xs
xsm
sm
md
lg

“กวนเหล่าซือ” ผู้เชื่อมถนนภาษาสายแรกจาก ‘ไทย’ สู่ ‘เฉิงตู’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คงพูดได้เต็มปากว่านี่คือยุคแห่งการแข่งขันด้านภาษาอย่างแท้จริง เห็นได้จากสถานศึกษาไทยหลายๆ แห่งไล่ดูตั้งแต่อนุบาล ยันอุดมศึกษา เป็นต้องเปิดหลักสูตรภาษาต่างประเทศขึ้นแทบทุกที่ เมื่อคนไทยตั้งใจที่จะเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ
“อ.กวน”- ศาสตราจารย์ชะภิพร เกียรติคชาธาร
ในทางกลับกันภาษาไทยเองก็กำลังได้รับความสนใจเช่นกัน อย่างที่ มหาวิทยาลัยเฉิงตู มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน นักศึกษากลุ่มหนึ่งกำลังตั้งอกตั้งใจเพื่อที่จะพูดภาษาไทยให้ได้ ผ่านทาง “หลักสูตรวิชาภาษาไทย ระดับปริญญาตรี 4 ปี” ซึ่งถือเป็นหลักสูตรแรกของเมืองเฉิงตูเลยทีเดียว
 
...แต่กว่าที่ภาษาไทยจะมาฝังรากอยู่ที่เฉิงตูได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

** บุกเบิกสอนไทย ในเฉิงตู
“ศาสตราจารย์ชะภิพร เกียรติคชาธาร” ผู้ชำนาญการภาษาต่างประเทศ(ภาษาไทย) คณะภาษาต่างประเทศและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเฉิงตู หรือที่นักศึกษาจีนเรียกกันติดปากในนามของ “กวนเหล่าซือ” หรือ “อ.กวน” เล่าว่า หลังจบการศึกษาปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง ก็เริ่มทำงานด้วยการจับงานบัญชีเป็นงานแรก ก่อนรู้ว่างานออฟฟิศไม่ใช่คำตอบสุดท้าย จึงผันตัวเองมาเป็นไกด์ แต่ด้วยความสนใจภาษาจีนมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมฯ จึงทำให้มีโอกาสเดินทางไปจีนบ่อยมาก โดยเฉพาะกับเมืองเฉิงตูเอง และในที่สุดก็สนใจที่จะลงหลักปักฐานด้วยการเป็นอาจารย์สอนภาษาไทยที่เฉิงตู

อ.กวน ได้ย้อนอดีตให้ฟังว่า เฉิงตูเป็นเมืองหลวงของมณฑลเสฉวน ซึ่งเป็นศูนย์กลางของภาคตะวันตกของจีน ที่ครอบคลุม 12 มณฑล ประชากรกว่า 500 ล้านคน ทำให้เศรษฐกิจ การค้า เติบโตเร็วมาก และตอนนั้นสถานกงสุลไทย ณ เมืองเฉิงตูเพิ่งตั้งขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่ารัฐบาลไทยน่าจะมีแผนในการพัฒนาตรงนี้
ครูกับศิษย์ต่างมุ่งมั่น ตั้งใจในวิชาภาษาไทย
ปัญหาคือคนที่นี่ไม่ค่อยรู้จักประเทศไทย คนไทยเองก็ไม่รู้จักเฉิงตูเช่นกัน และปัญหาที่ต่อเนื่องมาคือคนเสฉวน คนเฉิงตูไม่มีใครพูดไทยได้เลย จะมีก็แต่คนต่างถิ่นที่มาเป็นผู้ช่วยกงสุลไทยเท่านั้น
 
“จากสถิติย้อนหลัง 6 ปี ชี้ว่าคนไทยมาเที่ยวเฉิงตูเยอะขึ้น เพราะที่นี่มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ แต่กลับไม่มีไกด์ท้องถิ่นที่พูดไทยได้เลย ต้องยืมไกด์มาจากที่อื่น และการที่ไม่ใช่ไกด์ท้องถิ่นนักท่องเที่ยวจึงได้ข้อมูลไม่ถูกต้องกลับไป ทั้งๆ ที่เฉิงตูเป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมเก่าแก่แต่ไม่มีใครถ่ายทอดได้ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก” อ.กวนชี้ปัญหา

