำงานวิจัยถูกเก็บภาษี 30% ต่อไปใครจะอยากทำงานวิจัย

เผยแพร่:   โดย: วิทยากร เชียงกูล

ประเทศไทยมีนักวิจัยและผลงานวิจัย (รวมทั้งผลงานวิชาการ) น้อยมาก จนทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ อยู่แล้ว ถ้าระบบการเก็บภาษีรายได้ส่วนบุคคลของเราคิดเก็บภาษีรายได้นักวิจัยในอัตราสูงมากอย่างไม่ยืดหยุ่น จะยิ่งทำให้คนอยากทำงานวิจัยน้อยลง และเมื่อไหร่งานวิจัยและงานวิชาการของเราจะเจริญเติบโตกับเขาได้

ความจริงงานวิจัยไม่น่าจะถูกเก็บภาษีถึง 30% ของรายได้จากการวิจัย แต่ปีนี้ทางสรรพากรกระทรวงการคลังเข้มงวดตรวจสอบรายได้ส่วนบุคคลที่ได้มาจากทางอื่น นอกเหนือจากเงินเดือน และนำรายได้นี้ไปบวกกับเงินเดือนเพื่อคิดภาษีใหม่ สำหรับผมซึ่งมีเงินเดือนจากมหาวิทยาลัยเอกชนในเกณฑ์สูง ต้องเสียภาษีขั้นสุดท้ายในอัตรา 25% อยู่แล้ว เมื่อเอารายได้จากงานวิจัยและงานเขียนบทความ/หนังสือวิชาการมารวมด้วย (ราว 3 แสนบาทในปี 2551) ทำให้ยอดรายได้ทั้งปีสูงเข้าเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีขั้นสุดท้ายในระดับ 30% กล่าวโดยสรุป คือการทำงานวิจัยและผลิตผลงานวิชาการส่วนที่มีรายได้เพิ่มขึ้นมาตลอดทั้งปีราว 3 แสนบาทนั้น ต้องเสียภาษีเพิ่มจากเดิมอีก 9 หมื่นบาท

ผมไม่ทราบว่าทางกระทรวงการคลัง มีข้อยกเว้นให้งานวิจัยและการผลิตผลงานวิชาการหักลดหย่อนค่าใช้จ่ายได้หรือไม่ แต่เจ้าหน้าที่สรรพากรที่เชิญผมไปพบอธิบายว่ารายได้จากงานประเภทนี้ถือเป็นรายได้จากการรับจ้าง จึงต้องบวกกับเงินเดือน ถือเป็นรายได้ส่วนบุคคลที่ต้องเสียภาษีในอัตราก้าวหน้า ผมกำลังทำหนังสือร้องเรียนขอหักค่าลดหย่อนค่าใช้จ่ายในการวิจัย 2 เรื่อง คือการจ้างผู้ช่วยวิจัยซึ่งผมจ้างจริง และเรื่องการซื้อหนังสือหนังหา การไปเข้าร่วมประชุมสัมมนาต่างๆ ซึ่งก็เป็นค่าใช้จ่ายจริง แต่รายการหลังนี้ผมไม่ได้เก็บใบเสร็จไว้ ไม่แน่ใจว่าหนังสือร้องเรียนที่ยื่นไปจะได้ผลหรือไม่

สมมติว่าเจ้าหน้าที่สรรพากรจะเข้าใจปัญหานักวิชาการและยอมหักค่าลดหย่อนให้บ้าง รายได้ส่วนที่เหลือก็ยังทำให้ผมต้องจ่ายเพิ่มในอัตรา 30% อยู่ดี ผมคิดว่า ถ้าแยกเก็บภาษีรายได้จากการวิจัย/วิชาการต่างหากสัก 5-10% น่าจะเป็นธรรมกว่า และยังจะทำให้นักวิชาการอยากทำวิจัย/เขียนหนังสือ/บรรยายพิเศษกันต่อไปได้ แต่ถ้าต้องเสีย 30% ปีหน้า ผมคงบอกยกเลิกการเขียนรายงานสภาวะการศึกษาไทยที่เคยทำให้สภาการศึกษาแห่งชาติติดต่อกันมาหลายปี

ความจริงหลักการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า ใครมีรายได้สูง ก็ควรเสียภาษีในอัตราสูง เป็นหลักการที่เป็นธรรมที่ผมเห็นด้วย และไม่รู้สึกเสียดายที่จะจ่ายภาษีรายได้ให้รัฐบาลปีละกว่าแสนบาททุกปี ทั้งที่ตัวผมเองได้รับบริการที่มีคุณภาพจากรัฐน้อยมาก ปัญหาที่ผมรู้สึกไม่เป็นธรรมก็คือ ขณะที่คนทำงานกินเงินเดือนต้องเสียภาษีในอัตราก้าวหน้า คนที่มีรายได้โดยไม่ต้องทำงาน (Unearned Income) เช่น มีรายได้จากค่าเช่า ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินกำไรจากการขายหุ้น ทรัพย์สิน การได้มรดก การได้โดยเสน่หา หรือทำงานน้อย เช่น เบี้ยประชุม ผลตอบแทน โบนัสของกรรมการรัฐวิสาหกิจ/บริษัทหน่วยงานขนาดใหญ่ ฯลฯ บางอย่างไม่เสียภาษี และส่วนใหญ่ไม่ได้เสียในอัตราก้าวหน้า

ทั้งคนรวยจริงๆ ยังมีวิธีหลบเลี่ยงภาษีได้หลายทาง แต่นักวิชาการ/นักวิชาชีพ คนกินเงินเดือนที่เป็นคนชั้นกลางอย่างพวกเราต้องเสียภาษีรายได้บุคคลอัตราก้าวหน้าในเกณฑ์ที่ขึ้นขั้นสูงค่อนข้างเร็วไปหน่อย เมื่อเทียบกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นมากในยุค 10 ปีหลัง เพราะเรายังต้องเสียภาษีทางอ้อมอื่นๆ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิต เวลาซื้อของและน้ำมันมาเติมรถ การใช้บริการต่างๆ อีกทางหนึ่งอยู่แล้ว

หลักการเก็บภาษี ต้องเน้น 1. เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม 2. มุ่งให้คนทำสิ่งที่ดี เช่น การทำงานเป็นประโยชน์เพิ่มขึ้น และ 3.สกัดกั้นให้คนลดทำสิ่งไม่ดี เช่นกินเหล้า สูบบุหรี่ ซื้อของหรือใช้บริการฟุ่มเฟือย

หลักแรกจึงควรเก็บภาษีจากคนมีรายได้โดยไม่ต้องทำงาน เช่น รายได้จากมรดก ทรัพย์สิน ค่าเช่า ดอกเบี้ย เงินปันผล สำหรับคนทุกคนในประเทศไทยในอัตราก้าวหน้า อาจจะยกเว้นหรือมีค่าลดหย่อนให้เฉพาะคนที่เกษียณแล้วและคนพิการซึ่งต้องพึ่งรายได้ส่วนนี้เพื่อการดำรงชีพ เราควรปฏิรูประบบภาษีส่วนนี้อย่างจริงจัง เพราะประเทศไทยมีคนรวยต่างจากคนจนมาก คนที่รวยที่สุด 20% แรก มีรายได้มากกว่า 50% ของรายได้คนทั้งประเทศ พวกเขาควรจะเสียภาษีได้มากกว่านี้

ส่วนภาษีรายได้จากคนทำงานนั้น ในหลายประเทศมีนโยบายลดหย่อนอัตราภาษีลงบ้าง เพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนอยากทำงานมากกว่าอยากทำงานลดลง บางประเทศลดภาษีนิติบุคคลสำหรับบริษัทที่เน้นนโยบายจ้างงานมากกว่าใช้เครื่องจักรคอมพิวเตอร์, หรือกรณีไปลงทุนในเขตยากจน นี่คือหลักการส่งเสริมการพัฒนาประเทศ ซึ่งไม่ใช่คิดแต่จะหารายได้จากภาษีให้มากที่สุดหลักเดียว

สำหรับประเทศที่เป็นระบบรัฐสวัสดิการ ยังคงเห็นว่าภาษีรายได้จากการทำงานสำคัญ เพราะรัฐบาลจะต้องใช้จ่ายเรื่องสวัสดิการ การบริการทางการศึกษา สุขภาพและบริการสังคมอื่นๆ มาก แต่คนทำงานในประเทศรัฐสวัสดิการที่เสียภาษีสูงในช่วงวัยทำงาน พอเกษียณแล้วเขาก็ได้ประโยชน์กลับคืนมาเต็มที่ ขณะที่อาจารย์มหาวิทยาลัยเอกชนในประเทศไทยได้เงินเดือนสูงกว่าอาจารย์ในมหาวิทยาลัยรัฐนิดหน่อย แต่ก็เสียภาษีสูงกว่า และพอเกษียณแล้วก็ไม่มีบำเหน็จบำนาญเหมือนกับอาจารย์มหาวิทยาลัยรัฐ (อาจจะได้นิดหน่อยจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและประกันสังคม ซึ่งเราต้องจ่ายเองอีกส่วนหนึ่งนอกจากภาษี แต่ไม่ได้อะไรคืนจากภาษีที่เราจ่ายให้รัฐตลอด 40 ปี)

