xs
xsm
sm
md
lg

เด็กเตรียมฯทำคะแนนสูงสุดแอดมิชชันติดคณะนิติจุฬาฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน -สกอ.ประกาศผลแอดมิชชัน 52 เผยเด็กเตรียมอุดมศึกษาทำคะแนนสูงสุด ติดนิติศาสตร์ จุฬาฯ ขณะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกวาดเด็กคะแนนสูงสุด 10 อันดับแรกเข้าเรียนหมด ส่วนคณะสังคมศาสตร์ เอกประวัติศาสตร์ มศว มีผู้แห่สมัครสูงสุด ด้านผู้พิการทางสายตา 1 เดียวสอบติด “ราชภัฏสวนดุสิต” เอกภาษาไทย

วานนี้(7 พ.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมช.ศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาธิการ(กกอ.) แถลงผลการคัดเลือกในระบบกลางการรับนิสิต นักศึกษาหรือแอดมิชชัน ประจำปีการศึกษา 2552 โดยนายชัยวุฒิ กล่าวว่า สกอ.ประกาศผลการคัดเลือกแอดมิชชัน ผ่านทางเว็บไซต์ www.cuas.or.th และเครือข่ายพันธมิตร รวม 17 แห่ง พร้อมทั้งหมายเลขสายด่วนที่นักเรียนสามารถโทรศัพท์ไปสอบถามได้อีก 7 เลขหมาย โดยนักเรียนสามารถเข้าไปตรวจสอบผลคะแนนได้ตั้งแต่เวลา 18.00 น. วานนี้(7 พ.ค.) และตนเชื่อว่าเครือข่ายความร่วมมือดังกล่าวจะทำให้การประกาศผลคัดเลือกเป็นไปด้วยความราบรื่น ไม่มีปัญหาเว็บไซต์ล่มเหมือนที่ผ่านมา
สำหรับปีนี้มีผู้สมัครรวมทั้งสิ้น 119,446 คน ยื่นสมัครเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาที่ สกอ.ดำเนินการคัดเลือกรวม 95 สถาบัน เพื่อเข้าศึกษาใน 3,782 รหัสคณะ/สาขาวิชา โดยมีผู้ผ่านการคัดเลือกมีสิทธิ์เข้าสอบสัมภาษณ์และตรวจร่างกาย จำนวน 82,576 คน โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลวัน เวลาในการสอบสัมภาษณ์และตรวจร่างกาย พร้อมทั้งหลักฐานที่นักเรียนจะต้องนำติดตัวไปได้ ผ่านทางเว็บไซต์ของ สกอ.เช่นเดียวกัน

**จุฬาฯ กวาด 10 อันดับแรก
รมช.ศึกษาธิการกล่าวว่า ผู้ผ่านการคัดเลือกที่มีคะแนนรวมสูงสุดในระบบแอดมิชชัน ได้แก่ 1.นายรวินท์ เหราบัตย์ จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้คะแนนคิดเป็นร้อยละ 89.24 สูงสุดในคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2.น.ส.กัญญารัตน์ อาจชน จากโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ได้คะแนนร้อยละ 88.41 สูงสุดในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ 3.นายธัชพล เพชรศิริพันธุ์ จากโรงเรียนเตรียมอุดมฯ ได้คะแนนร้อยละ 87.71 สูงสุดในคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ 4.น.ส.บุญญาดา ปลั่งศิริ โรงเรียนเตรียมอุดมฯ ได้คะแนน 87.54 สูงสุดในคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ 5.น.ส.ศศิลดา ศิริรุ่งเรือง จากโรงเรียนเตรียมอุดมฯ ได้คะแนนร้อยละ 87.07 สูงสุดในคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ
6.น.ส.นันทิชา เรืองชัยนิคม จากโรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี ได้คะแนนร้อยละ 83.07 สูงสุดในคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ 7.นายกรกวิน พิชญโยธิน จากโรงเรียนบดินทรเดชา(สิงห์ สิงหเสนี) ได้คะแนนร้อยละ 82.21 สูงสุดในคณะพาณิชศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ 8.นายธีรวีร์ กุระเดชภพ จากโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ได้คะแนนร้อยละ 82.12 สูงสุดในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ 9.นายศศิพงศ์ ลียวัฒนานุพงศ์ จากโรงเรียนเตรียมอุดมฯ ได้คะแนนร้อย 81.97 สูงสุดในคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ และ10. น.ส.พูลทรัพย์ อารีกิจ จากโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี ได้คะแนนร้อยละ 81.55 สูงสุดในคณะจิตวิทยา จุฬาฯ

**แห่สมัครประวัติศาสตร์ มศว.มากสุด
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีนักเรียนพิการทางสายตาสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปีนี้ได้ 1 คน คือ นายสุวิช อินทรนุกูลกิจ สอบได้คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต ส่วนคณะ/สาขาวิชาที่มีผู้สมัครมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ คณะสังคมศาสตร์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(มศว) จำนวน 4,285 คน คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ มศว จำนวน 3,030 คน และคณะพยาบาลศาสตร์ สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จำนวน 2,598 คน
“นักเรียนที่พลาดหวังจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ยังมีโอกาสที่จะสมัครเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนอื่นๆ ที่ยังเปิดรับเพิ่มเติม อาทิ คณะสังคมศาสตร์ โครงการพิเศษ ม.เกษตรศาสตร์ ,คณะวิทยาศาสตร์ โครงการพิเศษ ม.ธรรมศาสตร์, ม.เชียงใหม่ รับคณะบริหารธุรกิจ,วิศวกรรมศาสตร์,นิติศาสตร์,เศรษฐศาสตร์ และอื่นๆ โดยสามารถดูได้จากเว็บไซด์ของ สกอ. อย่างไรก็ตาม การที่เด็กเลือกคณะหรือสาขาไหนสูงสุด ไม่ถือเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าสาขาวิชาเหล่านั้น มีสัดส่วนการแข่งขันสูงสุด หรือได้รับความนิยมมาก เนื่องจากเด็กจะทราบผลคะแนนของตนเองก่อนเลือกสมัคร ดังนั้น เด็กจะเลือกคณะหรือสาขาวิชาที่ตนทำคะแนนอยู่ในช่วงที่มีโอกาสสอบติดสูง” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว

**ตั้งศูนย์เฉพาะกิจช่วยเด็กขาดทุนทรัพย์
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ สกอ.ได้จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาใหม่ที่ยากจน ปีการศึกษา 2552 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ปกครองนักศึกษาใหม่ ปีการศึกษา 2552 ที่มีปัญหาการประสาน และขาดแคลนด้านการเงินสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียนในสถาบันอุดมศึกษา ภายใต้สังกัดและในกำกับของ สกอ. โดยศูนย์ดังกล่าวจะทำหน้าที่ให้คำปรึกษา แนะนำ แก้ไขปัญหา ประสานงานและบรรเทาความเดือดร้อนด้านการเงินของนักศึกษา ตลอดจนประสานแหล่งทุนและเปิดรับบริจาคจากผู้มีจิตกุศลเพื่อให้การช่วยเหลือ อุปการะนักศึกษาใหม่ชั้นปีที่ 1 ที่ยากจนในปีการศึกษา 2552 โดยศูนย์เฉพาะกิจฯ จะเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค. ไปจนกว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจ โดยเปิดบริการในเวลา 8.30-20.00 น. หรือ โทร.02-610-5416-17 โทรสาร 02-354-5460,02-354-5532 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือใช้บริการผ่าน สกอ. Contact Center โทรศัพท์ 02-576-5555,02-576-5777 หรือ สำนักงานกองุทนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) โทร.02-610-4888 โทรสาร 02-643-1470 ระหว่างเวลา 8.30-16.30 น. www.studentloan.or.th
สำหรับการให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาปีการศึกษา 2552 กยศ.ได้จัดสรรวงเงินสำหรับผู้กู้ยืมรายใหม่ ประจำปีการศึกษา 2552 จำนวน 79,741 ราย และผู้กู้ยืมรายใหม่ปี 2551 ที่ตกค้างเพิ่มเติม จำนวน 11,288 ราย รวมทั้งสิ้น 91,029 ราย ทั้งนี้ นักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกเข้าเรียนชั้นปีที่ 1 ในสถาบันอุดมศึกษาเรียบร้อยแล้ว และประสงค์จะกู้ยืมเงิน กยศ. สามารถยื่นกู้ผ่านระบบ e-studentloan ใน www.studentloan.or.th โดยใช้เลขประจำตัวบัตรประชาชน 13 หลัก ซึ่งผู้กู้ยื่นแบบคำขอและยืนยันการลงทะเบียนผ่านระบบวันสุดท้ายได้ถึง 10 มิ.ย.2552 โดยสถานศึกษาจะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิกู้ยืมวันสุดท้าย 15 มิ.ย.2552 เพื่อให้การดำเนินการกู้ยืมเงินเป็นไปอย่างรวดเร็ว

**นักเรียนพิการ 1 เดียวติดสวนดุสิต
นายสุวิช อินทรนุกูลกิจ นักเรียนพิการทางสายตา ซึ่งสอบได้คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต กล่าวด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นว่า ดีใจมากที่สอบเข้า มรภ.สวนดุสิต ตามที่ตั้งใจไว้ พร้อมกันนี้ต้องขอบคุณผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จครั้งนี้ คือ คุณพ่อคุณแม่ ญาติพี่น้อง อาจารย์ และเพื่อนๆ โดยให้ความช่วยเหลือด้วยการอ่านแล้วอัดเทป เพื่อให้ผมนำมาเปิดฟังซ้ำแล้วซ้ำอีก ส่วนเนื้อหาตรงไหนไม่เข้าใจจะให้อาจารย์ หรือเพื่อนๆ ช่วยอธิบาย อย่างไรก็ตาม ตนต้องใช้ความพยายามในการศึกษาเล่าเรียนมากกว่าเพื่อนๆ จึงวางแผนอ่านหนังสือ ตั้งใจเรียนในห้องเรียน รวมทั้งไปติววันหยุด ตั้งแต่เริ่มเรียนมัธยมปลาย ส่วนเหตุผลที่เลือกที่ มรภ.สวนดุสิต เพราะใกล้บ้าน การเดินทางสะดวก
นายสุวิชกล่าวต่อว่า เลือกสาขาภาษาอังกฤษเป็นอันดับแรก แต่คะแนนไม่ถึง จึงติดอันดับที่3 สาขาภาษาไทย ซึ่งไม่ว่าจะเรียนสาขาไหน ตนก็วางแผนชีวิตไว้ล่วงหน้าว่า เรียนจบจะเป็นนักแปล ล่าม นักเขียน เพราะคิดว่าเหมาะสมกับการใช้ชีวิต ส่วนตัวเป็นคนมีนิสัยร่าเริง ชอบพบปะพูดคุย ยิ่งเป็นชาวต่างชาติยิ่งดีเพราะจะได้ภาษา
“ตอนแรกคิดว่าติดสาขาภาษาอังกฤษ เมื่อติดภาษาไทย ก็ไม่เป็นไร แต่ไม่ทิ้งความฝัน และหลังจากนี้คงต้องไปเรียนพิเศษภาษาอังกฤษ และภาษาจีน เพิ่มเติม หากภาษาดีจะเป็นช่องทางก้าวสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ นั่นคือ นักแปล ล่าม” นายสุวิชกล่าวและว่า การเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น