ภาคประชาชนเตรียมล่าหมื่นรายชื่อล้ม พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยทางรถ เสนอยกร่าง พ.ร.บ.ใหม่ กองทุนสินไหมผู้ประสบภัยจากรถ “อัมมาร” ยกมือหนุน ซัดไม่เห็นประโยชน์ของการมีบริษัทประกัน ที่ใช้เงินต้นทุนไปกับการบริหาร การทำการตลาด สร้างเงื่อนไขกับการจ่ายเงินทดแทนที่ยุ่งยาก ยกตัวอย่าง “วันชัย” สมองกระทบกระเทือน เสียค่ารักษาเหยียบแสน ประกันภัยไม่เหลียวแล
วันนี้ (5 ส.ค.) ที่สำนักวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) มีการเสวนา “ชำแหละ พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถ ฉบับนักวิชาการ ปะทะภาคประชาชน” โดย ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ขณะนี้ควรปรับปรุงเปลี่ยนแปลง พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยทางรถ พ.ศ.2535 ในประเด็นสำคัญ คือ ต้องไม่มีบริษัทประกันภัยภาคเอกชนมาเป็นผู้บริหารกองทุน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการบริหารจัดการกองทุนที่มีประสิทธิภาพ และตนไม่เห็นประโยชน์ของการมีบริษัทประกัน ที่ใช้เงินต้นทุนไปกับการบริหาร การทำการตลาด สร้างเงื่อนไขกับการจ่ายเงินทดแทนที่ยุ่งยาก ทั้งที่ภาครัฐสามารถจัดการได้เอง โดยใช้กรมขนส่งทางบกและกระทรวงการคลัง เป็นผู้บริหารกองทุน
สำหรับโครงสร้างใหม่ที่เสนอ คือ ค่าเสียหายที่ผู้ประสบภัยมีสิทธิ์ได้รับควรประกอบด้วย 2 ส่วน 1.ค่าเสียหายกรณีบาดเจ็บ สถานพยาบาลควรเบิกค่ารักษาพยาบาลโดยตรงกับกรมบัญชีกลาง ผู้ประสบภัยไม่ต้องทดลองจ่ายเอง 2.ค่าเสียหายที่ผู้ประสบภัยเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ ผู้ประสบภัยหรือตัวแทนสามารถติดต่อขอรับได้โดยตรงที่กรมบัญชีกลาง ค่าเสียหายเหล่านี้ผู้ประสบภัยทุกคนมีสิทธิได้รับอย่างเท่าเทียม ทันที ไม่ต้องรอพิสูจน์ความรับผิดชอบทางกฎหมาย ซึ่งการจัดการแบบใหม่ จะทำให้ปัญหาการไม่ได้รับค่าเสียหายตามสิทธิที่ควรได้หมดไป ขณะที่การใช้สิทธิของผู้ประสบภัยจะเพิ่มขึ้น และลดภาระกองทุนประกันสุขภาพระบบอื่น รวมถึงลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประสบภัยจะลดลง
ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ขณะนี้ทั้งภาคนักวิชาการและภาคประชาชน ต่างเห็นตรงกันว่าควร ว่า ต้องมีการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการ โดยการยกเลิกกฎหมายเดิม คือ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาสุขภาพ โดยไม่ใช้เพดานมาเป็นตัวจำกัดสิทธิ หรือให้อุบัติเหตุมาเป็นเครื่องจำกัดสิทธิการเข้าถึงบริการ ในส่วนภาคประชาชน เสนอให้มีการออกกฎหมายฉบับใหม่เพื่อจัดตั้ง “กองทุนสินไหมผู้ประสบภัยจากรถ” ซึ่งจะมีลักษณะเป็นองค์กรอิสระ เพื่อให้มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ มีการกำหนดให้ใช้บริหารกองทุนไม่เกิน 5%
“ภาคประชาชนจะรวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุน 10,000 รายชื่อ พร้อมกับจะนำร่างฉบับดังกล่าวไปยื่นให้กับกระทรวงการคลัง และกระทรวงยุติธรรม เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาในสภาต่อไป เชื่อว่าจะทำให้ประชาชนจะได้รับประโยชน์มากที่สุด”น.ส.สารี กล่าว
ด้านนายวันชัย พรธนสิริกุล หนึ่งในผู้ประสบอุบัติเหตุทางรถและเกิดปัญหาในการใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัย กล่าวว่า เกิดอุบัติเหตุตั้งแต่ปี 2551 ขับมอเตอร์ไซค์ และถูกรถยนต์ที่มีประกันภัยชั้น 1 ชนแต่ถูกตั้งข้อหาว่าเป็นฝ่ายผิดเพราะยอมรับผิด เนื่องจากอยากให้เรื่องจบ ทำให้ได้เงินจากผู้ชน 50,000 บาท จากบริษัทประกัน 100,000 บาท ได้เงินจากพ.ร.บ.15,000 บาท แต่จากอุบัติเหตุดังกล่าว ทำให้ได้รับความกระทบกระเทือนที่สมอง และโรงพยาบาลรัฐบาลของจังหวัดไม่มีเครื่องเอ็กซเรย์สมอง ทำให้ต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลเอกชน และต้องสำรองจ่ายเงินก่อน ซึ่งต้องกู้ยืมเงินดอกเบี้ยร้อยละ 20 มาจ่ายไปแล้วกว่า 200,000 บาท ซึ่งผลจากการผ่าตัดสมอง ทำให้ร่างกายยังไม่ปกติทำงานไม่ได้และถูกเจ้าหนี้ตามทวงเงินตลอดเวลา