xs
xsm
sm
md
lg

ยังไม่พบเชื้อดื้อยาหวัด2009ในไทย“วิทยา”สั่งสำรองซานามิเวียร์แสนชุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – ผู้ป่วยหวัด 2009 ที่ ร.พ.รามา แค่ต้องสงสัยดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ ยังไม่พบเชื้อดื้อยาในไทย หลังตรวจการเปลี่ยนแปลงของกรดอมิโนในตำแหน่งสารพันธุกรรม โดยยังไม่ได้ตรวจผลยืนยัน เพราะตัวอย่างไวรัสหมด ระบุคนไข้ไม่เคยได้รับยาต้านโอเซลทามิเวียร์มาก่อน พบฮ่องกงติดเชื้อตามธรรมชาติก่อนหน้านี้แล้ว ไม่ต้องตระหนกยาโอเซลทามิเวียร์ยังใช้ได้ผล “วิทยา” ตั้งเป้าสำรองยาซานามิเวียร์ 1 แสนชุด ขณะที่ อภ.เตรียมลงนามกับบริษัทยา “ซานามิเวียร์”ซื้อราคาพิเศษ 450 บาท/ชุด

ศ.นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาวิชาการและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการฯ วานนี้(10 ส.ค.)นานร่วม 4 ชั่วโมง ว่า ที่ประชุมพิจารณากรณีพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 มีเชื้อดื้อยารายแรกของประเทศไทย ที่ ร.พ.รามาธิบดี ซึ่งโรงพยาบาลได้เก็บตัวอย่างเชื้อไวรัสของผู้ป่วยรายดังกล่าว เพื่อทดสอบการดื้อยาด้วยวิธีวิเคราะห์ตำแหน่งลำดับของสารพันธุกรรม ตรวจสอบว่ากรดอะมิโนของไวรัสต่อตัวอย่างไร ถ้าฮิสทิดีน(Histidine) ของกรมอมิโน เปลี่ยนเป็น ไธโรซีน(Tyrosion) ในตำแหน่งที่ 274 หมายถึงเชื้อไวรัสมักจะดื้อยาหรืออาจดื้อยาได้ ซึ่งในประเทศไทยมีห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจสอบการดื้อยาวิธีนี้ได้เพียง 5 แห่ง คือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร.พ.ศิริราช ร.พ.จุฬาลงกรณ์ ร.พ.รามาฯ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร

ศ.นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า จากนั้นจะต้องนำเชื้อดังกล่าว มาตรวจสอบซ้ำด้วยวิธีดูคุณลักษณะของสารพันธุกรรม โดยทดสอบกับยาต้านไวรัสชนิดนั้นๆ โดยตรง ซึ่งต้องประสานกับบริษัทผู้ผลิตยาชนิดนั้น เพื่อให้จัดส่งยาต้านไวรัสชนิดบริสุทธิ์มาตรวจสอบเท่านั้น ซึ่งในประเทศไทยมีห้องปฏิบัติการที่ทดสอบได้เพียง 2 แห่ง คือ กรมวิทยาศาสตร์ฯ และ ร.พ.ศิริราชเท่านั้น ต่อไปหากมีห้องปฏิบัติการใดตรวจพบเชื้อไวรัสดื้อยา จะต้องส่งตัวอย่างเชื้อมาให้ห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์ และ ร.พ.ศิริราช ทดสอบทันที

“แต่กรณีผู้ป่วยที่ ร.พ.รามาฯ ที่ทดสอบพบเชื้อไวรัสดื้อยาโอเซลทามิเวียร์นั้น ได้ตรวจสอบดูตำแหน่งสารพันธุกรรมเท่านั้น คือ กรดอมิโนเปลี่ยนแปลงที่ตำแหน่ง 274 จริง แต่ไม่ได้ทำการตรวจคุณลักษณะของสารพันธุกรรมซ้ำ เพราะตัวอย่างเชื้อไวรัสหมด และจากการซักประวัติ ทราบว่าผู้ป่วยรายนี้ไม่เคยได้รับยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์มาก่อนด้วย ดังนั้น จึงถือว่าเป็นเพียงผู้ป่วยต้องสงสัยพบเชื้อไวรัสดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ตามธรรมชาติ โดยไม่ได้รับยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์มาก่อนเท่านั้น และล่าสุด ผู้ป่วยรายดังกล่าวรักษาหายเป็นปกติแล้ว และไม่มีการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นอีก” ศ.นพ.ประเสริฐ กล่าว

