xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” แอ่นอกรับผลักดัน ปชต.พม่า-ตั้งกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อภิสิทธิ์” รับปากตัวแทนประชาสังคมอาเซียน เร่งจัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค และผลักดันประชาธิปไตยในพม่า ช่วยแรงงานอพยพ สร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นจริง

น.ส.สุนทรี เซ่งกิ่ง ผู้แทนภาคประชาสังคมของประเทศไทย กล่าวภายหลังการเข้าพบกับผู้นำอาเซียน 10 ชาติอาเซียน วานนี้ (28 ก.พ.) ว่าทางตัวแทนผู้นำอาเซียน 8 คนจาก 6 ประเทศ ยกเว้นตัวแทนประเทศกัมพูชา และพม่าได้ยื่นข้อเสนอ 5 ข้อ ให้อาเซียนร่วมกันผลักดัน ประกอบด้วย 1.การมีส่วนร่วมของประชาชนอาเซียน 2.กลไกสิทธิมนุษยชนของอาเซียน 3.การเร่งผลักดันประชาธิปไตย และการเลือกตั้งในประเทศพม่าให้เกิดขึ้นโดยเร็วภายใน 2554 ให้เป็นไปอย่างจริงจัง พร้อมกับจะต้องนิรโทษกรรมให้แก่นักโทษการเมือง รวมถึงการแก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติกับชนกลุ่มน้อยด้วย

4.การเร่งหามาตรการป้องกันวิกฤตทางการเงินโลกที่จะส่งผลกระทบต่อแรงงานอพยพในภูมิภาคอาเซียน และ 5.การปกป้องและดูแลสิทธิสตรีและเด็กที่จะต้องไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบหรือการกระทำที่รุนแรง ซึ่งข้อเสนอทั้งหมดเปรียบเสมือนข้อเสนอทางการทูตเท่านั้น

น.ส.สุนทรี กล่าวว่า ในระหว่างการหารือ 30 นาที นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทย กับนายกรัฐมนตรีเวียดนาม ในฐานะประธานอาเซียนคนต่อไปเท่านั้นที่พูดในที่ประชุม ขณะที่ สมเด็จฯ ฮุนเซน และ พล.อ.เต็ง เส่ง ไม่ได้กล่าวอะไรในระหว่างการหารือ

ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ได้รับปากกับภาคประชาสังคม 6 ประเทศว่าจะเร่งผลักดันทั้ง 5 ประเด็นโดยเร็ว โดยเฉพาะในประเด็นกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน และการเร่งผลักดันประชาธิปไตยในประเทศพม่าให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด

“ระหว่างภาคประชาสังคมถามถึงความคืบหน้าในการผลักดันประชาธิปไตยในพม่า ก่อนนายอภิสิทธิ์ จะตอบ ก็ได้หน้าไปขออนุญาต พล.อ.เต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรีพม่า เพื่อขออนุญาตพูดในประเด็นนี้ว่า ทุกประเทศต้องการเห็นประชาธิปไตยในพม่า แต่ก็ต้องคำนึงถึงความแตกต่างทางความคิดด้วย” น.ส.สุนทรี กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องพาวิลเลียน โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เมื่อเวลา 16.00 น. วานนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวต่างประเทศถึงผลการลงนามกฎบัตรอาเซียนในด้านสิทธิมนุษยชนว่า เราต้องให้ความความสำคัญเกี่ยวกับความแตกต่างทางความแตกต่างของเชื้อชาติในการประชุมครั้งนี้ ที่ผ่านมามีพัฒนาการในการหารือกันมาโดยตลอด ซึ่งตนคาดหวังว่าจะมีพัฒนาการที่อยู่ในระดับนี้ต่อไปเรื่อยๆ เนื่องจากเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องใหม่ ถือเป็นครั้งแรกที่อาเซียนให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก สิ่งหนึ่งที่มักจะถูกมองข้ามไป คือความสำเร็จของประชาคมอาเซียนในการรักษาความสงบ เสรีภาพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ดำรงอยู่ แต่ตอนนี้เรากำลังจะก้าวข้ามไปอีกหนึ่งขั้นคือ การใช้มาตรการด้านความมั่นคง และทางทหารในการจัดการปัญหา

ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเด็นสิทธิมนุษยชนถือว่าล้มเหลวในการเจรจาระดับผู้นำอาเซียน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คำกล่าวอย่างนั้นดูจะเป็นคำพูดที่เร็ว และแรงเกินไป เนื่องจากกฎบัตรอาเซียนมีหลักการอยู่ 2 ด้าน คือ การสนับสนุนและปกป้องด้านสิทธิมนุษยชน ร่างแรกของกฎบัตรจะมุ่งให้ความสำคัญในเรื่องการสนับสนุนด้านสิทธิมนุษยชน และมีหลายฝ่ายเห็นว่า ควรจะให้ความสำคัญในเรื่องการปกป้องสิทธิมนุษยชนบ้าง แต่ที่ผ่านมาเราก็วางเป้าหมายที่เป็นไปได้ ซึ่งเราก็ต้องทำงานเพื่อความก้าวหน้าในด้านนี้ และนี่คือวิธีการจัดการปัญหาทีละปัญหา

เมื่อถามว่า พอใจกับการหารือในเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ผ่านมาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนพอใจที่อย่างน้อยมีการริเริ่ม และมีพัฒนาการในหลายด้าน และเชื่อว่า พัฒนาตรงนี้จะสาตต่อในภายภาคหน้า แต่ส่วนตัวแล้วเชื่อว่า น่าจะมีหลายเรื่องที่สามารถจัดการได้ เพราะประเด็นในเรื่องสิทธิมนุษยชนมีหลายอย่าง

ไม่รู้ที่อยู่ “แม้ว” หลังงดจ้อฮ่องกง

เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ต่อกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯที่อยู่ระหว่างหลบหนีคดี เตรียมกล่าวปาฐถกาที่ฮ่องกงในวันจันทร์นี้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เท่าที่ทราบ พ.ต.ท.ทักษิณ เพิ่งจะยกเลิกการกล่าวปาฐกถา ความกังวลของตนคือการแก้ไขปัญหาของประเทศและการผลักดันให้อาเซียนเดินหน้าต่อไป

ภายหลังนายกฯ แถลงข่าว ผู้สื่อข่าวได้สอบถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ยอกเลิกการกล่างปาฐถกาที่ฮ่องกง รัฐบาลยังจะส่งคนไปนำตัวกลับมาดำเนินคดีหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก็เลยไม่รู้ว่าท่านอยู่ที่ไหน

เมื่อถูกถามถึงการดำเนินการส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับไทย นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เมื่อถึงขั้นตอนในการเจรจาในเรื่องนี้ เราไม่ควรพุ่งเป้าให้ความสำคัญในเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง ควรจะมีการพูดคุยในเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อประมวลออกมาเป็นนโยบายในการดำเนินการเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.ทักษิณมักจะมีความคิดที่ไม่ตรงกับตน ซึ่งหากจะสอบถามประเด็นเกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ควรจะไปสอบถาม พ.ต.ท.ทักษิณ
กำลังโหลดความคิดเห็น