xs
xsm
sm
md
lg

ขยายเวลาให้คลินิกเอกชนร่วมโครงการจ่ายยาไวรัสหวัด 2009

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.ขยายเวลาคลินิกเอกชนเข้าร่วมโครงการจ่ายยาต้านไวรัสหวัดใหญ่ 2009 อีก 2 สัปดาห์ ปิดรับสมัครวันที่ 17 ส.ค.นี้ เหตุฉุกละหุกคลินิกเตรียมตัวไม่ทัน ยันไม่มีผ่อนปรน เข้ม 8 เงื่อนไขคลินิกต้องปฏิบัติตาม รพ.มหาราชโคราช ส่งต่อหญิงตั้งครรภ์วัย 18 ปี ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 รักษาต่อที่ รพ.รามา แพทย์ตัดสินใจให้ยาโอเซลทามิเวียร์ ควบคู่ ซานามิเวียร์ ช่วยชีวิตผู้ป่วยถึงที่สุด ระบุใช้แนวทางนี้ช่วยผู้ป่วยหวัดใหญ่ 2009 ที่มีอาการรุนแรงดีขึ้น 2 ราย ออกจากห้องไอซียูได้แล้ว

นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานในการประชุมร่วมกับ นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขทุกเขต เพื่อประเมินสถานการณ์การกระจ่ายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์เพื่อรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1เอ็น1 ในคลินิกทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการดูแลผู้ป่วย เพื่อลดการเสียชีวิตของประชาชนจากไข้หวัดใหญ่ 2009 ซึ่งใช้เวลานานกว่า 3 ชั่วโมง

นายวิทยา กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือถึงปัญหาที่คลินิกเอกชนส่วนใหญ่ไม่สมัครเข้าโครงการกระจายยาต้านไวรัสกับ สธ.เนื่องจากเวลาที่ สธ.เปิดรับสมัคร คือ ตั้งแต่วันที่ 2-5 สิงหาคมนั้น กระชั้นเกินไป ทำให้คลินิกเตรียมตัวไม่ทัน ประกอบกับข้อปฏิบัติ 8 ข้อ ที่ สธ.กำหนดให้คลินิกที่เข้าโครงการกับ สธ.ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เป็นข้อปฏิบัติที่เข้มงวดมาก คลินิกส่วนใหญ่เกรงว่าไม่สามารถปฏิบัติตามได้ ดังนั้น สธ.จึงจะขยายเวลาเปิดรับสมัครไปจนถึงวันที่ 17 สิงหาคมนี้ เพื่อให้คลินิกมีความพร้อมในการดำเนินการมากขึ้น พร้อมทั้งสั่งการให้ผู้ตรวจราชการ สธ.เร่งดำเนินการชี้แจงทำความเข้าใจกับคลินิกในจังหวัดที่ตนกำกับดูแลอยู่

“ยอมรับว่า ขณะนี้มีหลายจังหวัดยังไม่พร้อมที่จะจัดอบรมคลินิกเอกชนในการะจายยาต้านไวรัส จึงทำให้คลินิกเอกชนยังไม่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการรับยาต้านไวรัส หรือบางจังหวัดเริ่มที่จะอบรม ขณะที่บางจังหวัดก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีมีคลินิกเอกชนสมัครเข้าโครงการ มากถึง 40-50 แห่ง อย่างไรก็ตาม สธ.จะไม่ผ่อนปรนข้อปฏิบัติ 8 ข้อของ สธ.เพราะเป็นไปตามหลักวิชาการที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันเกิดการดื้อยาในประเทศไทย” นายวิทยา กล่าว

เร่งหาคลินิกเป็นพันธมิตร รับมือหากระบาดใหญ่
นายวิทยา กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ สธ.สนับสนุนให้คลินิกเอกชนเข้าโครงการกระจายยาต้านไวรัส เนื่องจากนักวิชาการได้ประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ว่า ยังเป็นทิศทางขาขึ้นอยู่ โดยขณะนี้การระบาดยังกระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง เขตเทศบาล แต่ในอนาคตจะมีการแพร่ระบาดลงในระดับท้องถิ่น ชุมชน แต่ไม่ทราบว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด รวมทั้งอาจเกิดการระบาดใหญ่รุนแรงขึ้นอีก ดังนั้น สธ.จึงต้องเร่งหาพันธมิตรให้กับโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลชุมชน ซึ่งก็คือ คลินิกเอกชนในพื้นที่ต่างๆ รวมเป็นหน่วยช่วยคัดกรองผู้ป่วย ตรวจรักษาผู้ป่วย รวมถึงการให้ยาต้านไวรัสกับผู้ป่วยด้วย เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยล้นทะลักเข้าโรงพยาบาล

