xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เตรียมยกระดับสถานีอนามัยเป็น รพ.ทุกอำเภอทั่วประเทศ 2,000 แห่ง เริ่มปีนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สธ. และคณะผู้บริหาร เดินไปตรวจเยี่ยมสถานีอนามัยนาบัว อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี ทักทายผู้ป่วยสูงวัยเดินทางมารับการตรวจรักษาที่สถานีอนามัย ภายหลังจากไปเป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงนโยบายการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายจะพัฒนาสถานีอนามัยให้เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างอย่างสะดวกและลดจำนวนผู้เจ็บป่วย
สธ.ผลักดันนโยบายการส่งเสริมสุขภาพ พร้อมยกระดับสถานีอนามัย 2,000 แห่ง ให้เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ปีนี้ 1,000 แห่งในทุกอำเภอทั่วประเทศ ในปี 2553 เพิ่มอีก 1,000 แห่ง นำระบบรักษาผู้ป่วยทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ตออนไลน์มาใช้ แพทย์โรงพยาบาลอำเภอ สามารถตรวจวินิจฉัยพูดคุยกับคนไข้ได้ ให้การรักษามาตรฐานเดียวกับโรงพยาบาลใหญ่

วันนี้ (8 มิ.ย.) ที่โรงแรมเวียงอินทร์ จ.เชียงราย นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป สาธารณสุขอำเภอ หัวหน้าสถานีอนามัย กว่า 500 คนที่ปฏิบัติงานใน 14 จังหวัดในภาคเหนือ เพื่อชี้แจงนโยบายการพัฒนายกระดับสถานีอนามัยให้เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้สะดวก และลดจำนวนผู้เจ็บป่วยให้น้อยลง หลังจากนั้นเดินทางไปตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมการดำเนินงานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและระบบส่งต่อที่สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติดอยตุง อ.แม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย

นายวิทยากล่าวว่า ขณะนี้โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจขาดเลือด เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นปัญหาสาธารณสุขที่ทำให้คนไทยป่วย พิการ และเสียชีวิตก่อนวัยอันสมควร และส่งผลกระทบไปถึงครอบครัว ชุมชน เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ องค์การอนามัยโลกได้ระบุว่า ในปี 2548 ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคเรื้อรัง 35 ล้านคน หรือประมาณ 2 เท่าของผู้เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อทั้งหมด

นายวิทยากล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายเร่งส่งเสริมสุขภาพ สร้างสุขภาพดีคนไทย เพื่อลดโรค ลดจำนวนการเจ็บป่วยของประชาชน และจะผลักดันให้เป็นรูปธรรมอย่างเร่งด่วน โดยมุ่งที่การควบคุมป้องกันปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ลดการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา จัดการอารมณ์ ส่งเสริมพฤติกรรมกินอาหาร ลดอาหารหวานมัน เค็ม เพิ่มการกินผักผลไม้ ส่งเสริมการออกกำลังกายเพื่อควบคุมโรคอ้วน ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ หมู่บ้านหรือชุมชนสามารถร่วมกันจัดการในท้องถิ่นได้ โดยจะพัฒนาสถานีอนามัยที่มีอยู่ทุกตำบลทั่วประเทศอยู่แล้ว 9,000 แห่ง จากที่มีทั้งหมด 9,810 แห่ง ให้เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ระหว่าง พ.ศ.2552-2555 มีศักยภาพในการดูแลและให้บริการครอบคลุมทั้งด้านการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรค และฟื้นฟูสุขภาพ ตลอดจนสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและความเข้มแข็งให้ชุมชน ในการจัดระบบสุขภาพตนเอง

ในปี 2552-2553 ตั้งเป้าดำเนินการ 2,000 แห่ง โดยกระทรวงสาธารณสุขจัดสรรงบประมาณให้แห่งละ 1 ล้านบาท และจากสป.สช.อีกแห่งละ 2 แสนบาท เพื่อจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น และติดตั้งระบบอินเทอร์เน็ตให้พยาบาลที่ประจำสถานีอนามัยและผู้ป่วย ปรึกษาพูดคุย ซักถามอาการและเห็นหน้าผู้ป่วยให้การรักษาทางอินเตอร์เน็ต กับแพทย์ที่โรงพยาบาลอำเภอโดยตรง รักษามาตรฐานเดียวกับโรงพยาบาลใหญ่ ซึ่งบางโรคผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปรักษาในโรงพยาบาล จะช่วยลดความแออัดที่โรงพยาบาลใหญ่ และประหยัดค่าเดินทางของประชาชนด้วย


ด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผลของการตั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล จะทำให้ประชาชนได้รับบริการที่สูงขึ้น ครอบคลุมบริการขั้นพื้นฐานเช่น ฉีดวัคซีน การฝากครรภ์ครบตามเกณฑ์มาตรฐาน ผู้ที่ป่วยจากโรคเรื้อรังที่ต้องนอนฟื้นฟูที่บ้านจะได้รับการดูแลที่ดีขึ้น ลดการป่วยจากโรคแทรกซ้อน อัตราเสียชีวิตลด
กำลังโหลดความคิดเห็น