“ธีระ” ชี้การคัดค้านเขมรขึ้นทะเบียนพระวิหารเป็นมรดกโลกต่อยูเนสโกของไทย ไม่ก่อชนวนขัดแย้ง หนุนขึ้นทะเบียนร่วม ไทย-กัมพูชา วธ.เร่งเสนอชื่อนักวิชการชิง คกก.มรดกโลกชุดใหญ่ “พิสิฐ เจริญวงศ์-สาวิตรี สุวรรณสถิตย์” ลุ้นเป็นปากเป็นเสียงให้ประเทศไทย
เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวถึงกรณีไทยจะขอคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกว่า ตามที่คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกได้จัดประชุมครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา พิจารณาเรื่องการขึ้นทะเบียนดังกล่าวแล้ว มีมติคัดค้านการขึ้นทะเบียนประสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยให้มีหนังสือคัดค้านและสงวนสิทธิ์ต่อศูนย์มรดกโลกและคณะกรรมการมรดกโลก ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับท่าทีของประเทศไทย เพื่อเป็นข้อมูลยังภาคีสมาชิกอื่นๆ ก่อนจะมีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 33 ณ เมือง Sevilles ประเทศสเปน ในวันที่ 22-30 มิ.ย นี้ แต่ประเทศไทยไม่ได้เป็นสมาชิกในคณะกรรมการมรดกโลก ดังนั้น ในการเข้าร่วมประชุมจึงไม่สามารถลงคะแนนหรือเสนอความคิดเห็นใดๆ ได้หากไม่ได้รับอนุญาตจากที่ประชุม ซึ่งหากประเทศกัมพูชาเสนอเอกสารต่อที่ประชุมครั้งนี้จะมีผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างมาก จึงจำเป็นต้องมีหนังสือแจ้งศูนย์มรดกโลกและคณะกรรมการมรดกโลก ทั้ง 21 ประเทศ เพื่อเป็นการแสดงท่าทีและสงวนสิทธิ์ของประเทศไทย
“ผมเห็นชอบตามมติของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก แต่อยากจะขอยืนยันว่าประเทศไทยไม่ได้มีความขัดแย้งกับประเทศกัมพูชา ในขณะเดียวกัน ผมคิดว่า หากขึ้นทะเบียนร่วมกันจะทำให้เกิดประโยชน์กับทั้ง 2 ประเทศ ในการพัฒนาพื้นที่ปราสาทพระวิหาร สระตราว สถูปคู่ ภาพสลักนูนต่ำ ผามออีแดง และภูมิทัศน์วัฒนธรรม ซึ่งจะทำให้ปัญหาพื้นที่เขตแดน และปัญหาปราสาทพระวิหารคลี่คลายลงได้” รมว.วัฒนธรรม กล่าว
รมว.วัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ในส่วนของคณะกรรมการมรดกโลกชุดใหญ่ที่จะหมดวาระจำนวน 12 ประเทศ ซึ่งจะมีเอเชียรวมอยู่ด้วยนั้น เบื้องต้นกระทรวงวัฒนธรรม ได้เสนอชื่อนักวิชาการ 2 ท่านได้แก่ นายพิสิฐ เจริญวงศ์ และนางสาวิตรี สุวรรณสถิตย์ เพื่อชิงตำแหน่งกรรมการดังกล่าว ซึ่งหากประเทศไทยมีผู้แทนในคณะกรรมการมรดกโลกชุดใหญ่จะทำให้ไทยมีบทบาทผลักดันแหล่งโบราณสถานเป็นมรดกโลก และสามารถติดตามความคืบหน้ากรณีพิพาทปราสาทพระวิหารด้วย
สำหรับประวัติของนายพิสิฐ เจริญวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 23 พ.ย 2484 จบปริญญาตรีศิลปบัณฑิต (ศ.บ.โบราณคดี) ม.ศิลปากร ในปีพ.ศ.2508 เข้าเป็นอาจารย์สอนวิชาโบราณคดีที่มหาวิทยาลัยศิลปากรในปีพ.ศ.2509 ระหว่างรับราชการ สอบชิงทุนได้ไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ 3 ปี จึงกลับมาสอนหนังสือต่อ จากนั้นก็รับราชการที่กรมศิลปากรประมาณ 16 ปี จึงอำลาชีวิตราชการในปีพ.ศ2533 มาตั้ง บริษัทมรดกโลก แต่ประสบภาวะขาดทุน ทั้งนี้ผลงานของบริษัทมรดกโลกได้รับรางวัลบริษัทอนุรักษ์ดีเด่นหลายแห่ง เช่น โบสถ์วัดซางตาครูส วิหารวัดปงยางคก ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่ ฯลฯ
นายพิสิฐ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ SPAFA (Southeast Asian Ministry of Education Organization) และผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ด้านโบราณคดี ได้รับยกย่องให้เป็นนักโบราณคดีดีเด่นของ มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย เป็นนักศึกษาดีเด่นของมหาวิทยาลัยศิลปากร และได้รับปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยศิลปากรในปีพ.ศ. 2544
ปัจจุบันยังสอนพิเศษที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลักสูตรพิเศษภาษาอังกฤษ ในโครงการจัดการวัฒนธรรม Cultural Management Programme และรับผิดชอบวิชามรดกวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธานร่างหลักสูตร Cultural Heritage Management และ Arts Management ให้มหาวิทยาลัยศิลปากร และยังได้รับเชิญให้เป็นกรรมการในสถาบันการศึกษาและหน่วยงานราชการ อีกหลายแห่ง
สำหรับนางสาวิตรี สุวรรณสถิตย์ เกิดเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.2486 เข้าศึกษาระดับปริญญาตรีที่ B.A.(English Literature,University of Cincinnati,Ohio,USA)โดยทุน ก.พ. และได้ทุนจากรัฐบาลฝรั่งเศส ให้ศึกษารภาษาและวัฒนธรรมฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยอาวิยอง สำหรับประวัติการทำงานเริ่มต้นด้วยการเป็นครูโท ที่วิทยาลัยครูสวนสุนันทา จากนั้นก็รับราชการในกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่ปี 2509 มีความโดดเด่นเรื่องการดูแลการศึกษา สิทธิมนุษยชน และความร่วมมือระหว่างองค์กรต่างๆ ในองค์การสหประชาชาติ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยไปประชุมด้านวัฒนธรรมในการประชุมอาเซียนและยูเนสโกหลายครั้งตั้งแต่ปี 2532
กระทั่งปี 2545 ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ฝ่ายต่างประเทศ) และเกษียณอายุราชการในปี 2546 ผันตัวเองมาทำงานเป็นศิลปิน นักเขียน นักแปล ตลอดจนเป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารพิพิธภัณฑ์พระปกเกล้า เป็นที่ปรึกษาสำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และที่ปรึกษากระทรวงวัฒนธรรม