xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ยันดูแลผู้ป่วยเอดส์วัดพระบาทน้ำพุเข้าถึงยาต้านไวรัส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สธ.รับอดีต “วัดพระบาทน้ำพุ” เข้าไม่ถึงยาต้านไวรัส แต่ปัจจุบัน สธ.ดูแลให้ยาอย่างเต็มที่ เผยปัจจุบันมีผู้ป่วยขึ้นทะเบียนขอรับยาต้านเฉพาะลพบุรี กว่า 300 คน ชี้ พิพิธภัณฑ์มนุษย์แล้วแต่มุมมอง พร้อมให้กำลังใจพระครูอุดมประชาทร ส่วน สปสช.ยันผู้ป่วยเอดส์วัดพระบาทน้ำพุเข้าถึงยา ด้านประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ลั่นไม่เห็นด้วยหากอุ้มผู้ป่วยหวังผลเชิงธุรกิจ ระบุ ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องอยู่วัด หรือหลบซ่อนตัวอีกแล้ว

นพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เรื่องของวัดพระบาทน้ำพุเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเชื่อว่าบทความที่เผยแพร่เป็นความเข้าใจผิด ที่ผ่านมา วัดพระบาทน้ำพุ ทำหน้าที่ให้โอกาสในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ มาโดยตลอด ซึ่งเป็น 1 ในกระบวนการดูแลผู้ติดเชื้อเอดส์ ซึ่งต้องดูแลทั้ง 3 ด้าน คือ 1.การดูแลด้านการแพทย์ คือ ให้ยาและการรักษาพยาบาล ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ ให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาต้านไวรัสเอดส์ตามนโนบายรัฐบาลอยู่แล้ว 2.ด้านสังคม และ 3.การฝึกอาชีพ ทั้งสองส่วนหลังนี้ต้องอาศัยองค์กรพัฒนาเอกชนเข้ามาช่วย

“ผมคิดว่าควรให้กำลังใจพระครูอุดมประชาทร หรือพระอลงกต ติกขปัญโญ เจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุ ที่ได้ช่วยยดูแลกลุ่มคนซึ่งทุกข์ยากมากกว่าไปโจมตี แต่เมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ยอมรับว่า มีผู้ติดเชื้อเอดส์ที่วัดพระบาทน้ำพุที่ไม่ได้รับยาต้านไวรัสเอดส์ เพราะยาต้านไวรัสเพิ่งถูกคิดค้นและมีโครงการของรัฐเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้ป่วยบางส่วน โดยเฉพาะที่ไม่มีบัตรทอง ส่วนใหญ่เป็นชาวม้ง และติดเชื้อจากการใช้เข็มฉีดยา ไม่สามารถเข้าถึงยาได้ ซึ่งในช่วงนั้นพระครูอุดมประชาทรได้ดูแลผู้ป่วยอย่างดีมาโดยตลอด และเมื่อมีโครงการเข้าถึงยาต้านไวรัสเอดส์ของรัฐบาลเหตุการณ์เหล่านั้นก็ไม่เกิดขึ้นอีก” นพ.ธวัช กล่าว

นพ.ธวัช กล่าวว่า จากข้อมูลของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ลพบุรี ได้ติดตามผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ทุกรายที่เข้ารับการดูแลภายในการดูแลของมูลนิธิธรรมรักษ์ โดยที่วัดพระบาทน้ำพุโครงการธรรมรักษ์ 1 มีการขึ้นทะเบียนบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่สถานีอนามัยเขาสามยอด อำเภอเมือง และโรงพยาบาลลพบุรีจำนวน 100 ราย เป็นพม่า 5 ราย โครงการธรรมรักษ์ 2 อ.หนองม่วง ผู้ติดเชื้อเอดส์ขึ้นทะเบียนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสถานีอนามัยดงดินแดงและโรงพยาบาลหนองม่วงจำนวน 260 ราย ขณะเดียวกันทางกรมฯได้ประสานสสจ.ติดตามผลให้ผู้ป่วยได้รับยาอย่างต่อเนื่องรวมถึงการติดตามตรวจผลปริมาณเม็ดเลือดขาวในร่างกาย (ซีดีโฟร์) ทุก 6 เดือนด้วย

