xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ระดมเจ้าหน้าที่ฉีดวัคซีนบาดทะยักให้ผู้ประสบน้ำท่วมที่ จ.น่าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.สั่งระดมเจ้าหน้าที่ป้องกันควบคุมโรคหลังน้ำลดที่จ.น่าน ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักชาวบ้านกว่า 100 ราย ที่มีบาดแผล ให้กินยาป้องกันโรคฉี่หนูทุกคน และให้สถานีอนามัยบริการทำแผลตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมสั่งการทุกจังหวัดเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก และเตรียมพร้อมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง

นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากที่จังหวัดน่าน ซึ่งล่าสุดระดับน้ำกลับเข้าสู่ปกติแล้วกล่าวว่า ในวันนี้ (8 ก.ย.) ได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จากโรงพยาบาลน่าน โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว โรงพยาบาลท่าวังผา ออกให้บริการ 4 จุด คือ ที่บ้านห้วยธนู บ้านสบสาย บ้านสบขุ่น และบ้านเชียงแล ตำบลตาลชุม อำเภอท่าวังผา ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 70 มีบาดแผล รอยขีดข่วนจากการหนีน้ำ ได้ระดมฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักให้ผู้ที่มีบาดแผล ซึ่งมี 100 กว่าราย เนื่องจากมีความเสี่ยงติดเชื้อบาดทะยักที่อาจปนเปื้อนในดินโคลน และแจกยาปฏิชีวนะให้ชาวบ้านทุกคนเพื่อป้องกันโรคฉี่หนู เนื่องจากตำบลตาลชุม เป็นพื้นที่ที่พบโรคฉี่หนู ทั้งนี้ ได้ให้สถานีอนามัยสบสาย ซึ่งอยู่ประจำตำบลตาลชุม เปิดให้บริการทำแผลแก่ประชาชนที่มีบาดแผลอักเสบ บวม แดง ร้อน โดยสามารถเข้ารับบริการได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

“นอกจากนี้ ได้ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขลงพื้นที่ควบคุมป้องกันโรคหลังน้ำท่วม เช่น โรคฉี่หนู ตาแดง และบาดแผลติดเชื้อ เร่งดูแลความสะอาดสิ่งแวดล้อม กำจัดขยะ ล้างบ่อน้ำและใส่คลอรีนฆ่าเชื้อโรค ใช้จุลินทรีย์ชีวภาพ หรือสารอีเอ็มกำจัดกลิ่นและขยะที่เน่าเหม็น” นพ.พิศิษฐ์ กล่าว

นพ.พิศิษฐ์ กล่าวต่อว่า สำหรับผู้บาดเจ็บจากเหตุน้ำป่าไหลหลากครั้งนี้ ขณะนี้มีผู้บาดเจ็บนอนรักษาที่โรงพยาบาลท่าวังผา 1 ราย คือ นายทอง กันธิยะ อายุ 62 ปี อยู่บ้านเลขที่ 48/1 หมู่ 9 ตำบลตาลชุม มีแผลที่เท้าข้างขวา บาดแผลค่อนข้างลึก แพทย์ได้ทำความสะอาด ผ่าตัดตกแต่งบาดแผล ขณะนี้แผลแดงดี ไม่มีไข้ ให้กินยาฆ่าเชื้อ คาดว่าจะกลับบ้านได้ในอีก 3-5 วัน

ด้าน นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าจะมีฝนฟ้าคะนองกระจายร้อยละ 70 ทั่วทุกภาคของประเทศไทย นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก เช่น เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ เพชรบูรณ์ พังงา ภูเก็ต และกระบี่ ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด เตรียมความพร้อมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่และเวชภัณฑ์ เพื่อให้บริการประชาชนที่ประสบภัยตลอด 24 ชั่วโมง
กำลังโหลดความคิดเห็น