xs
xsm
sm
md
lg

ชิงกก.มรดกโลกลุ้นขึ้นทะเบียนพระวิหารร่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – กระทรวงวัฒนธรรม เตรียมส่งผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ “พิสิฐ เจริญวงศ์ -สาวิตรี สุวรรณสถิตย์” ชิงเก้าอี้คณะกรรมการมรดกโลกชุดใหญ่ หวังเป็นปากเสียงให้ไทยและผลักดันขึ้นทะเบียนโบราณสถานรอบปราสาทพระวิหาร “มาร์ค” ย้ำ ครม.มีมติทำหนังสือถึงยูเนสโกขอให้ทบทวนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารของกัมพูชา หวั่นไทย-เขมรขัดแย้งหนักขึ้น

วานนี้ (17 มิ.ย.) นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีไทยจะคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก หลังจากคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา ให้คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ยื่นหนังสือคัดค้านและสงวนสิทธิ์ต่อศูนย์มรดกโลกและคณะกรรมการมรดกโลกทั้ง 21 ประเทศว่า จะต้องดำเนินการให้เสร็จ ก่อนจะมีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 33 ณ เมือง Sevilles ประเทศสเปน ในวันที่ 22-30 มิ.ย นี้
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่ได้เป็นสมาชิกในคณะกรรมการมรดกโลก ดังนั้นการเข้าร่วมประชุมจึงไม่สามารถลงคะแนนหรือเสนอความคิดเห็นใดๆ ได้ หากไม่ได้รับอนุญาตจากที่ประชุม หากกัมพูชาเสนอเอกสารต่อที่ประชุมครั้งนี้จะมีผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างมาก จำเป็นที่ไทยต้องแสดงท่าทีด้วยการยื่นหนังสือคัดค้านและขอสงวนสิทธิ์
“ผมเห็นชอบตามมติของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกที่คัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก แต่ขอยืนยันว่าไทยไม่ได้มีความขัดแย้งกับกัมพูชา ถ้าหากขึ้นทะเบียนร่วมกันจะทำให้เกิดประโยชน์กับทั้ง 2 ประเทศ ในการพัฒนาพื้นที่ปราสาทพระวิหาร สระตราว สถูปคู่ ภาพสลักนูนต่ำ ผามออีแดง และภูมิทัศน์วัฒนธรรม ซึ่งจะทำให้ปัญหาพื้นที่เขตแดน และปัญหาปราสาทพระวิหารคลี่คลายลงได้” รมว.วัฒนธรรม กล่าว
  รมว.วัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ในส่วนของคณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโก้ ที่จะหมดวาระจำนวน 12 ประเทศ จาก 21 ประเทศ ซึ่งจะมีเอเชียรวมอยู่ด้วยนั้น เบื้องต้นกระทรวงวัฒนธรรม ได้เสนอชื่อนักวิชาการ 2 ท่าน คือนายพิสิฐ เจริญวงศ์ และนางสาวิตรี สุวรรณสถิตย์ เพื่อชิงตำแหน่งกรรมการดังกล่าว ซึ่งหากประเทศไทยมีผู้แทนในคณะกรรมการมรดกโลกชุดใหญ่จะทำให้ไทยมีบทบาทผลักดันแหล่งโบราณสถานเป็นมรดกโลก และสามารถติดตามความคืบหน้ากรณีพิพาทปราสาทพระวิหารด้วย
สำหรับ นายพิสิฐ เจริญวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 23 พ.ย 2484 จบปริญญาตรีศิลปบัณฑิต (ศ.บ.โบราณคดี) ม.ศิลปากร ในปีพ.ศ.2508 เข้าเป็นอาจารย์สอนวิชาโบราณคดีที่มหาวิทยาลัยศิลปากรในปีพ.ศ.2509 ระหว่างรับราชการ สอบชิงทุนได้ไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ  3 ปี จึงกลับมาสอนหนังสือต่อ จากนั้นก็รับราชการที่กรมศิลปากรประมาณ 16 ปี จึงอำลาชีวิตราชการในปีพ.ศ2533 มาตั้ง บริษัทมรดกโลก แต่ประสบภาวะขาดทุน  ทั้งนี้ผลงานของบริษัทมรดกโลกได้รับรางวัลบริษัทอนุรักษ์ดีเด่นหลายแห่ง เช่น โบสถ์วัดซางตาครูส วิหารวัดปงยางคก ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่ ฯลฯ