รอบสัปดาห์ที่ผ่านมาไทยมีผู้ป่วย ตาย ลดลง
“ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ตัวเลขผู้ป่วย และผู้เสียชีวิต ลดน้อยลงอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และภาคกลาง สันนิษฐานว่า เป็นเพราะประชาชนรู้จักวิธีป้องกันโรคมากขึ้น ซึ่งการล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย ต้องฝึกให้เป็นนิสัย ต้องใช้เวลาอีกสักระยะ รวมทั้งประชาชนตื่นตระหนกลดน้อยลง หากป่วยไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยงก็พักผ่อนอยู่กับบ้าน ใส่หน้ากากอนามัย แยกของใช้ส่วนตัว หาก 2 วัน ไข้ไม่ลดจึงค่อยไปพบแพทย์ ขณะที่ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ให้รีบมาพบแพทย์ทันทีที่มีอาการเพื่อทานยาต้านไวรัส แต่แม้ว่า ยอดผู้ป่วย ผู้เสียชีวิต จะลดลง แต่นักวิชาการก็ยังมั่นใจว่ายังเป็นช่วงระบาดขาขึ้นอยู่ ซึ่งเป็นไปตามที่องค์การอนามัยโลก(ฮู) ประเมินสถานการณ์ไว้ว่า จะมีผู้ติดเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 มากถึง 1 ใน 3 ของประชากรในประเทศ หรือประเทศไทยจะมีผู้ติดเชื้อสูงถึง 20 ล้านคน” นายวิทยา กล่าว

สั่งสอบเด็กอ่างทองป่วยรวดเดียว 200 คน
นายวิทยา กล่าวถึงกรณีเด็กนักเรียนโรงเรียนวัดสระแก้ว จ.อ่างทอง ป่วยเป็นไข้กว่า 200 คน ว่า ได้ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดตรวจสอบสาเหตุการระบาดแล้วว่าเกิดจากอะไร เพราะตามปกติการระบาดจะค่อยๆ มีการติดเชื้อและป่วยแบบต่อเนื่อง แต่กรณีนี้มีเด็กป่วยพร้อมๆกันถึง 200 คน ทั้งนี้ มีเด็กที่อาการมากและต้องนอนโรงพยาบาลเพียง 7 รายเท่านั้น ส่วนที่เหลือให้การดูแลและพักอยู่ที่บ้าน

ด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรณีดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงระหว่างการระบาด ที่จะมีการระบาดเป็นกลุ่มย่อยๆขึ้น แต่หากดูแลตามที่กระทรวงให้การแนะนำเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาแต่อย่างใด ซึ่งเชื่อว่าโรงพยาบาลจะสามารถให้การดูแลผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึง และยังไม่มีการขอความช่วยเหลือใดเพิ่มเติม

รพ.มหาราชโคราชส่งต่อหญิงตั้งครรภ์ให้ “รามา”
รพ.มหาราช โคราชส่งต่อหญิงตั้งครรภ์วัย 18 ปี ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 รักษาต่อที่ รพ.รามา เพราะอาการหนัก แพทย์ตัดสินใจให้ยาโอเซลทามิเวียร์ควบคู่ซานามิเวียร์ช่วยชีวิตผู้ป่วยถึงที่สุด ระบุใช้แนวทางนี้ช่วยผู้ป่วยหวัดใหญ่ 2009ที่มีอาการรุนแรงดีขึ้น 2 ราย ออกจากห้องไอซียูได้แล้ว

นพ.ชูวิทย์ ลิขิตยิ่งวรา หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาได้ส่งตัวผู้ป่วยหญิงวัย 18 ปี ตั้งครรภ์ 6 เดือนเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ ม.มหิดล โดยช่วงเวลาที่ผู้ป่วยรายนี้ส่งต่อจากโรงพยาบาลพิมาย จ.นครราชสีมามายังโรงพยาบาลมหาราชฯ ผู้ป่วยมีอาการช็อก ปอดบวม การหายใจติดขัดต้องใช้เครื่องช่วยหายใจชนิดพิเศษ แพทย์ตัดสินใจให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ควบคู่กับซานามิเวียร์ โดยให้ยาซานามิเวียร์มากกว่าาการให้กับผู้ป่วยทั่วไป 2 เท่า ซึ่งหลังจากรับการส่งตัวมาจากร.พ.พิมายรักษาตัวที่ รพ.มหาราช 2-3 วัน จึงส่งตัวมายังรพ.รามาธิบดี โดยเมื่อวันที่ 3 ส.ค.ผลการตรวจเชื้อจากห้องปฏิบัติการยืนยันว่าผู้ป่วยรายนี้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ส่วนเด็กในครรภ์มีการอัลตราซาวนด์พบว่ายังปกติดี

“การที่แพทย์ผู้ทำการรักษาต้องตัดสินใจให้ยาโอเซลทามิเวียร์ ควบคู่กับ ซานามิเวียร์ เป็นเพราะต้องการพยุงชีวิตผู้ป่วยไว้ให้ได้มากที่สุด การให้ยาลักษณะก็เพื่อให้ยาเข้าไปทำลายไวรัสให้ได้มากที่สุด เชื่อว่า ไม่น่าจะมีผลกระทบใดต่อผู้ป่วย เป็นการทำด้วยเจตนาดีในการช่วยชีวิตผู้ป่วย ส่วนหญิงตั้งครรภ์วัย 16 ปีที่เสียชีวิตที่ รพ.มหาราช ไม่ได้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แต่เป็นเพราะติดเชื้อแบคทีเรียจนทำให้ปอดบวมและเสียชีวิต”นพ.ชูวิทย์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น