“ตัวเลขอาจมีบางส่วนไม่แน่นอน ล่าสุด ผู้ป่วยวัดพระบาทน้ำพุรับยาต้านไวรัสที่โรงพยาบาลลพบุรี 73 ราย ผู้ป่วยโครงการธรรมรักษ์ 2 รับยาต้านไวรัสที่โรงพยาบาลหนองม่วง 29 รายและโรงพยาบาลสระโบสถ์ 1 ราย โดยตัวเลขผู้ป่วยสะสมปี 2549-2550 ผู้ป่วยวัดพระบาทน้ำพุรับยาที่โรงพยาบาลลพบุรี111 รายผู้ป่วยจากโครงการธรรมรักษ์ 2 รับยาต้านไวรัสที่โรงพยาบาลหนองม่วง 163 ราย” นพ.ธวัช กล่าว

นพ.ธวัช กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นการละเมิดสิทธิผู้ป่วยในการนำร่างผู้เสียชีวิตมาทำเป็นพิพิธภัณฑ์นั้น คงต้องแล้วแต่มุมมองว่าจะคิดอย่างไร จะคิดว่าละเมิดก็ได้ หรือ จะคิดว่าทำเพื่อให้การศึกษา เตือนใจประชาชนคนอื่นก็ได้เช่นกัน เพราะไม่มีกฎหมายห้ามไว้ อีกทั้งศพที่วัดพระบาทน้ำพุ ส่วนใหญ่มักไม่มีญาติพี่น้อง มารับกลับหรือดูแล ทำให้ทางวัดมีแนวคิดว่าอยากช่วยรณรงค์โดยการทำเป็นพิพิธภัณฑ์มนุษย์แทน

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)กล่าวว่า ในการให้ความช่วยเหลือผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ที่อยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่เข้ารับการพักฟื้นและรักษาตัวที่วัดพระบาทน้ำพุ ต.เขาสามยอด อ.เมือง จ.ลพบุรี สปสช.ดำเนินการในลักษณะเดียวกันทั่วประเทศ คือให้การสนับสนุนยาต้านไวรัสเอดส์ทั้งสูตรพื้นฐานและสูตรดื้อยา โดยโรงพยาบาลสามารถเบิกยาได้จากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ตามจำนวนผู้ป่วยจริงที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งสปสช.จะเป็นผู้จ่ายค่ายาไปยังอภ. รวมถึง ให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการตรวจรักษาโรค เช่น การเจาะเลือด และการตรวจปริมาณเม็ดเลือกขาวในกระแสเลือด เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ป่วยเอดส์ได้รับการยกเว้นให้ลงทะเบียนขอรับการบริการได้จากโรงพยาบาลที่ต้องการ อาจเป็นโรงพยาบาลที่ระบุในบัตรทองหรือไม่ก็ได้ ดังนั้น ผู้ป่วยเอดส์ที่วัดพระบาทน้ำพุ แม้มีภูมิลำเนาในจังหวัดอื่นสามารถรับบริการที่ รพ.ลพบุรี ได้

นพ.วินัย กล่าวด้วยว่า หลังจากที่ สปสช.ได้รับการถ่ายโอนโครงการจ่ายยาต้านไวรัส จากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สปสช.ได้จัดตั้งกองทุนเพื่อบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ เพื่อให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์เข้าถึงบริการโดยเฉพาะยาต้านไวรัสเอชไอวี โดยจัดงบประมาณแยกจากงบเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งในปีงบประมาณ 2550 มีผู้ติดเชื้อที่รับยาต้านไวรัสเอดส์ทั้งสิ้น 79,185 ราย 95% รับยาสูตรพื้นฐาน และ 5% รับยาสูตรดื้อยา ใช้งบประมาณในการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์เป็นเงิน 1,041 ล้านบาท ส่วนในปีงบประมาณ 2551 กองทุนเอดส์ฯมีงบดำเนินการ 4,382 ล้านบาท ตั้งเป้ามีผู้ป่วยรับยา 132,000 ราย ขณะที่ในปี 2552 ได้เสนอของบประมาณสำหรับกองทุนเอดส์ 2,983 ล้านบาท ลดลงกว่าเดิม 1 พันล้านบาท เนื่องจากสามารถซื้อยาต้านไวรัสในราคาถูกลง

