xs
xsm
sm
md
lg

สธ.แถลงผู้ป่วยหวัด 2009 หญิงวัย 40 และชายวัย 42 เสียชีวิต รวมไทยตายแล้ว 2 ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
สธ.รายงานผู้ป่วยหวัดใหญ่ 2009 ในไทยเสียชีวิตแล้ว 2 ราย หญิงวัย 40 ปี เสียชีวิตตั้งแต่ 20 มิ.ย.เหตุรพ.เอกชนรายงานช้า อ้างสิทธิผู้ป่วย ญาติขอร้อง ส่วนอีกรายชายวัย 42 ปี ติดเชื้อจากผับ ประสานความร่วมมือโรงพยาบาลรายงานหากผู้ป่วยอาการหนัก พร้อมส่งทีมแพทย์ช่วยเหลือ ขณะนี้มีผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อทั้งหมด 1,209 ราย หายเป็นปกติแล้ว 1,191 ราย และมีผู้รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 16 หนัก 2 รายแต่เริ่มดีขึ้น ชี้อัตราตายของไทยอยู่ที่ 0.2% วอนประชาชนอย่าตระหนก ป่วยไม่รุนแรงให้รักษาอยู่บ้านตามอาการ

เมื่อเวลาประมาณ 11.30 น.วันที่ 27 มิถุนายน นายวิทยา ภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดสาธารณสุข นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ระดับ 11 กรมการแพทย์ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ระดับ 10 กรมควบคุมโรค นพ.ศุภมิตร ชุณห์สิทธิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ระดับ 10 กรมควบคุมโรค และ นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ร่วมกันแถลงข่าวการเสียชีวิตของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ชนิด เอ เอช 1 เอ็น 1

**ผู้ป่วยหวัดใหญ่เสียชีวิตแล้ว 2 ราย
นายวิทยา กล่าวว่า มีผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ยืนยันเพิ่มอีก 77 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมตั้งแต่เมษายนถึงปัจจุบัน มีผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ยืนยันทั้งหมด 1,209 ราย ในจำนวนนี้หายเป็นปกติแล้ว 1,191 ราย มีผู้รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 16 ราย ได้รับการรายงานจากสำนักระบาดวิทยามีผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ 2009 จำนวน 2 ราย โดยรายแรกผู้เสียชีวิตรายแรกเป็นหญิงอายุ 40 ปี รายที่ 2 เพศชาย อายุ 42 ปี อย่างไรก็ตาม จากการติดตามดูอาการพบว่าผู้ป่วยร้อยละ 90 สามารถหายได้เอง มีอัตราการเสียชีวิตต่ำ ซึ่งตามปกติมีผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลถึง 30-40 รายต่อปี

“ขณะนี้ได้รายงานให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี รับทราบแล้ว โดยนายกฯ มีความเป็นห่วงและกำชับให้สธ.ให้ข้อเท็จจริงกับประชาชนถึงรายละเอียดของโรค เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยได้ทำตามมาตรฐาน ทั้งการเฝ้าระวังและการรักษาโรค มาเป็นอย่างดี และใช้มาตรการสูงกว่าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ด้วยซ้ำ และไม่เคยปฏิเสธว่า โรคนี้ป่วยแล้วไม่ตาย ซึ่งขณะนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยเสียชีวิตกว่า 100 รายแล้ว ซึ่งไทยก็อยู่ในเกณฑ์เดียวกันที่สามารถเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ หากมีผู้ป่วยเสียชีวิตโรงพยาบาลจำเป็นต้องรายงานให้กระทรวงทราบ เพื่อติดตามสถานการณ์ แต่จะไม่บอกชื่อ ที่อยู่ และเป็นเรื่องที่ต้องเคารพสิทธิของผู้อื่น”นายวิทยา กล่าว

