เอ็นจีโอ จวก ก.พาณิชย์ ยกคำขู่สหรัฐฯฟ้องไทยมั่วๆ ไม่มีข้อเท็จจริง แนะพาณิชย์ ฟ้องกลับสหรัฐฯ เข้าท่ากว่า เตรียมประชุมคณะกรรมการ 3 ฝ่าย หาข้อยุติข้อมูลยามะเร็ง ประกาศจุดยืนต้องเดินหน้าทำซีแอลต่อ ฉะชะลอซีแอส่งผลให้ ได้รับยารักษาโรคหัวใจ 2.1 ล้านเม็ด จากบริษัทยาสามัญช้า ทำให้ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงยา
วันนี้ (21 ก.พ.) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี ชมรมผู้ป่วยมะเร็ง ชมรมเพื่อนโรคไต ร่วมแถลงข่าวภายหลังมีการประชุมหารือร่วมกันเกี่ยวกับการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) ยามะเร็งเพื่อให้รัฐบาลแสดงจุดยืนและเดินหน้าต่อไป โดย นายวิรัตน์ ภู่ระหงษ์ ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า ในที่ประชุมมีข้อสรุป 2 ประเด็น คือ การเข้าประชุมหารือระหว่างคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ที่ตั้งขึ้นเพื่อศึกษาข้อมูลยามะเร็งที่มีการทำซีแอล เวลา 13.00 น.วันที่ 22 ก.พ.ที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกรณีที่กระทรวงพาณิชย์แถลงข่าวว่าอเมริกาจะฟ้องไทยต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่มีข้อเท็จจริง ไม่มีการไตร่ตรองข้อมูลให้ดี เพราะข้อเท็จจริงอเมริกาฟ้องเราไม่ได้
“แทนที่กระทรวงพาณิชย์จะปล่อยข่าวคำขู่ของสหรัฐอเมริกา กระทรวงพาณิชย์ ควรจะฟ้องอเมริกามากกว่าเพราะประเทศไทยทำซีแอลถูกต้องโปร่งใส ถูกกฎหมาย ขณะเดียวกันอเมริกาให้สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ของสหรัฐฯ (ฟาร์ม่า) กดดันประเทศไทย กดดันกระทรวงพาณิชย์ การแถลงข่าวออกมาในลักษณะนี้ จะทำให้เราเข้าไม่ถึงการรักษาและถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้ป่วย ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ควรแสดงจุดยืนที่ชัดเจน และหากพาณิชย์มีจริยธรรมโดยการเป็นคนไทยด้วยกันที่จะต้องดูแลผลประโยชน์ของประชาชนในประเทศ ด้านสุขภาพ ก็ต้องมีการตอบโต้ทันทีโดยไม่ใช่การมาตอบโต้นักเคลื่อนไหว หรือผู้ป่วย” นายวิรัตน์กล่าว
นายวิรัตน์ กล่าวต่อว่า สำหรับการประชุมหารือคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ศึกษาข้อมูลยามะเร็ง ประกอบด้วย คณะกรรมการศึกษายาจำเป็นต่อการเข้าถึง คณะกรรมการศึกษาราคายา และคณะกรรมการต่อรองราคาซึ่งมีทั้งนักวิชาการ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทั้งนี้ ภาคประชาชนมีจุดยืนว่าจะต้องเดินหน้าทำซีแอล ต่อไปโดยไม่ต้องทบทวนใหม่ แต่ถ้าจะทบทวนโดยใช้มาตรการอื่นแทนซีแอลไม่ยอมแน่ อย่างไรก็ตาม ต้องหารายละเอียดข้อมูลว่ามีผู้ป่วยเท่าไหร่ ต่อปี จะใช้งบประมาณเท่าไหร่ ยานำเข้าแต่ละชนิดมียารายการใดบ้าง และจะต้องมีกระบวนการขั้นตอนการขึ้นทะเบียนยาได้เร็ว เนื่องจากมีประสบการณ์การทำซีแอลยาต้านไวรัสเอดส์มาแล้ว
“ขณะนี้ยาบางตัวที่มีการขึ้นทะเบียนไว้นานมาก แต่ก็ยังไม่สามารถนำเข้ายาได้เพราะความไม่ชัดเจนในการทำซีแอลของ สธ.โดยเฉพาะยาละลายลิ่มเลือดหัวใจและหลอดเลือด พลาวิกซ์ ที่บริษัทยาสามัญไม่กล้านำเข้ายา โดยได้ระงับการนำเข้าไปแล้ว เนื่องจากกลัวโดนฟ้อง กรณีลักษณะนี้กระทรวงพาณิชย์ น่าจะฟ้อง ยาพลาวิกซ์ มีการทำสัญญานำเข้าแล้ว 2.1 ล้าน เม็ดมาให้ผู้ป่วย แต่ขณะเดียวกับบริษัทยาต้นแบบส่งหนังสือไปยังบริษัทยาคาดิลา ซึ่งเป็นบริษัทสามัญ ประเทศอินเดีย ว่า กระบวนการทำซีแอลในไทยไม่สิ้นสุดเป็นเรื่องการกดดันมากกว่า ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมันสิ้นสุดแล้วทุกกระบวนการ สามารถนำเข้าได้ทันที ทั้งยังส่งผลให้แพทย์ก็ไม่กล้าจ่ายยาการรักษา ดังนั้น สธ.ไม่ควรหยุดนิ่ง ยึดเยื้อ โดยมีการกำหนดเวลาที่ชัดเจน คือเรากลัวว่า จะไม่ยกเลิกซีแอลแต่ไม่ทำอะไร อย่างนี้ไม่ได้เราไม่ยอม ถ้าสธ.ยังทำแบบนี้จะเดินหน้าต่อ จะเจอผู้ป่วยกดดัน ออกมาเรียกร้องชุมนุมแน่ๆ” นายวิรัตน์ กล่าว
นายวิรัตน์ กล่าวด้วยว่า หากเสร็จสิ้นกระบวนการศึกษาข้อมูลซีแอลยามะเร็ง จะทำหนังสือถึง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข และ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เพื่อชี้แจงรายละเอียดเรื่องการทำซีแอล กระบวนการขั้นตอน ข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยทำถูกต้อง
ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร รักษาการเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การหารือ 3 ฝ่าย ในการรวบรวมศึกษาข้อมูลยามะเร็ง ในส่วนของ สปสช.จะนำข้อมูลจากส่วนที่บันทึกไว้ที่มีการรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทอง และข้อมูลจากรายงานสถาบันมะเร็ง โดยนำมาช่วยกันพิจารณา เนื่องจากตัวเลขที่ผ่านมามีตัวเลขหลายตัวเกิดจากการประมาณการณ์ และตั้งข้อสมมติฐานมีการขอความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ โดยจะพิจารณาหาตัวเลขที่เหมาะสม
“ขั้นตอนกระบวนสั่ง หรือนำเข้ายาสามัญเพิ่มเติมนั้น ขณะนี้เพิ่งมีการประกาศซีแอลจึงจะยังไม่สั่งนำเข้ายา เพราะต้องรอผลการสรุปข้มูล และที่สำคัญ คือ นโยบายของกระทรวงสาธารณสุข และที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร สปสช.ที่จะมีการประชุม ในวันที่ 28 ก.พ.นี้ อย่างไรก็ดี หากที่สุดแล้วผลการหารือร่วมกันจะต้องสั่งยาเข้ามา กระบวนการก็จะไม่ต่างกับการสั่งยาต้านไวรัสเอดส์” นพ.วินัย กล่าว