เรื่องภาษีรายได้ เรื่องระบบประกันสังคม รัฐสวัสดิการ ควรจะคิดและปฏิรูปกันใหม่ เพราะประเทศไทยจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น คือจะมีคนในวัย 60 ปีขึ้นไปเป็นสัดส่วนสูงขึ้น คนวัยทำงานจะลดลงตามลำดับ มีคนสูงอายุจำนวนมากที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม เช่น เกษตรกร, ผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย คนงานรับจ้างทั่วไป แต่ตอนอยู่ในวัยทำงานราว 40 ปี พวกเขา (และเธอ) เสียภาษีทางอ้อมให้กับรัฐมากอยู่ รัฐบาลต้องคิดในแง่นี้ด้วยและมองให้กว้างว่าจะเก็บภาษีกันอย่างไรและให้สวัสดิการสังคมกันอย่างไร จึงจะเกิดความเป็นธรรมสำหรับคนทั้งประเทศ

การเพิ่มการเก็บภาษี เพื่อให้คนลดการทำสิ่งที่ไม่ดีและฟุ่มเฟือย เช่น เหล้า บุหรี่ รถยนต์คันใหญ่ บ้าน/คอนโดตากอากาศ เรือยอร์ช เพชรนิลจินดา ผับ ร้านขายเหล้า สถานอาบอบนวด ภาษีการทำให้เกิดมลพิษ ฯลฯ จะเกิดประโยชน์ทั้ง 2 ทาง คือสกัดกั้นสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและฟุ่มเฟือย และเพิ่มรายได้ให้กับรัฐไปช่วยคนที่จนกว่า นี่คือสิ่งที่ควรปฏิรูปโดยเร่งด่วนควบคู่ไปกับการปฏิรูปการเก็บภาษีรายได้จากการไม่ทำงาน และการขายทรัพย์สิน, หุ้นจะทำให้รัฐบาลมีรายได้และเกิดความเป็นธรรมเพิ่มขึ้น

ในขณะเดียวกันควรลดหย่อนภาษีการทำสิ่งที่ดีๆ เช่น การบริจาคให้มูลนิธิสาธารณกุศล สถานศึกษา การเลี้ยงดูบิดามารดาได้เพิ่มขึ้น แม้แต่การบริจาคให้พรรคการเมืองก็น่าจะดีในระยะยาว อาจจะเปิดกว้างให้คนบริจาคให้สหภาพแรงงาน กลุ่มเกษตรกร สหพันธ์เกษตรกร สมาคมอาชีพต่างๆ ได้ ในกรณีที่คนไม่อยากบริจาคให้พรรคการเมือง นอกจากนี้ก็ควรยกเว้น/ลดหย่อนภาษีให้ธุรกิจของสหกรณ์ประเภทต่างๆ (ต้องเป็นสหกรณ์ที่เป็นของสมาชิกและบริหารโดยสมาชิกจริงๆ ไม่ใช่เป็นของนายทุน แต่ใช้ชื่อสหกรณ์ เช่น สหกรณ์แท็กซี่หลายแห่ง) จะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาทางสังคมและการจัดตั้งองค์กรของประชาชนได้โดยตรง

สำหรับงานวิจัยก็น่าจะอยู่ในข่ายการทำสิ่งดีๆ ด้วยเช่นกัน เพราะเป็นงานที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ น่าจะมีการพิจารณาให้หักค่าลดหย่อนได้และเก็บภาษีแยกต่างหาก (ไม่นำไปรวมกับภาษีรายได้จากเงินเดือน) ในอัตรา 5-10% ถ้านักวิจัย/นักวิชาการโดนเก็บภาษีแบบบวกกับเงินเดือนในอัตราสูงถึง 30% ของรายได้จากงานวิจัย/วิชาการ จะกลายเป็นการทำให้นักวิชาการอยากทำงานวิจัย/วิชาการลดลง ประเทศชาติจะได้ประโยชน์ลดลง ไม่น่าจะมีประเทศไหนในโลกที่จะคิดเก็บภาษีจากงานวิจัย/วิชาการสูงถึงขนาดนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น