  นายพิสิฐ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ SPAFA (Southeast Asian Ministry of Education Organization) และผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ด้านโบราณคดี ได้รับยกย่องให้เป็นนักโบราณคดีดีเด่นของ มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย เป็นนักศึกษาดีเด่นของมหาวิทยาลัยศิลปากร และได้รับปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยศิลปากรในปีพ.ศ. 2544
  ปัจจุบันยังสอนพิเศษที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลักสูตรพิเศษภาษาอังกฤษ ในโครงการจัดการวัฒนธรรม Cultural Management Programme และรับผิดชอบวิชามรดกวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธานร่างหลักสูตร Cultural Heritage Management และ Arts Management ให้มหาวิทยาลัยศิลปากร และยังได้รับเชิญให้เป็นกรรมการในสถาบันการศึกษาและหน่วยงานราชการ อีกหลายแห่ง
  ส่วนนางสาวิตรี สุวรรณสถิตย์ เกิดเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.2486 เข้าศึกษาระดับปริญญาตรีที่ B.A.(English Literature,University of Cincinnati,Ohio,USA)โดยทุน ก.พ. และได้ทุนจากรัฐบาลฝรั่งเศส ให้ศึกษารภาษาและวัฒนธรรมฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยอาวิยอง สำหรับประวัติการทำงานเริ่มต้นด้วยการเป็นครูโท ที่วิทยาลัยครูสวนสุนันทา จากนั้นก็รับราชการในกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่ปี 2509 มีความโดดเด่นเรื่องการดูแลการศึกษา สิทธิมนุษยชน และความร่วมมือระหว่างองค์กรต่างๆ ในองค์การสหประชาชาติ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยไปประชุมด้านวัฒนธรรมในการประชุมอาเซียนและยูเนสโกหลายครั้งตั้งแต่ปี 2532
  กระทั่งปี 2545 ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ฝ่ายต่างประเทศ) และเกษียณอายุราชการในปี 2546 ผันตัวเองมาทำงานเป็นศิลปิน นักเขียน นักแปล ตลอดจนเป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารพิพิธภัณฑ์พระปกเกล้า เป็นที่ปรึกษาสำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และที่ปรึกษากระทรวงวัฒนธรรม
ในวันเดียวกันนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ย้ำถึงการประชุมครม.ที่จะคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกว่า ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก กัมพูชาต้องทำรายงานความคืบหน้าเสนอต่อที่ประชุม เราต้องการให้ยูเนสโกทราบว่าสิ่งที่กำลังดำเนินการไม่ถูกต้อง ไม่สมบูรณ์ ที่สำคัญยูเนสโก เป็นองค์กรส่งเสริมสันติภาพ แต่กรณีขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ทำให้สภาพความขัดแย้งในพื้นที่รุนแรงจนนำมาสู่ความสูญเสียจากเดิมที่มีการโต้แย้งกันแต่ไม่รุนแรง จึงอยากให้ยูเนสโก้ทบทวนว่าสิ่งที่ทำอยู่ขัดกับวัตถุประสงค์ขององค์กรหรือไม่
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวว่า ถ้าขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารและโบราณสถานโดยรอบเป็นมรดกโลกร่วมกันจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
ส่วนการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกร่วม จะเป็นเนื้อหาที่ไปยื่นกับยูเนสโกด้วยหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในชั้นต้น เป็นการคัดค้านกระบวนการที่ดำเนินการมาที่เห็นว่าไม่น่าจะชอบด้วยระเบียบปฏิบัติ และให้เห็นถึงภาพใหญ่ที่ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่มีการจัดทำเป็นมรดกโลกขึ้นมาก่อน
" ผมคุยกับท่านนายกฯฮุนเซน เราไม่ได้หยิบยกประเด็นเรื่องของยูเนสโก เพียงแต่คุยเรื่องเขตแดนให้เป็นไปการดำเนินการตามกลไกที่มีอยู่” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น