**ไม่สนใจฝ่ายค้านโจมตีป่วยหวัดใหญ่2009ตาย
นายวิทยา กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่พรรคฝ่ายค้านโจมตีการทำงานของกระทรวงนั้น หากเป็นการวิจารณ์ถึงความบกพร่องของสธ. ว่า ยังมีเรื่องอะไรที่ไม่ได้ทำ ก็พร้อมยินดีรับฟัง และจะปรับปรุงแก้ไข แต่หากจะนำความเป็นความตายของประชาชนมาเป็นเรื่องการเมือง คนพูดก็ต้องรับผิดชอบคำพูดของตัวเอง ที่ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรให้กับประชาชนเลย ทั้งนี้ มีความกังวลว่าประชาชนอาจไม่เข้าใจ และตื่นตระหนก จึงอยากย้ำว่า หากประชาชนไม่สบายเพียงเล็กน้อยก็ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และมาพบแพทย์เมื่อมีอาการมากขึ้น เพื่อผลดีของทั้งประชาชนและแพทย์ด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับการป่วยของนักเรียนอยากให้โรงเรียนพิจารณาหยุดเรียนเป็นกรณีๆ ไป เพราะการปิดโรงเรียนไม่ส่งผลดี และจะทำให้เกิดการตื่นตระหนกเกินกว่าเหตุ แต่โรงเรียนต้องให้เด็กป่วยหยุดเรียนและสร้างความมั่นใจให้ผู้ปกครองว่าจะมีการสอนชดเชยให้เด็กแทน

**หญิง 40 ปี โรคแทรกเสียชีวิต 20 มิ.ย.
นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิระดับ 10 กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สธ.ได้รับรายงานแจ้งจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ว่ามีผู้ป่วยเพศหญิงวัย 40 ปี เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลโดยแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นไข้หวัด 2009 และเสียชีวิตลง สำหรับผู้ป่วยรายดังกล่าวมีหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิดได้รับการผ่าตัดเมื่ออายุ 12 ปี ซึ่งอาการปกติเรื่อยมา จนเริ่มมีอาการป่วยคล้ายไข้หวัด มีน้ำมูก ไอ เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. มีการดูแลรักษาที่บ้าน จนกระทั่งในวันที่ 13 มิ.ย. จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล โดยผู้ป่วยมีอาการหอบเหนื่อย และมีไข้ขึ้นสูง ซึ่งจากการตรวจรักษาของแพทย์ พบว่าผู้ป่วย ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 มี ภาวะแทรกซ้อนปอดบวม แพทย์ให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์จนครบ 5 วัน ในวันที่ 19 มิ.ย.ถือว่ารักษาอย่างเต็มที่ ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ผู้ป่วยมีอาการทรุดลงและเสียชีวิตลง ซึ่งทางโรงพยาบาลได้แจ้งให้ สธ.ทราบเมื่อวานนี้ (26 มิ.ย.)

“โรงพยาบาลเอกชนแห่งนี้ ได้แจ้งผลการตรวจยืนยันป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 จากห้องแล็บของโรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. แต่เมื่อผู้ป่วยมีเปลี่ยนแปลงสถานะ เป็นอาการป่วยรุนแรง สธ.ได้ไม่ได้รับการแจ้งแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามการที่โรงพยาบาลเอกชนแจ้งการเสียชีวิตล่าช้า ในรายนี้เป็นกรณีข้อยกเว้นเนื่องจากญาติผู้เสียชีวิตร้องขอกับทางโรงพยาบาล เนื่องจากญาติต้องการทำพิธีศพเรียบร้อยก่อนและไม่อยากเปิดเผยตัว”นพ.คำนวณกล่าว

**ขอความร่วมมือโรงพยาบาลรายงานสธ.
นพ.คำนวณ กล่าวต่อว่า ตามหลักการเฝ้าระวังโรคระบาด สธ.ได้ทำหนังสือเวียนกำชับให้โรงพยาบาลทุกแห่ง ต้องรายงานให้ สธ.ทราบเมื่อผู้ป่วยมีการเปลี่ยนสถานะ โดยกรณีผู้ป่วยเสียชีวิตต้องรายงานภายใน 24-48 ชั่วโมง เพื่อให้กระทรวงเข้าติดตามและดำเนินกระบวนการเฝ้าระวังโรค โดยในที่ประชุมไม่มีการตำหนิตัวแทนจากโรงพยาบาลเอกชน อย่างไรก็ตาม สธ.ได้ประสานขอความร่วมมือไปยังโรงพยาบาลทุกแห่งให้รายงานให้ สธ.ทราบเพื่อติดตามประเมินสถานการณ์ที่แท้จริง

