วุ่นไม่เลิก “วิทยา” ดอดเพิ่มชื่อนักกฎหมายทำงานให้บริษัทยาข้ามชาติมานั่งกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เอ็นจีโอชี้ไม่สมควร หาก รมว.สธ.ไม่แก้ไขร้องนายกฯ แน่ รมว.สธ.รับมีชื่อนักกฎหมายจริง แต่ไม่ใช่ลูกจ้างบริษัทยาแค่ว่าความให้ ยันสัดส่วนคณะกรรมการจากหลายภาคส่วนมากที่สุดแล้ว
แหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข (สธ.) ได้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ” ทั้งสิ้น 10 คน ตามความในข้อ 4 (29)ของ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ.2551 โดยให้มีนักกฎหมายที่เคยทำงานให้กับบริษัทยาข้ามชาติมาทำหน้าที่ และเขี่ยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายนักวิชาการทิ้ง
“รายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิใหม่ที่เตรียมจะลงนามแต่งตั้ง ได้ตัดรายชื่อของ รศ.ภญ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ที่ปรึกษาหน่วยวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกไป แล้วได้ใส่ชื่อตัวแทนบริษัทยาข้ามชาติเข้ามาแทนที่” แหล่งข่าวกล่าว
ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เท่าที่ทราบมามีผู้ถูกเสนอชื่อบางคนทำงานให้กับบริษัทยาข้ามชาติ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็เป็นเรื่องไม่สมควร เพราะยังมีนักวิชาการที่มีความสามารถอีกมากมาย ทั้งนี้ คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ มีหน้าที่หลักคือการคัดเลือกยาเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ หากเอาบุคคลที่ทำงานรับใช้บริษัทยาข้ามชาติเข้ามาเป็นกรรมการจะทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนได้ จึงอยากให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขทบทวนและเอาชื่อบุคคลที่อาจมีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนออกไป เพราะการตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติควรเป็นนักวิชาการและไม่เคยมีผลประโยชน์ผูกพันกับอุตสาหกรรมยามาก่อน หวังว่ารัฐมนตรีจะใคร่ครวญหากไม่รับฟังก็จะนำเรื่องนี้เข้าพบนายกรัฐมนตรีให้ทราบถึงความไม่ชอบธรรมนี้” น.ส.สารี กล่าว
นายวิทยากล่าวว่า ได้รับการเสนอรายชื่อของคณะกรรมการชุดดังกล่าวมาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว แต่ยังไม่ได้เสนอคณะรัฐมนตรี ซึ่งเท่าที่ผ่านมาได้หารือกับทุกฝ่ายเพื่อให้ได้สัดส่วนคณะกรรมการจากหลายภาคส่วนมากที่สุด ส่วนรายชื่อของนายบุญมา เตชะวณิช คณะที่ปรึกษา รมว.สธ.ที่มีการนำเสนอเข้าไปในคณะกรรมการชุดนี้ก็เพราะว่าเป็นนักกฎหมายขององค์การเภสัชกรรม ไม่ใช่นักกฎหมายของบริษัทยาใด
“คุณบุญมามีสำนักงานทนายความส่วนตัว ซึ่งก็รับจ้างว่าความทั่วราชอาณาจักร และก็เป็นสิทธิ์ที่ทนายความจะรับจ้างว่าความกับลูกความที่เป็นใครก็ได้ จะเป็นบริษัทยาหรือไม่ก็ตาม ก็เป็นเพียงการรับจ้าง ไม่ใช่เป็นลูกจ้าง หากไม่สามารถรับจ้างกับลูกความได้ ก็คงไม่ใช่” นายวิทยา กล่าว
นายวิทยากล่าวอีกว่า ได้พยายามหารือกับทุกฝ่ายแล้ว รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งหลาย แต่เมื่อตกลงกันแล้วจะหาว่าเสนอคนอื่นเพิ่มเติมก็คงไม่ได้ จึงอยากทราบว่าภญ.จิราพรมาจากสัดส่วนบุคคลใด เพราะได้หารือทุกฝ่ายลงตัวกันหมดแล้ว