xs
xsm
sm
md
lg

สั่งเฝ้าระวังไข้กาฬหลังแอ่น คุมคนใกล้ชิด "สายัณห์" ต่อเนื่อง 7 วัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมควบคุมโรค เผยปีนี้พบผู้ป่วยป่วยเป็นไข้กาฬหลังแอ่น 18 ราย ตายแล้ว 2 ราย แต่อย่าตื่นตระหนก เพราะไม่ระบาดเป็นวงกว้าง เชื้อไม่ฟุ้งกระจาย ติดต่อได้เฉพาะสัมผัสน้ำมูก-น้ำลายโดยตรงเท่านั้น พร้อมสั่งเฝ้าระวังคนใกล้ชิด “สายัณห์” ต่อเนื่อง 7 วัน เกรงติดเชื้อไข้กาฬหลังแอ่นได้

วันที่ 7 ตุลาคม ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กล่าวถึงกรณีนายสายัณห์ ดอกสะเดา ดาราตลกป่วยเป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่น หลังท้องเสียเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งแพทย์ระบุปีนี้พบเป็นคนแรกในกทม.ว่า โรคไข้กาฬหลังแอ่นถูกกำหนดให้เป็นโรคติดต่อตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2523 จึงเป็นโรคที่อยู่ในข่ายระวังทางระบาดวิทยา เมื่อพบผู้ป่วยแม้เพียง 1 ราย หรือพบผู้ที่ต้องสงสัยป่วยเป็นโรค ต้องแจ้งสำนักระบาดวิทยา ภายใน 24 ชั่วโมง และรีบดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรคอย่างเร่งด่วนทันทีที่พบผู้ป่วย

“สำหรับกรณีของนายสายัณห์ ได้ประสานให้ทีมควบคุมโรคประจำ จ.ปทุมธานี ได้เข้าไปติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมีเฝ้าระวังและติดตามอาการของผู้ใกล้ชิดที่ได้สัมผัสผู้ป่วยเป็นเวลา 7 วัน เนื่องจากโรคนี้มีระยะฟักตัว 3-4 วัน หากมีอาการเข้าข่ายต้องสงสัยต้องรีบนำมาพบแพทย์ เพื่อให้แน่ชัดว่าติดเชื้อนี้หรือไม่”

นพ.คำนวณ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทีมควบคุมโรคจากกทม.อยู่ระหว่างดำเนินการสอบสวนสาเหตุโรคของนายสายัณห์ แต่เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถให้ข้อมูลได้มากนัก จึงใช้การสอบถามจากบุคคลใกล้ชิด ซึ่งระบุว่าช่วงที่ผ่านมานายสายัณห์เดินทางไปหลายพื้นที่ อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งที่พบว่าผู้ป่วยมีเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้อยู่แล้วในร่างกาย โดยเฉพาะที่ลำคอและจมูกอยู่แล้ว แต่มักไม่แสดงอาการ เมื่อร่างกายแข็งแรง แต่จะแสดงอาการป่วยเมื่อร่างกายอ่อนแอ

“โรคนี้สามารถรักษาได้และหายเป็นปกติหากมาพบแพทย์ทันท่วงที ประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนกว่าจะเกิดการระบาดในวงกว้าง เพราะสายพันธ์แบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคนี้ในประเทศไทยเป็นสายพันธุ์ B ที่ไม่ก่อให้เกิดการระบาดในวงกว้าง แต่หากเป็นสายพันธุ์ A ที่พบมากในประเทศแถบแอฟริกาจะเกิดการระบาดอย่างรวดเร็วและกระจายเป็นวงกว้าง”นพ.คำนวณกล่าว

นพ.คำนวณ กล่าวอีกว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 21 ส.ค.2551 พบผู้ป่วย 18 ราย จาก 17 จังหวัด เสียชีวิต 2 ราย เป็นเพศชาย 11 ราย เพศหญิง 7 ราย กลุ่มอายุที่มากที่สุด คือ 10 -14 ปี 16.22 % อายุ 35-44 ปี 10.81 % สัญชาติไทย 15 ราย พม่า 1 รายและลาว 1 ราย ทั้งนี้ โดยเฉลี่ยในประเทศจะพบผู้ป่วยโรคนี้ราย 30 - 40 รายต่อปี

ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า โรคไข้กาฬหลังแอ่น หรือโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียนิสซีเรีย มินิงไจติดิส มีรายงานพบได้ทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศในเขตอบอุ่นและเขตร้อน มักเกิดการระบาดในฤดูร้อน ซึ่งคนทุกกลุ่มอายุเป็นโรคนี้ได้ สำหรับประเทศไทยพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี พบมากในกลุ่มที่อยู่รวมกันอย่างแออัดและอากาศถ่ายเทไม่สะดวก ดังนั้น สถานรับเลี้ยงเด็กต่างๆควรมีการเฝ้าระวังโรคนี้ด้วย

“โรคนี้ติดต่อได้โดยการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย โดยเชื้อจะอยู่ในละอองน้ำมูก น้ำลาย เมื่อผู้ป่วยไอหรือจามก็สามารถแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นใกล้ชิดได้ แต่เชื้อจะไม่ฟุ้งในอากาศ จะต้องสัมผัสถูกน้ำมูก น้ำลายเท่านั้น โรคนี้มีระยะฟักตัวตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งเริ่มปรากฏอาการป่วยของโรค อยู่ในช่วง 2-10 วัน อาการของโรค ผู้ป่วยจะ เป็นไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะมาก อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บคอ ปวดข้อ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะที่ขา และหลัง” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ จะมีเลือดออกใต้ผิวหนังเป็นจุดแดงขึ้นตามตัว แขน ขา แล้วกลายเป็นจ้ำเลือด สีคล้ำ และสะเก็ดดำในที่สุด ผู้ป่วยมักมีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ คือมีอาการคอแข็งร่วมด้วย ในรายที่เป็นรุนแรงผู้ป่วยจะซึม ชัก ช็อก และอาจเสียชีวิตได้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังเริ่มมีอาการ โดยเฉพาะในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันไม่ดี เช่น ผู้ป่วยตัดม้าม และป่วยโรคเรื้อรัง เป็นต้น ในการรักษาแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะและโรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลร่างกายตนเองให้แข็งแรง ออกกำลังกาย ทำจิตใจให้ผ่องใส หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีสภาพแวดล้อมแออัด และหากมีอาการป่วยสงสัยเป็นโรคนี้ ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
กำลังโหลดความคิดเห็น