ศ.นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า เชื้อไวรัสดื้อยา เกิดขึ้นได้ 2 ลักษณะ คือ 1.เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ทั้งที่ผู้ป่วยไม่เคยทานยามาก่อน ซึ่งกรณีนี้นักวิจัยก็ยังหาสาเหตุไม่ได้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อปี 2551 ที่ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ตรวจพบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ตัวเก่า เกิดการดื้อยาขึ้นเองตามธรรมชาติ ทั้งที่ไม่ได้ทานยามาก่อน และ 2.เกิดจากผลกระทบจากการทานยา ซึ่งพบเห็นได้บ่อยในประเทศที่ใช้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์จำนวนมาก ซึ่งประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังเชื้อไวรัสดื้อยาโอเซลทามิเวียร์อยู่แล้ว และเป็นไปอย่างเข้มงวด และจากการตรวจสอบล่าสุด ทุกห้องปฏิบัติการยังไม่พบการดื้อยาโอเซลทามิเวียร์แต่อย่างใด

“ปัญหาเชื้อไวรัสการดื้อยา ถือเป็นเรื่องปกติเป็นธรรมชาติของไวรัสอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนกตกใจ เป็นสิ่งที่นักวิชาการคาดหวังว่าจะพบอยู่แล้ว ซึ่งกรณีของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ก็ไม่น่าวิตก เพราะยังมียาต้านไวรัสชื่อซานามีเวียร์ยังรักษาได้อยู่ แต่ สธ. ก็ไม่ประมาทต้องระมัดระวังการใช้ยาโอเซลทามิเวียร์ให้เข้มงวดขึ้น ใช้ยาให้ถูกต้องเหมาะสมมากขึ้น ” ศ.นพ.ประเสริฐ กล่าว

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญ เฉพาะทางด้านไวรัส วิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กรณี ร.พ.รามาฯ พบผู้ดื้อยาโอเซลทามิเวียร์โดยธรรมชาติ ไม่ถือเป็นรายแรก เนื่องจากพบชาวฮ่องกงดื้อยาโอเซลทามิเวียร์โดยไม่มีประวัติการรับยาโอเซลทามิเวียร์มาก่อนหน้านี้ 1 ราย สำหรับสถานการณ์ทั่วโลกขณะนี้ พบการดื้อยาโอเซลทามิเวียร์มากที่สุด คือ ญี่ปุ่น 3 ราย แคนาดา เดนมาร์ก และฮ่องกง แห่งละ 1 ราย รวมพบผู้ที่ดื้อยาเพียง 6 รายเท่านั้น และจากการติดตามอาการผู้ป่วยพบว่าไม่มีรายใดที่แพร่เชื้อโรคดื้อยาไปสู่ผู้อื่น ส่วนการตรวจเชื้อดื้อยาทางห้องปฏิบัติการจากจุฬาฯ จำนวน 200 ราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 50 ราย และโรงพยาบาลศิริราชก็ยังไม่พบการดื้อยาเช่นกัน

“จริงๆ แล้วเคสคนไทยรายนี้ไม่สามารถพูดได้ว่าเป็นผู้ดื้อยาโดยธรรมชาติ เพราะเป็นผลการตรวจขั้นต้นยังไม่มีการตรวจยืนยันผลที่ชัดเจน"ศ.นพ.ยงกล่าว

นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผอ.องค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า ขณะนี้มีการใช้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ เป็นจำนวนมากทำให้มีโอกาสดื้อยาได้ จึงต้องมีมาตรการในการเฝ้าระวังการดื้อยา รวมทั้งเตรียมแผนรองรับการดื้อยาโดยการสำรองยาซานามิเวียร์ไว้ โดยในวันนี้(11 ส.ค.) อภ.จะลงนามความร่วมมือกับบริษัทแกล็กโซสมิธไคลน์ (GlaxoSmithKline หรือ GSK) ผู้ผลิตยาซานามิเวียร์ แบบชนิดพ่น ในการเป็นตัวแทนจำหน่าย ซึ่งในช่วงวิกฤตบริษัทจะจำหน่ายยาในราคาพิเศษ 450 บาทต่อชุด จากราคาเดิม 900 บาทต่อชุด เบื้องต้นกรมควบคุมโรคได้สำรองยาซานามิเวียร์ไว้จำนวน 2 หมื่นชุด รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณจัดซื้ออีก 2 หมื่นชุด โดย อภ.เตรียมจะสั่งซื้อยาซานามิเวียร์อีกจำนวน 3 หมื่นชุด โดยต้องนำเข้าหารือในคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม(บอร์ด อภ.) ในวันที่ 14 ส.ค. เพื่อพิจารณาอนุมัติการสั่งซื้อยาเนื่องจากซานามิเวียร์ค่อนข้างเป็นยาที่มีราคาแพง โดยรวมไทยจะมียาซานามิเวียร์สำรองจำนวน 7 หมื่นชุด

นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้สธ.ตั้งเป้าที่จะต้องสำรองยาซานามิเวียร์ให้ครบ 1 แสนชุด กรณีเกิดการดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ด้วยขณะนี้ถือว่ายังควบคุมเชื้อดื้อยาได้ประชาชนไม่ควรตื่นตระหนก แต่ให้เน้นการเฝ้าระวังและรับประทานยาให้ครบตามคำสั่งแพทย์และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของสธ.อย่างเคร่งครัด
กำลังโหลดความคิดเห็น