เอเอฟพี – เมื่อ 20 ปีที่แล้ว พวกเขาอ่อนเยาว์และทะเยอทะยาน คิดว่าการประท้วงอย่างกล้าหาญ ณ จัตุรัสใจกลางเมืองหลวงจะนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ประเทศจีนได้ วันนี้พวกเขาย่างเข้าสู่วัยกลางคน หลายคนกลายเป็นผู้บริหารธุรกิจ แต่พวกเขาก็ยังหวังว่าจะช่วยนำการเปลี่ยน แปลงมาสู่จีนได้ แต่ครั้งนี้ทักษะทางธุรกิจคืออาวุธ ไม่ใช่การเผชิญหน้ากับรัฐเช่นในอดีตที่ผ่านมา
“ความเข้มแข็งภายในคือสิ่งที่ช่วยผลักดันความสำเร็จของพวกเรา ซึ่งก็มีทั้งอุดมการณ์ บุคลิกส่วนตัว และประสบการณ์” อดีตผู้นำนักศึกษาจีนและปัจจุบันคือผู้บริหารอาวุโส ที่ขอสงวนนามเพราะเกรงผลกระทบทางธุรกิจ ให้ความเห็นไว้และยังว่า “รัฐคือผู้ได้ประโยชน์จากเหตุการณ์เทียนอันเหมิน เพราะผู้บริหารระดับกลางและอาวุโสหลายคน ได้นำการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายมาปรับใช้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา”
เหตุการณ์ช็อคโลกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2532 เมื่อรัฐบาลจีนได้ส่งรถถังพร้อมกำลังทหารไปยังจัตุรัสเทียนอันเหมิน เพื่อปราบปรามกลุ่มนักศึกษาและประชาชนที่ปักหลักชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยมาหลายสัปดาห์ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน เหตุการณ์ครั้งนั้นได้ทำให้ชีวิตคนในยุคเทียนอันเหมินได้เปลี่ยนแปลงไปในหลายทิศทาง
โดยคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งถือเป็นคนส่วนใหญ่ ได้ปรับตัวให้กลมกลืนกับสังคมส่วนใหญ่ได้ ขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งพอใจที่จะยืนอยู่นอกสังคมและยังเหนียวแน่นกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยและความโปร่งใสที่เคยใช้ต่อสู้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว
นายหวูเอ่อ ไค่ซี อดีตผู้นำนักศึกษาจีนที่ปัจจุบันผันตัวมาเป็นนายธนาคารเพื่อการลงทุนที่มีสำนักงานอยู่ในไต้หวัน กล่าวว่า “หากคนกลุ่มนั้นเป็นพ่อค้าที่ประสบความสำเร็จ แต่ยอมสยบกับสภาพการณ์บางอย่าง ผมพอจะเข้าใจได้ การเป็นผู้มีความเห็นไม่สอดคล้องกับรัฐ ไม่ใช่งานของใครคนใดคนหนึ่ง หากแต่เป็นเรื่องที่คนในยุคนั้นที่ต้องร่วมกัน จึงจะประสบความสำเร็จ”
ขณะเดียวกัน อดีตนักศึกษาที่เคยร่วมในเหตุการณ์เทียนอันเหมิน หลายคนก็ยอมรับว่าสังคมจีนในยุคที่พวกเขาประท้วงเมื่อปี 2532 แตกต่างจากสังคมจีนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
“ทุกวันนี้ชีวิตผู้คนดีขึ้น ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง เมื่อ 20 ปีที่แล้วเราไม่มีทางตรวจสอบรัฐบาลได้เลย แต่ทุกวันนี้การทำงานของรัฐบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้น” ผู้บริหารธุรกิจและอดีตผู้นำนักศึกษากล่าว และว่า “การเปลี่ยนแปลงที่ผมยังอยากเห็นคือ เสรีภาพทางการเมืองและเสรีภาพสื่อมวลชน เพราะหากคุณเห็นข้อผิดพลาดแต่ไม่สามารถพูดออกมาได้ ก็จะทำให้เรามองเรื่องต่างๆ ได้ไม่ชัด”
ในช่วงหลายเดือนและหลายปีหลังจากการปราบปรามนักศึกษาที่เทียนอันเหมิน มีผู้นำนักศึกษาหลายคนหลบหนีการถูกจับกุมและหลายคนก็เดินทางออกนอกประเทศ
ต่อเมื่อเศรษฐกิจจีนมีอัตราเติบโตอย่างรวดเร็วในทศวรรษ 1990 (ช่วงปี 2533-2543) อย่างเหนือความคาดหมาย นักศึกษาหลายคนเริ่มหวลคืนประเทศ และกลับมาใช้ชีวิตในรัฐที่ปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จแต่เปิดกว้างด้านการตลาด
“สิ่งที่ดึงดูดก็คือ การที่บรรดาปัญญาชนและนักศึกษาต่างมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” นั่นคือข้อสังเกตุจาก นายเพอร์รี่ ลิงค์ หนึ่งในบรรณาธิการ “The Tiananmen Papers” ที่รวบรวมเอกสารลับของจีนตั้งแต่ปี 2532
ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนก็อ้าแขนรับคนกลุ่มนี้กลับเข้าสู่ประเทศ เพราะไม่ต้องการให้เกิดภาวะสมองไหล แต่บรรดาอดีตผู้นำนักศึกษาต่างก็รู้ดีว่า พวกเขาต้องปิดปากเงียบในวาระที่เหตุการณ์ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเวียนมาครบ 20 ปี
“ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ผู้คนที่ผ่านเหตุการณ์เทียนอันเหมินต่างลังเลที่จะสนทนากันถึงเรื่องนี้ เพราะมันยังทำให้พวกเขาเจ็บปวดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลายคนแสดงท่าทีเป็นมิตรต่อระบอบการปกครองในปัจจุบัน แต่ลึกๆ แล้วพวกเขายังคงจำเหตุการณ์ครั้งนั้นได้เป็นอย่างดี” นายลิงค์ ซึ่งเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ริเวอร์ไซด์ ระบุ
แม้ว่าอดีตนักศึกษาหลายคนได้กลายมาเป็นสมาชิกในกลุ่มนักธุรกิจชั้นนำของจีน แต่พวกเขายังคงแบกความรู้สึกเจ็บปวดเอาไว้ตลอดเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมา และยังคงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่ไม่ยอมเผชิญหน้าและพูดความจริง
“รัฐบาลกระทำผิดพลาดอย่างมหันต์ในการจัดการกับเหตุการณ์นี้ เขาทำผิดพลาดจริงๆ เขาไม่สามารถแก้ตัวได้เลย มันผิดพลาดอย่างมาก” อดีตผู้ประท้วงซึ่งปัจจุบันกลายเป็นผู้บริหารธุรกิจระบุ และว่า “ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปอีกนานเท่าไหร่ ความยุติธรรมจะเป็นตัวรับใช้ประวัติศาสตร์ มันไม่สำคัญว่าเวลาจะผ่านไป 20 ปี 50 ปี หรือ 200 ปี แต่ความยุติธรรมจะเกิด”