“แม้ว่าอยากจะปิดข้อมูล แต่โรงพยาบาลจำเป็นต้องรายงานให้ สธ.ทราบ เพื่อติดตามสถานการณ์โรค โดยไม่จำเป็นต้องเปิดเผยประวัติ ชื่อ อาชีพ ของผู้ป่วยแต่อย่างใด ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง โรงพยาบาลสามารถประสานให้ สธ.ร่วมเข้าไปดูแลรักษาได้ โดยมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ ซึ่งจะเป็นเรื่องดีหากมีการประสานงานกัน”นพ.คำนวณ กล่าว

**ชายวัย 42ปี เสียชีวิตเช้าวันนี้
ด้าน นพ.เรวัติ วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ได้รับมอบหมายให้ติดตามอาการผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 อย่างใกล้ชิด โดยเมื่อเวลา 9.00 น. ได้รับรายงานว่า มีผู้ป่วยในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เป็นชายวัย 42 ปี ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 เสียชีวิตอีก 1 ราย โดยผู้เสียชีวิตรายนี้ เพิ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. และมีอาการป่วยเป็นไข้หวัดมาพบแพทย์เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. จากนั้นได้กลับไปพักรักษาตัวที่บ้านระหว่างวันที่ 20-22 มิ.ย. และกลับมาพบแพทย์อีกครั้งเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ด้วยอาการเหนื่อยง่าย ไอเป็นเลือดเมื่อเอกซเรย์พบว่าปอดบวม แพทย์จึงได้รับตัวไว้รักษา ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. อาการเลวลง โดยแพทย์ได้ใส่เครื่องช่วยหายใจ แต่อาการทรุดลงเรื่อยๆ

กระทั่งเมื่อวานนี้(26 มิ.ย.)กรมการแพทย์ได้รับทราบว่าผู้ป่วยมีอาการหนักมากขึ้น ทาง สธ.จึงได้ส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทางเดินหายใจเข้าไปช่วยเหลือ โดยพบว่าขณะนั้นผู้ป่วยมีอาการทรุดหนัก ระดับความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดเหลือเพียงร้อยละ 40 ขณะที่ค่ามาตรฐานต้องอยู่ที่ระดับ ร้อยละ 90 ขึ้นไป ซึ่งแพทย์ได้ช่วยเหลือในทุกด้าน ทำให้ค่าออกซิเจนในเลือด ขึ้นมาอยู่ที่ ร้อยละ 97 แต่เมื่อเช้าผู้ป่วยอาการทรุดลงอีก และเสียชีวิตลงในเวลา 9.00 น.

**คาดชายวัย 42ปี สังสรรค์ติดเชื้อจากผับ
นพ.คำนวณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยชายวัย 42 ปี ที่เสียชีวิตนั้น จากการสอบสวนโรคพบว่า ผู้ป่วยเดินทางกลับมาจากโรมาเนีย เวียนนา เย็นวันเดียวกันมีการสังสรรค์กับกลุ่มเพื่อนจึงอาจติดเชื้อจากการไป เธค ผับ ซึ่งเป็นสถานที่แออัด ถือว่ามีความเสี่ยงสูง โดยรายดังกล่าวไม่มีโรคประจำตัวหรือการใช้ยาอะไรเป็นประจำ ซึ่งก็สามารถเกิดขึ้นได้ตามสถิติคนที่แข็งแรงจะมีความเสี่ยงเสียชีวิตประมาณร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับผู้มีโรคประจำตัวซึ่งจะเสี่ยงร้อยละ 90

นพ.คำนวณ กล่าวว่า สาเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วยทั้งสองราย ทราบว่ามีอาการปอดบวมแทรกซ้อน แต่ไม่ทราบว่ามีโรคแทรกซ้อนอื่น เช่น ติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำหรือไม่ ซึ่งต้องใช้วิธีการชันสูตรถึงจะทราบอย่างแน่ชัด แต่ทั้งสองรายญาติไม่อนุญาตให้ทำการชันสูตร จึงไม่สามารถทราบการเสียชีวิตที่แท้จริงได้

นพ.คำนวณ กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยที่รักษาอยู่ในโรงพยาบาลอีก 16 รายเบื้องต้น มี 2 ราย ที่มีการเฝ้าระวังใกล้ชิด คือ หญิงอายุ 57 ปี ซึ่งเริ่มมีอาการดีขึ้นเป็นลำดับ และนักเรียนจากโรงเรียนชุมพลทหารเรือ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่อาการดีขึ้นเป็นลำดับเช่นกัน ซึ่งรายนี้ไม่มีโรคประจำตัว แต่มีน้ำหนักมาก ซึ่งคนอ้วนเมื่อป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับปอด จะมีอาการรุนแรง เพราะหายใจได้ลำบากกว่าคนผอม