** ปั้นนักภาษาป้อนภาคท่องเที่ยว - ธุรกิจการค้า
จากสิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดที่จะสร้างคนเฉิงตูให้สามารถพูดภาษาไทยได้ โดยแนวคิดนี้ อ.กวน บอกว่า เพราะอยากสร้างคนสู่วงการท่องเที่ยว และอยากเห็นการร่วมมือทางการค้า การศึกษา ระหว่างไทยกับเฉิงตูเกิดขึ้น แต่ต่างฝ่ายต่างสื่อสารกันไม่ได้ จึงคิดที่จะทำให้ 2 ภาษานี้มาผสานกันเพื่อความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“ในช่วงปี 2548 จึงเริ่มคิดกับเพื่อนในภาคธุรกิจเพื่อเปิดอบรมภาษาไทยเชิงธุรกิจเบื้องต้น โดยมีสมาคมนักแปลของมณฑลเสฉวนคอยสนับสนุน แต่การอบรมระยะสั้นไม่ได้ผล แถมมีผู้เข้าอบรมน้อย จึงเบนเป้าไปตามสถานศึกษา โดยเริ่มเสนอเรื่องไปที่มหาวิทยาลัยชนชาติกลุ่มน้อยภาคตะวันตกฉียงใต้ ซึ่งเปิดสอนภาษาชนกลุ่มน้อยทั้งหมด และภาษาไทยเป็นหนึ่งในนั้น โดยคุยกันว่าจะเปิดสอนภาษาไทยเป็นวิชาโท แต่ในช่วงนั้นเทรนด์ภาษาเกาหลีมาแรงกว่า เขาจึงเลือกเปิดสอนภาษาเกาหลีก่อน”

“แต่ก็ยังไม่ละความพยายามจนปลายปี 2549 รัฐบาลเฉิงตูมีนโยบายให้ประเทศที่มีสถานกงสุล เปิดสอนภาษาของตนเองขึ้น จึงนำหลักสูตรภาษาไทยเสนอต่อมหาวิทยาลัยเฉิงตูที่อยู่ในสังกัดรัฐพิจารณา ซึ่งเราต้องให้ข้อมูล พูดถึงประโยชน์ที่เขาจะได้รับจากการเปิดสอนภาษาไทยที่นี่” อ.กวน เล่าถึงความมุ่งมั่น

** สร้างการยอมรับก่อนได้มาซึ่งหลักสูตร
เท่านั้นยังไม่พอ อ.กวน บอกอีกว่า สิ่งที่นำเสนอต้องชี้ให้ได้ว่าไทยมีความเป็นมา มีความเจริญอย่างไร จึงยกประเด็นเรื่องสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำโขงขึ้น ซึ่งไทยและจีนเป็นประเทศคู่ค้าหลัก แต่ติดปัญหาเรื่องของการสื่อสาร จึงต้องสร้างคนระดับนี้เพื่อเป็นสะพานเชื่อมการค้าระหว่าง 2 ประเทศ จนเป็นผลให้มีการอนุมัติหลักสูตรภาษาไทยขึ้นโดยเริ่มเปิดอนุปริญญา 3 ปีก่อน

ระหว่างนั้นจึงต้องหาทางให้มีการอนุมัติหลักสูตรปริญญาตรีโดยเร็ว และเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น จึงได้เชิญ คณะชาวไทยจาก จ.เชียงใหม่ ที่ประกอบด้วย รองผู้ว่าฯ ผู้แทนจากหอการค้า พาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด อบจ. สมาคมท่องเที่ยว 8 จังหวัดภาคเหนือ และสมาคมโรงแรม กว่า 20 คน มาดูงาน จนเป็นข่าวโด่งดังทั่วเฉิงตูคนที่นี่จึงเริ่มรู้จักไทยมากขึ้น
 เมื่อสาวหมวยสวยแบบไทยๆ
จนกระทั่งเมื่อต้นปี 2550 ก็ได้รับอนุมัติหลักสูตรวิชาภาษาไทย ปริญญาตรี ซึ่งถือเป็นแห่งแรกในเมืองเฉิงตู และเปิดรับรุ่นแรกทันที โดยรับอนุปริญญา 25 คน ปริญญาตรี 25 คน รวม 50 คน ที่น่าตกใจคือหากเทียบกับภาษาต่างประเทศอื่นๆ ที่เปิดสอน หลักสูตรภาษาไทยถือว่ามีนักศึกษาให้ความสนใจสมัครเยอะเกินคาด โดยมีผู้สมัครกว่า 400 คน จนต้องคัดออกกันเลยทีเดียว