“ปัจจุบันผู้ป่วยเอดส์และผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถเข้าถึงบริการการรักษาพยาบาลและยาได้อย่างทั่วถึง กรณีผู้ป่วยที่รักษาและพักฟื้นที่วัดพระบาทน้ำพุนั้น จากที่เคยได้สอบถามไปยังโรงพยาบาลลพบุรี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ให้การดูและรักษาผู้ป่วยเอดส์สิทธิ 30 บาทที่อยู่ในวัด ทราบว่าได้ให้บริการผู้ป่วยสิทธิ 30 บาททั้งการให้ยาและการตรวจรักษา โดยผู้ป่วยจะมารับบริการที่โรงพยาบาลเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง และรับยาที่โรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง แล้วก็กลับไปพักฟื้นและรักษาตัวต่อที่วัด”นพ.วินัย กล่าว

ด้านนายวิรัช ภู่ระหงษ์ ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย กล่าวว่า ตนมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยเอดส์และการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยของวัดพระบาทน้ำพุน้อยมาก แม้จะการดำเนินงานในรูปแบบที่ใกล้เคียงกัน มุ่งเน้นการอยู่ร่วมกันในสังคมและชุมชนของคนปกติและผู้ป่วยเอดส์ เพียงแต่วัดประสงค์จะให้คนเข้าไปพักรักษาตัวในวัด ซึ่งส่วนตัวมองว่าปัจจุบันผู้ป่วยเอดส์ไม่จำเป็นต้องเข้าไปพึ่งพิงขอความช่วยเหลือจากวัดหรือคนอื่นๆมากมาย เนื่องจากสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างดีไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยในระบบประกันสุขภาพระบบใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นผู้ป่วยบัตรทอง สามารถเข้ารับบริการในโรงพยาบาลของรัฐได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งการตรวจเลือด การตรวจซีดี4 การตรวจไวรัสดื้อยา และการรับยาต้านไวรัสเอดส์ เป็นต้น

“การที่ผู้ป่วยต้องหันเข้ารับความช่วยเหลือจากวัด เข้าใจว่าต้องการหาที่พึ่งพิงทางด้านจิตใจมากกว่าการขอความช่วยเหลือทางด้านการรักษาพยาบาล ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการถูกสังคม ชุมชน รังเกียจหรือกีดกันการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ จนรู้สึกเหมือนตัวเองไร้ค่า ไม่มีใครต้องการก็ต้องหาสถานที่ที่พอจะให้เขาอยู่อาศัยได้ ซึ่งเห็นด้วยหากวัดจะทำหน้าที่ในการช่วยให้คนมีกำลังใจดีขึ้น มีสุขภาพแข็งแรงขึ้นก่อนส่งผู้ป่วยกลับเข้าอยู่ร่วมในสังคมและชุมชน แต่ไม่เห็นด้วยหากมีการโอบอุ้มผู้ป่วยเพื่อหวังแสวงหาผลประโยชน์เชิงธุรกิจ” นายวิรัช กล่าว

นายวิรัช กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันสังคมให้การยอมรับผู้ติดเชื้อในการอยู่ร่วมกันมากขึ้น จึงเชื่อว่าจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่เข้าไปอาศัยวัดพระบาทน้ำพุแทบจะไม่มี หรือมีน้อยมาก และหากผู้ติดเชื้อได้รับการต่อต้านจากสังคมก็สามารถขอคำปรึกษาได้จากเครือข่ายผู้ติดเชื้อที่คอยให้บริการตามโรงพยาบาลรัฐแทบทุกแห่ง เพื่อที่จะได้ร่วมกันสร้างความเข้าใจใหม่ให้กับคนในชุมชน ผู้ป่วยจะได้อยู่กับครอบครัวไม่ต้องหลบไปอาศัยวัด

กำลังโหลดความคิดเห็น