**ยันโรงพยาบาลมีมาตรฐาน-เคารพสิทธิผู้ป่วย
นพ.เอื้อชาติ กล่าวว่า การที่โรงพยาบาลไม่ได้ประสานมายังสธ.เพื่อช่วยเหลือในการรักษาอาการผู้ป่วยนั้น เพราะการรักษาของโรงพยาบาลถือว่ามีมาตรฐานสามารถให้การรักษาผู้ป่วยได้อย่างเต็ม ไม่ใช่ไม่มีมาตรฐาน และหากมีการตายจะต้องมีการแจ้งมายังสธ.อยู่แล้วแต่ในรายนี้ต้องเคารพสิทธิผู้ป่วยเป็นหลัก เนื่องจากญาติผู้ป่วยต้องการชะลอการแจ้งต่อสาธารณะเนื่องจากเกรงว่าจะได้รับผลกระทบเพราะเป็นผู้เสียชีวิตรายแรก หากมีผู้เสียชีวิตเป็นรายที่ 5 รายที่ 6 ก็คงไม่มีใครสนใจและหากต้องรายงานทุกวันก็จะเบื่อไปเอง

**ชี้ป่วยเป็นพันตาย 2-3 รายเป็นเรื่องปกติ
นพ.เอื้อชาติ กล่าวต่อว่า ขณะนี้หลายประเทศเลิกการายงานจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตโดยสิ้นเชิงแล้ว ขออย่าให้เอาความตายมาเป็นตัวตั้งเพราะความตายเป็นเรื่องปกติ ซึ่งการที่เสนอข่าวมากเกินไปจะทำให้เกิดการตื่นตระหนก ถ้ามีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่2009 ถึง 1,000 คน หากเสียชีวิต 2-4 รายเป็นเรื่องปกติ แต่การเสนอข่าวอาจเป็นอุปสรรคส่งกระทบกับเศรษฐกิจ ที่ประเทศต้องการให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทย เพราะมีภาระทางการเงินอยู่มากหากต้องโดนกักตัวหากมีไข้คงไม่มีใครอยากมาเที่ยว

“อยากขอให้รัฐมนตรีถอนมาตรการเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ(เทอโมสแกน) ที่สนามบิน เพราะไม่ใช่โรคระบาดรุนแรงเหมือนโรคซารส์ ไข้หวัดนก แต่กลับทำให้ประชาชนตื่นตระหนกและไม่ได้ประโยชน์อะไร เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องปกติ แต่จะต้องระมัดระวังให้ความรู้กับประชาชนให้ดูแลตัวเอง ป่วยแล้วเมื่อไหร่ต้องมาโรงพยาบาลเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น หากมีอาการแทรกซ้อนต้องมาโรงพยาบาล อย่าไปอยากรู้ว่าติดเชื้อตัวไหนเพราะรักษาเหมือนกัน”นพ.เอื้อชาติ กล่าว

นพ.เอื้อชาติ กล่าวด้วยว่า ส่วนค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อไข้หวัดใหญ่พันธุ์ใหม่ ไม่จำเป็นต้องออกหนังสือเวียนไปยังโรงพยาบาลเอกชนต่างๆ เพราะโรงพยาบาลแต่ละแห่งมีมาตรฐานค่ารักษาพยาบาล หรือตรวจวินิจฉัยอยู่แล้ว แต่โรงพยาบาลอาจมีหลายระดับซึ่งผู้เข้าไปใช้บริการก็ต้องทราบอยู่แล้ว

**อย่าตระหนก ไทยอัตราตายไข้หวัดใหญ่200-ร้อยละ 0.2
นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาโรคไข้หวัดใหญ่ กล่าวว่า นอกจากปัจจัยเสี่ยงเรื่องโรคประจำตัว ที่ทำให้เสียชีวิต ก็ยังมีเรื่องการรักษาไม่ถูกต้อง หรือ มีการติดเชื้อซ้ำ ก็ยิ่งทำให้มีโอกาสเสียชีวิตสูงมากขึ้น ซึ่งจนถึงขณะนี้ ถือว่าอัตราการเสียชีวิตของประเทศไทย อยู่ที่ร้อยละ 0.2 เท่านั้น