** เน้นสนทนา อ่านออก เขียนได้
ในด้านการสนับสนุนการสอนนั้น อ.กวน บอกว่า สถานกงสุลไทย ได้ทำเรื่องเสนอกระทรวงศึกษาธิการจีน โดยให้ตนเป็นอาจารย์ผู้สอนหลัก และประกอบไปด้วยอาจารย์ที่เชิญมาจากมหาวิทยาลัยในจีนที่เปิดสอนภาษาไทยอยู่แล้ว พร้อมช่วยสนับสนุนโดยการนำอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาสอนให้ฟรี 2 ปี และยังมีอาจารย์จีนไปเรียนภาษาไทยที่เมืองไทยอีก 1 คน รวมเป็น 3 คน ซึ่งจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปีต่อไป ส่วนหลักสูตรนั้นก็ยึดตามแบบของมหาวิทยาลัยที่เคยเปิดสอนมาใช้ก่อนซึ่งเป็นหลักสูตร 4 ปีที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
ไม่ลืมที่จะสอดแทรกศิลปวัฒนธรรมไทยในห้องเรียน
“สิ่งเน้นเป็นพิเศษคือการสนทนา อ่าน และ เขียน ซึ่งปัญหาที่พบคือการออกเสียง เพราะเด็กส่วนใหญ่ไม่ใช่คนเฉิงตู จึงถนัดใช้ภาษาท้องถิ่น ทำให้ปรับการออกเสียงยาก แต่หากเป็นคนเฉิงตูจะปรับง่ายกว่า เพราะสำเนียงหลายๆ คำออกเสียงคล้ายกับภาษาไทย ซึ่งบางคำในการออกเสียงและความหมายก็เหมือนกัน เช่นคำว่า “ผ้า” ด้านการเรียนเด็กจะให้ความสำคัญมาก เพราะเปิดเรียนมากว่า 1 เทอมครึ่ง เด็กเกือบครึ่งอ่านได้ และ 1 ใน 4 สามารถฟังและเขียนได้ ก่อนเข้าสู่เนื้อหาที่สูงขึ้น เช่น การประพันธ์ การสื่อสารเชิงธุรกิจ นอกจากนี้ยังสอดแทรกวัฒนธรรมไทยไว้ด้วย ซึ่งล่าสุดได้จัดงานสงกรานต์ขึ้น เพื่อปลูกฝังประเพณีที่ดีงามของไทยไว้” อ.กวนให้ภาพ

** ‘ความร้อนแรงทางการเมือง’ ทำเด็กจีน อยากรู้จักไทย
สำหรับจุดมุ่งหมายของผู้เรียนนั้น อ.กวน ชี้ให้เห็นว่า มีแตกต่างกันทั้งชอบหนังไทย ชอบเพลงไทย จึงอยากรู้ภาษาไทย บ้างเคยมาเที่ยวไทย จึงอยากเรียน บ้างมองถึงอนาคตว่าภาษาไทยเป็นของใหม่ เมื่อจบมาจะได้มีตัวเลือกน้อย เรียนก่อนจึงได้เปรียบ บางคนอยากทำธุรกิจกับไทย แต่ที่แปลกคือส่วนหนึ่งบอกว่าเห็นข่าวความวุ่นวายทางการเมืองในไทย จึงอยากรู้ทันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และมีอีกหลายคนที่คิดจะไปเรียนต่อที่ไทยเพื่อเป็นโอกาสดีในการต่อยอดไปสู่การเรียนต่อในยุโรป อีกทั้งช่วงหลังๆ มานี้โทรทัศน์ที่นี่ได้นำซีรีส์หนังไทยมาออก ก็ยิ่งทำให้ผู้คนเริ่มติดตามมากขึ้น

ถึงตรงนี้ อ.กวน ยังมองถึงก้าวต่อไปของหลักสูตรภาษาไทยไว้ด้วยว่า ต้องมีการเพิ่มสื่อการสอน และสร้างความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนนักศึกษาให้มากขึ้น ซึ่งตามหลักสูตร 4 ปีนั้น จะเรียนที่เมืองจีน 3 ปี ส่วนปีสุดท้ายจะส่งเด็กไปฝึกงานเมืองไทย โดยมี ม.เชียงใหม่ คอยประสานงาน ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ การเป็นครูฝึกสอนภาษาจีนในครึ่งปีแรก และครึ่งปีหลังจะส่งไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เด็กใช้ภาษาอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังได้รับการอนุมัติจากจากมหาวิทยาลัยในการเปิดศูนย์วิจัยวัฒนธรรมไทย เพื่อที่จะเน้นด้านกิจกรรมให้มากขึ้นด้วย

“มีความภาคภูมิใจอย่างมากที่ถือเป็นผู้บุกเบิกหลักสูตรภาษาไทยในเฉิงตู ที่จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการก้าวสู่อนาคต เมื่อประตูสู่จีนได้ถูกเปิดออกแล้วก็จะยิ่งส่งผลให้ทั้ง 2 ประเทศ มีการพัฒนาร่วมกันในหลายๆ ทางที่จะนำไปสู่ความก้าวหน้าในอนาคตต่อไป” กวนเหล่าซือ เผยความรู้สึกทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น