“นักวิชาการ-ภาคประชาชน” สับเละ! พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยทางรถยนต์ พ.ศ.2535 ล้มเหลว ประชาชนไม่กล้าใช้สิทธิ ขั้นตอนยุ่งยาก ใช้เวลานาน ไม่มีเอกสารที่กำหนด ต้องมีการพิสูจน์ถูกผิด พร้อมจี้ยกเลิกบริษัทประกันภัยภาคเอกชน พร้อมแนะตั้ง “กองทุนสินไหมผู้ประสบภัยจากรถ” แก้ปัญหาด้านสุขภาพ และการจำกัดสิทธิ เตรียมนำ 1 หมื่นรายชื่อ เสนอต่อกระทรวงยุติธรรม-กระทรวงการคลัง
ศาสตราจารย์ ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในการเสวนา “ชำแหละ พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถฉบับนักวิชาการปะทะภาคประชาชน” โดยระบุว่า ควรมีการเปลี่ยนแปลง พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยทางรถยนต์ พ.ศ. 2535 โดยไม่ต้องมีบริษัทประกันภัยภาคเอกชนมาเป็นผู้บริหารกองทุน ซึ่งนอกจากไม่มีมูลค่าเพิ่ม ยังถ่วงกระบวนการในการจัดการ
ศาสตราจารย์ ดร.อัมมาร กล่าวถึงเหตุผลในการที่ต้องยกเลิก โดยระบุว่า เนื่องจากในกฎหมายฉบับนี้บังคับให้ทุกคนต้องมีอยู่แล้ว และให้รัฐเป็นผู้บริหารจัดการเอง เพื่อลดปัญหาความยุ่งยากในการจ่ายสินไหมทดแทนแก่ผู้ประสบภัย เพราะถ้ามาจากกองทุนเดียวกัน คงไม่ต้องมานั่งเถียงกันว่าใครถูกใครผิด โดยที่ผู้ประสบภัยสามารถขอรับค่าเสียหายได้โดยตรงจากกองทุน ทำให้ผู้ประสบภัยไม่ต้องสำรองเงินจ่ายไปก่อน รวมถึงให้โรงพยาบาลเบิกค่ารักษาพยาบาลได้โดยตรงกับกรมบัญชีกลาง
ด้านภาคประชาชน นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เนื่องจากอัตราการใช้สิทธิของผู้ประสบภัยต่ำกว่าร้อยละ 50 และเกือบร้อยละ 100 ใช้แล้วมีปัญหาจากระเบียบขั้นตอนที่ยุ่งยาก ใช้เวลานาน ไม่มีเอกสารที่กำหนด ต้องมีการพิสูจน์ถูกผิด
ทั้งนี้ ภาคนักวิชาการและภาคประชาชนเห็นตรงกันว่าควรมีการยกเลิก พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยทางรถยนต์ พ.ศ. 2535 และเสนอให้มีการออกกฎหมายฉบับใหม่ และจัดตั้ง “กองทุนสินไหมผู้ประสบภัยจากรถ” ที่เป็นองค์กรอิสระ เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาด้านสุขภาพ และการจำกัดสิทธิ พร้อมกันนี้เตรียมนำ 10,000 รายชื่อ เสนอต่อกระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการคลังต่อไป