ด้าน นพ.ทวี กล่าวว่า ขอให้ตั้งสติ อย่าตื่นตระหนก ขณะนี้ภาพโดยรวมทั่วโลกขณะนี้พบว่า มีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่พันธุ์ใหม่ 2009 จำนวน 6 หมื่นราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่พบในประเทศอเมริกาจำนวน 2.8 หมื่นคน เสียชีวิต 127 ราย ซึ่งขณะนี้มาตรการการค้าหาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่พันธุ์ใหม่นั้น ไม่มีการรายงานตัวเลขผู้ป่วยแล้ว เนื่องจากการรายงานตัวเลขผู้ป่วยไม่มีประโยชน์ต่อการควบคุมโรค อย่างไรก็ตามมีการคาดการณ์ว่ามีผู้ติดเชื้อมากกว่า 1 ล้านรายทั่วประเทศ ซึ่งจากการศึกษาอัตราการเสียชีวิตโรคไข้หวัดใหญ่2009 พบว่า 70% อยู่ในกลุ่มเสี่ยง มีโรคประจำตัว ส่วนอีก 30% ไม่มีโรค เป็นผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง

**แนะป่วยไม่รุนแรงอยู่บ้าน เป็นไข้เกิน 3 วันพบแพทย์
นพ.ทวี กล่าวว่า สำหรับแนวทางการรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ ยังคงใช้แนวทางเดิม หากมีอาการป่วยน้อย อาการหวัดทั่วไป มีน้ำมูก ไอ ไม่มีไข้ ให้รักษาตามอาการเช่น กินยาลดไข้ ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ เพราะการไปสถานที่แออัดอย่างโรงพยาบาล ทำให้เกิดความเสี่ยงและอันตราย เพราะมีเชื้อโรคปะปนอยู่มาก อาจติดเชื้ออื่นร่วมด้วย และสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการเสี่ยงที่ต้องพบแพทย์โดยด่วน คือ 1.กลุ่มที่ไข้สูงเกิน 3 วันขึ้นไปและไข้ไม่ลด มีน้ำมูกมาก ไอมาก 2.กลุ่มที่มีอาการเหนื่อยหอบ 3.กลุ่มที่มีอาการเพลียมาก อาเจียน ทั้งนี้ ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่มีร่างกายแข็งแรงแต่ก็มีความเสี่ยงเสียชีวิตได้

“จากสถิติพบว่า ผู้ป่วยอายุ 10 ปี จะมีการป่วยมากที่สุด ผู้ป่วยอายุ 20 ปี จะมีการนอนโรงพยาบาลมากที่สุด และผู้ป่วย 37-40 ปีมีการเสียชีวิตมากที่สุด เพราะเมื่อมีอายุมากขึ้น ก็มีโรคประจำตัวเพิ่มขึ้น ระบบการทำงานภายใน หัวใจ ตับ ปอด มักเริ่มมีปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง”นพ.ทวีกล่าว

นพ.ทวี กล่าวอีกว่า ขณะนี้ประเทศที่มีปริมาณผู้ป่วยใกล้เคียงกับประเทศไทย เช่น ประเทศอังกฤษ มีผู้ป่วย 1,300 คน แต่มีผู้เสียชีวิต 21 คน แคนาดา ป่วย 6,700 ตาย 19 คน ซึ่งเทียบกับไทยแล้ว ถือว่าไทยเสียชีวิตน้อยกว่าน้อยกว่ามาก ขณะที่ จีน และญี่ปุ่น มีผู้ป่วยเท่าๆกับไทย แต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งในอนาคตเชื่อว่าจะมีผู้เสียชีวิตเช่นกัน ส่วนสหรัฐอเมริกา มีผู้ป่วยยืนยัน 28,000 คน เสียชีวิต 120 คน ซึ่งสหรัฐ หยุดรายงานตัวเลขผู้ป่วยนานแล้ว จึงคาดว่าจะมีคนติดเชื้อมากถึง 1 ล้านคน เช่น นิวยอร์ก ซึ่งมีประชากร 10 ล้านคน และมีลักษณะคล้าย กทม.ที่มีประชากรแออัด เชื่อว่ามีผู้ป่วยถึง 7 แสนคน อย่างไรก็ตามประเทศสหรัฐ อังกฤษ ได้เปลี่ยนยุทธศาสตร์จากการป้องกัน เป็นการรักษาแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น