เอ็นจีโอจับตากฤษฎีกาตีความ ซีแอล สธ.ทำซีแอลถูกต้องหรือไม่ พร้อมจี้สำนึกข้าราชการกรมทรัพย์สินทางปัญญาบางคน อย่าเอาแต่รับใช้บริษัทยาขวางการทำซีแอล
วันที่ 9 กันยายน นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ในวันที่ 10 ก.ย.เวลา 10.00 น.คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 6) จะพิจารณาเรื่องปัญหาข้อหารือเกี่ยวกับกระบวนการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐ (ซีแอล) ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 ซึ่งก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ยื่นให้มีการตีความ ว่า การทำซีแอลของกระทรวงสาธารณสุขถูกต้องหรือไม่ ทั้งที่ไม่มีความจำเป็น ซึ่งภาคประชาสังคมไทยรวมถึงข้าราชการในกระทรวงพาณิชย์เองก็เห็นว่า การทำซีแอลถูกต้องและควรเร่งดำเนินการนำยาที่ประกาศใช้ซีแอลไปแล้วมาให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการเข้าถึงยา
“เป็นความไม่ชอบมาพากลที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาที่พยายามขัดขวางเรื่องนี้ ทำให้เจ้าหน้าที่บางฝ่าย ไม่กล้าทำอะไรต่อ และรู้สึกเสียใจที่ได้ทราบว่า ในกรมทรัพย์สินทางปัญญาเองก็มีเกลือเป็นหนอน โดยข้าราชการระดับสูงบางคนฝักใฝ่บริษัทยา หรือแม้แต่อดีตผู้บริหารของกรมที่ย้าย ไปอยู่กรมอื่นแล้วก็ยังมีจิตใจรับใช้บริษัทยา จะเห็นได้จากการที่ส่งสัญญาณให้บริษัทยาทำจดหมายถึงกระทรวงพาณิชย์ ให้กระทรวงยับยั้งการประกาศซีแอล อย่างไรก็ตาม การให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความทั้งที่ไม่เห็นความจำเป็นเพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดเจนอาจทำให้บริษัทยาไม่มาตอแยอีกต่อไป” นายนิมิตร์ กล่าว
นายนิมิตร์ กล่าวต่อว่า การตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาในวันพรุ่งนี้ มีความสำคัญมาก เพราะจะเป็นการให้บทเรียนแก่กรมทรัพย์สินทางปัญญา และ กระทรวงพาณิชย์ ว่า เมื่อมีกฎหมายคุ้มครองประชาชน คุ้มครองผู้ป่วยได้ แต่กระทรวงพาณิชย์ไม่เคยใช้ ซึ่งการที่จะใช้กฎหมายเหล่านี้ได้ต้องมาจากสำนึกที่รับใช้ประชาชนจริงๆ ทั้งนี้ จากการทำซีแอลของไทยที่ผ่านมาในกรณีของยาต้านไวรัสเอชไอวี/เอดส์ ที่ได้กระจายไปโรงพยาบาลต่างๆแล้วนั้น พบว่า สามารถเพิ่มการเข้าถึงยาของผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อ ถึง 3 เท่า และสามารถประหยัดงบประมาณได้หลายพันล้าน
“แม้กระทั่งผลการศึกษาของธนาคารโลก ก็ชี้ว่า การที่รัฐบาลลงทุนจ่ายยาต้านไวรัสรักษาผู้ป่วยเอดส์/ผู้ติดเชื้อ ถือเป็นนโยบายที่มีประสิทธิผลมากที่สุด แต่ถ้ารัฐไม่ทำซีแอลโครงการจะถูกลดทอน ราคายาจะแพงมหาศาลมากกว่า 400% ซึ่งรัฐจำเป็นต้องใช้ซีแอลซึ่งจะทำให้ประหยัดงบประมาณได้มากถึง 90% และเพิ่มการเข้าถึงยาของประชาชน ช่วยชีวิตผู้คน ลดอัตราการตาย เพิ่มคุณภาพชีวิต ดังนั้น จึงเป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาล ข้าราชการทุกหน่วยที่ต้องปกป้องผลประโยชน์นี้อย่างมีสำนึก” นายนิมิตร์ กล่าว